นกเขาไม่ขัน (Erectile Dysfunction)

ความหมาย นกเขาไม่ขัน (Erectile Dysfunction)

นกเขาไม่ขัน (Erectile Dysfunction) หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย คือ ภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้ตามปกติ ซึ่งเกิดได้จากทั้งสาเหตุทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น โรคหลอดเลือด ภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย โรคเครียด รวมไปถึงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือการใช้ยาบางชนิด

เมื่อมีอารมณ์ทางเพศหรือถูกสัมผัสโดยตรงที่อวัยวะเพศ เลือดอาจไหลมาหล่อเลี้ยงบริเวณอวัยวะเพศเพิ่มขึ้น และทำให้อวัยวะเพศชายเกิดการแข็งตัว เมื่อการไหลเวียนของเลือดที่มาหล่อเลี้ยงอวัยวะเพศไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดปัญหานกเขาไม่ขันได้ นกเขาไม่ขันสามารถเกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งการรักษาอย่างเหมาะสมอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้

นกเขาไม่ขัน

อาการของนกเขาไม่ขัน

เมื่อมีอาการนกเขาไม่ขัน ผู้ที่มีอวัยวะเพศชายอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งบ่อย ๆ ดังนี้

  • อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้ 
  • อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์  
  • ความต้องการทางเพศลดลง 
  • มีปัญหาในการสำเร็จความใคร่ 

อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการของนกเขาไม่ขันหรือภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 

  • มีความกังวลหรือรู้สึกสงสัยว่าตนเองมีภาวะนกเขาไม่ขันหรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • พบว่าตนเองมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับเพศ เช่น มีปัญหาในการหลั่งน้ำอสุจิเร็วหรือช้าเกินไป
  • เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของภาวะนกเขาไม่ขัน เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน รวมไปถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

สาเหตุของนกเขาไม่ขัน

สาเหตุของนกเขาไม่ขันอาจแบ่งได้เป็นสาเหตุทางด้านร่างกาย และสาเหตุทางด้านจิตใจ ดังนี้

สาเหตุทางด้านร่างกาย

นกเขาไม่ขันส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคอ้วน ภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย หรือโรคพาร์กินสัน นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดได้จากผลข้างเคียงจากการรักษาโรคหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า หรือยาแก้แพ้ 

รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้าหนัก ร่างกายอ่อนล้า หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ ก็อาจส่งผลให้นกเขาไม่ขันได้เช่นเดียวกัน

สาเหตุทางด้านจิตใจ

สมองมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย หรือกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ซึ่งภาวะทางจิตใจบางอย่างที่ไปขัดขวางหรือส่งผลด้านลบต่ออารมณ์ทางเพศ ได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น การมีปัญหาความขัดแย้งหรือปัญหาความสัมพันธ์กับคู่ของตน

การวินิจฉัยนกเขาไม่ขัน

ในเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย เช่น อาการที่สำคัญ ประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว หรือยาที่ใช้อยู่ และแพทย์จะตรวจร่างกาย นอกจากนั้น หากแพทย์พบปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมหรืออาจต้องส่งตัวไปให้แพทย์เฉพาะทาง ซึ่งการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ อัลตราซาวด์ ตรวจสุขภาพจิต หรือตรวจสอบการแข็งตัวของอวัยวะเพศ

โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่เกิดภาวะนกเขาไม่ขันมักเป็นอาการจากโรคบางชนิด จึงจำเป็นต้องมีการวินิจฉัยหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด

การรักษานกเขาไม่ขัน

การรักษานกเขาไม่ขันมักขึ้นอยู่กับสาเหตุ และความรุนแรงของโรค โดยการรักษานกเขาไม่ขันมีหลากหลายวิธีตามความเหมาะสม และความต้องการของคนไข้ ได้แก่

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน

อาการนกเขาไม่ขันดีขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดนกเขาไม่ขัน เช่น

  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาน้ำหนักตัวเกิน ควรหาวิธีเพื่อลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและควบคุมอาหาร เพราะน้ำหนักตัวเกินอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นกเขาไม่ขันหรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศในระยะยาวได้
  • เลิกสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้สุขภาพแย่ลง  และอาจนำมาสู่การหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ในที่สุด
  • หลีกเลี่ยงหรือพยายามลดความเครียด เพราะความเครียด ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ดังนั้น ควรหาวิธีการลดความเครียด หรือเข้ารับขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์
  • ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคที่อาจก่อให้เกิดภาวะนกเขาไม่ขัน เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressants) หรือยาแก้แพ้ (Antihistamines) เมื่อผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวพบว่าตนเองมีภาวะนกเขาไม่ขันอยู่ สามารถปรึกษากับแพทย์ที่ให้การรักษาโรคนั้น ๆ

รักษาด้วยยารับประทาน

การรักษาและบำบัดอาการนกเขาไม่ขัน มักใช้ยากลุ่มพีดีอี 5 อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase-5 Inhibitors: PDE-5) เช่น ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ยาทาดาลาฟิล (Tadalafil) ยาวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) เป็นยาที่ใช้ในการบำบัดผู้ที่มีภาวะนกเขาไม่ขันหรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยาจะออกฤทธิ์ชั่วคราวในการช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตของอวัยวะเพศชาย 

โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้ยากลุ่มพีดีอี 5 อินฮิบิเตอร์ อาจมีดังนี้

  • ปวดศีรษะ
  • ผิวหนังแดง
  • อาหารไม่ย่อย
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • คัดจมูกหรือมีน้ำมูกไหล
  • ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ
  • ทัศนวิสัยในการมองเห็นเปลี่ยนไป โดยอาจมองเห็นสิ่งรอบตัวเป็นสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน

