กระชาย ต้านโรค สมานแผล และเพิ่มสมรรถภาพเพศชายได้จริงหรือ ?

กระชายเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยนิยมนำส่วนเหง้ามารับประทาน หรือทำเป็นยารักษาโรคด้วยความเชื่อที่ว่ากระชายอาจมีสรรพคุณบำรุงสุขภาพ ต้านโรคต่าง ๆ สมานแผล กระทั่งเพิ่มสมรรถภาพเพศชายได้ด้วย เนื่องจากกระชายมีส่วนประกอบของสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น ฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ น้ำมันหอมระเหย และสารประกอบฟีนอลต่าง ๆ ซึ่งอาจมีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระและชะลอความเสื่อมของร่างกาย แม้กระชายถูกนำมาบริโภคและใช้เป็นยารักษาโรคตามความเชื่อแต่โบราณ แต่สรรพคุณต่าง ๆ ของกระชายเป็นจริงมากน้อยเพียงใด มีหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนพิสูจน์แง่มุมทางสุขภาพด้านต่าง ๆ ไว้ ดังนี้กระชาย

เพิ่มสมรรถภาพเพศชาย

ปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในเพศชายเกิดขึ้นเมื่ออวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้ หรือแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ และอาจเกิดร่วมกับภาวะบกพร่องทางเพศอื่น ๆ เช่น มีความต้องการทางเพศลดลง มีปัญหาในการสำเร็จความใคร่ และมีความผิดปกติในการหลั่งน้ำอสุจิ ซึ่งเชื่อว่าสารสกัดที่ได้จากส่วนใบ ลำต้น และเหง้าของกระชายมีประสิทธิภาพในการเพิ่มสมรรถภาพเพศชายได้ โดยมีงานวิจัยของไทยที่ให้หนูทดลองตัวผู้บริโภคน้ำที่คั้นจากเหง้ากระชายเป็นเวลา 30 วัน แล้วทดสอบคุณภาพของน้ำอสุจิ ผลการทดลองพบว่ากระชายช่วยเพิ่มจำนวนและการเคลื่อนไหวของอสุจิ จึงคาดว่าการบริโภคกระชายอาจช่วยเพิ่มคุณภาพของอสุจิและอาจแก้ปัญหาเสื่อมสมรรถภาพในเพศชายได้

ส่วนอีกงานวิจัยอีกหนึ่งที่ทดลองให้สารสกัดเอทานอลที่ได้จากเหง้ากระชายแก่หนูทดลองตัวผู้ พบว่ากระชายอาจช่วยเพิ่มน้ำหนักของลูกอัณฑะและต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ รวมทั้งเพิ่มความกว้างเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อสร้างอสุจิ แต่ไม่ช่วยเพิ่มปริมาณอสุจิหรือระดับฮอร์โมนเพศชายแต่อย่างใด

แม้มีผลลัพธ์จากการทดลองในสัตว์ แต่ขณะนี้ยังไม่อาจนำผลดังกล่าวไปยืนยันประสิทธิภาพของกระชายต่อการแก้ปัญหาภาวะเสื่อมสมรรถภาพเพศชายในมนุษย์ได้ จึงควรค้นคว้าเพิ่มเติมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยในมนุษย์ต่อไป จนกว่าจะพบประสิทธิผลที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในอนาคต

สมานแผล

ร่างกายมีกระบวนการฟื้นฟูตนเองและสมานแผลให้หายดีหลังมีแผลบาดเจ็บ โดยเส้นใยคอลลาเจนมีส่วนสำคัญในการสมานแผลและกระตุ้นเซลล์ผิวใหม่ให้ขึ้นมาทดแทนบริเวณเดิมที่เป็นแผล ในปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่พบว่า การทดลองใช้กระชายทาบริเวณที่เป็นแผลช่วยเพิ่มการหดตัวของบาดแผลซึ่งช่วยให้แผลสมานตัวได้เร็วขึ้น ในขณะที่งานวิจัยบางส่วนที่ค้นคว้าตัวอย่างเซลล์ในห้องทดลองพบว่า กระชายมีเส้นใยคอลลาเจนที่อาจช่วยกระตุ้นเซลล์ผิวชั้นหนังกำพร้าและรูขุมขนในผิวชั้นหนังแท้ ซึ่งเป็นผลดีต่อการสมานแผลให้หายเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้มีหลักฐานบางส่วนสนับสนุนว่ากระชายอาจมีคุณสมบัติในการสมานแผลได้ แต่ควรมีการค้นคว้าทดลองที่ชัดเจนในกลุ่มตัวอย่างที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไป

ต้านการอักเสบ

แม้การอักเสบเป็นกระบวนการที่ภูมิคุ้มกันร่างกายสร้างสารเพื่อตอบสนองต่อเชื้อโรคสิ่งแปลกปลอมและป้องกันการติดเชื้อ แต่บางครั้งการอักเสบอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น มีไข้ หนาวสั่น รู้สึกปวดหรือบวมแดงบริเวณที่อักเสบ เป็นต้น กระชายเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เชื่อกันว่าอาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ โดยมีงานค้นคว้าหนึ่งพบว่า สารชาลโคน (Chalcone) จากกระชายอาจมีประสิทธิภาพรักษาการอักเสบโดยทำให้หนูทดลองมีอาการหูบวมลดลง ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าสารประกอบคาร์ดาโมนิน (Cardamonin) ในกระชายอาจมีฤทธิ์ต้านอาการข้ออักเสบหลังทดลองในหนูทดลองที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว แม้กระชายอาจมีประสิทธิผลต้านการอักเสบได้ แต่ควรมีการค้นคว้าเกี่ยวกับการรักษาหรือป้องกันการอักเสบให้ชัดเจนต่อไป ก่อนนำกระชายมาใช้รักษาอาการอักเสบในมนุษย์

รักษาโรคตับแข็ง

ตับแข็งเกิดจากเนื้อเยื่อตับถูกทำลายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจากหลายสาเหตุ จนเกิดแผลเป็นและพังผืดขึ้น ทำให้ตับทำงานไม่ปกติ โดยโรคตับแข็งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เรักษาแบบประคับประคองเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงได้ จึงมีงานค้นคว้ามากมายที่พยายามหาแนวทางการรักษาโรคตับแข็ง รวมถึงการทดลองใช้สมุนไพรอย่างกระชายด้วย

มีงานวิจัยหนึ่งให้หนูทดลองที่เป็นโรคตับแข็งรับสารสกัดจากกระชายเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าเซลล์ตับบางส่วนมีการฟื้นตัวและเกิดความเสียหายในตับน้อยลง และยังพบว่าการใช้กระชายปลอดภัยกับหนูทดลองด้วย

การศึกษาทดลองใช้กระชายรักษามะเร็งตับอาจเกิดประสิทธิผลที่ดีและไม่เป็นอันตรายต่อหนูทดลอง แต่ควรศึกษาความปลอดภัยให้ถี่ถ้วนก่อนนำไปทดลองในมนุษย์ต่อไป โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับแข็ง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนและนำไปใช้ได้จริงในทางการแพทย์

ความปลอดภัยในการบริโภคกระชาย

แม้ยังไม่พบรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากกระชาย และการบริโภคกระชายตามปริมาณที่เหมาะสมในรูปแบบอาหารค่อนข้างปลอดภัย แต่ยังคงต้องศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้สมุนไพรต่าง ๆ รวมถึงกระชายให้มากกว่านี้ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการบริโภคกระชายหรือใช้สารสกัดจากกระชายเพื่อหวังผลทางการรักษา จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอถึงปริมาณและวิธีการบริโภคกระชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก สตรีมีครรภ์ มารดาให้นมบุตร หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ และหากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากกระชาย ควรศึกษาข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ให้ดี ปฏิบัติตามคำแนะนำ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