อย่างไรก็ตาม ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบว่ากำลังรับประทานยาชนิดใดอยู่ ก่อนการใช้ยากลุ่มพีดีอี 5 อินฮิบิเตอร์ เพราะยาชนิดนี้ไม่ควรใช้ร่วมกับยาบางขนิด เช่น ยากลุ่มไนเตรท (Nitrate) ซึ่งอาจส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงต่ำเกินไป และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

นอกจากนี้ ควรระมัดระวังการในการใช้ยา หากมีความเสี่ยงของภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapism) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดเมื่ออวัยวะเพศแข็งตัว หรือผู้ที่ใช้ยาอัลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers) ซึ่งเป็นยาที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว และใช้รักษาโรคและอาการอื่น ๆ เช่น โรคต่อมลูกหมากโต ความดันโลหิตสูง 

ฮอร์โมนบำบัด

ผู้ที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่มีสาเหตุเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น มีระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำเกินไป แพทย์อาจรักษาด้วยการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนในร่างกายให้กลับสู่ระดับปกติ

อุปกรณ์สุญญากาศหรือกระบอกสุญญากาศ

อุปกรณ์สุญญากาศหรือกระบอกสุญญากาศเป็นอุปกรณ์ที่แพทย์อาจแนะนำให้กับผู้ป่วยที่ใช้ยารับประทานไม่ได้ผล โดยอุปกรณ์มีลักษณะเป็นกระบอกกลวง และสามารถสวมครอบเข้าไปที่อวัยวะเพศและปั๊มเอาอากาศออกมา ซึ่งอาจช่วยให้เลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงอวัยวะเพศ และทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวนานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้

การผ่าตัดใส่แกนอวัยวะเพศเทียม

การผ่าตัดใส่แกนอวัยวะเพศ จะเป็นวิธีสุดท้ายเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะไม่แนะนำวิธีนี้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงเหมือนกับการผ่าตัดทั่วไป เช่น การติดเชื้อ และอาจทำให้การผ่าตัดล้มเหลวได้ 

การรักษาทางจิตใจ

สำหรับผู้ที่มีภาวะนกเขาไม่ขันที่มีสาเหตุจากภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล สามารถพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อช่วยให้สามารถพิจารณาหาสาเหตุที่แท้จริงและหาทางแก้ปัญหาต่อไปได้

ทั้งนี้ อาจรักษาภาวะนกเขาไม่ขันที่มีสาเหตุมาจากจิตใจด้วยการบำบัดอื่น ๆ เช่น วิธีการฝึกแบบ Sensate Focus ซึ่งเป็นวิธีบำบัดทางเพศที่จะให้คู่รักเข้ามารับการบำบัดพร้อมกัน โดยการบำบัดนกเขาไม่ขันด้วยวิธี Sensate Focus อาจทำได้ดังนี้

  • ในระยะแรก อาจเริ่มจากการไม่ให้คู่รักมีเพศสัมพันธ์ และไม่ให้สัมผัสกับอวัยวะเพศหรือเต้านมฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอาจช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการสัมผัสอวัยวะเพศของผู้ที่มีปัญหานกเขาไม่ขันได้
  • ในระยะต่อไป อาจเริ่มให้จับอวัยวะเพศและเต้านม เพื่อให้เรียนรู้ว่าจะต้องกระตุ้นอารมณ์ทางเพศจากการสัมผัสอวัยวะเพศหรือเต้านมอย่างไร เมื่อผ่านการฝึกปฏิบัติให้มีการตื่นตัวทางเพศเป็นอย่างดีแล้ว จึงจะให้มีเพศสัมพันธ์กัน

นอกจากนั้น ยังมีการบำบัดรักษาทางจิตอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าใจตนเองได้ยิ่งขึ้น เช่น การบำบัดด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy) เป็นการให้คู่รักเข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ อารมณ์ หรือความรู้สึกต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะนกเขาไม่ขัน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผู้เข้ารับบำบัดเกิดความเข้าใจในปัญหา และสามารถหาทางแก้ไขได้ในที่สุด 

การรักษาด้วยสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

การรักษาด้วยสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่อาจนำมาใช้รักษาภาวะนกเขาไม่ขัน โดยผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ เช่น โสม แปะก๊วย และสังกะสี อาจช่วยให้ภาวะนกเขาไม่ขันดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาสรรพคุณและระมัดระวังผลข้างเคียงในการใช้สมุนไพรเหล่านี้ อีกทั้งยังควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานอาหารเสริมหรือสมุนไพรใด ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ

ภาวะแทรกซ้อนของนกเขาไม่ขัน

โดยปกติแล้วภาวะนกเขาไม่ขันมักไม่รุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่อาจส่งผลทางด้านจิตใจและความสัมพันธ์ เช่น

  • อาจทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวล หากอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง 
  • หากได้รับประสบการณ์ทางเพศที่ไม่ดี อาจนำมาสู่ความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียความมั่นใจหรือเกิดความไม่สบายใจ
  • อาจทำให้มีปัญหาความขัดแย้งหรือปัญหาความสัมพันธ์กับคู่รัก ทั้งเรื่องความสุขสมในการมีเพศสัมพันธ์หรือปัญหาเนื่องจากการไม่สามารถมีบุตรได้

 

การป้องกันนกเขาไม่ขัน

 

การป้องกันนกเขาไม่ขันสามารถเริ่มต้นด้วยตนเองง่าย ๆ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชายได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ และพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดสม่ำเสมอ

 

เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น เช่น เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเครียด นอกจากนี้ ผู้มีภาวะทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีปัญหาทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ควรติดต่อเข้ารับการบำบัดรักษาทางจิต เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที