ท้องนอกมดลูก ภาวะผิดปกติของการตั้งครรภ์ที่คุณแม่ควรระวัง

ท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) คือภาวะผิดปกติที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่นอกโพรงมดลูก ส่วนมากพบบริเวณท่อนำไข่ อาการท้องนอกมดลูกอาจคล้ายกับการตั้งครรภ์ทั่วไป ทำให้คุณแม่ไม่ทราบว่าตัวเองท้องนอกมดลูก แต่เมื่อทารกเติบโตขึ้นอาจทำให้ท่อนำไข่ฉีกขาดและมีเลือดออกมากในช่องท้อง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

สาเหตุของการท้องนอกมดลูกยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การติดเชื้อบริเวณท่อนำไข่ การผ่าตัดบริเวณช่องท้อง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คุณแม่ควรสังเกตอาการผิดปกติเพื่อตรวจและรับการรักษาให้ทันการณ์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย และมีโอกาสตั้งครรภ์ครั้งต่อไปได้อย่างสมบูรณ์

ท้องนอกมดลูก ภาวะผิดปกติของการตั้งครรภ์ที่คุณแม่ควรระวัง

สังเกตอาการท้องนอกมดลูก

อาการท้องนอกมดลูกมักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 4–12 ของการตั้งครรภ์ ในระยะแรกอาจมีอาการคล้ายการตั้งครรภ์ทั่วไป ได้แก่ 

  • ประจำเดือนขาด 
  • คัดตึงเต้านม 
  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้ 

นอกจากนั้นก็อาจมีอาการอื่นที่บ่งบอกการท้องนอกมดลูก เช่น 

  • ปวดท้องและอุ้งเชิงกรานด้านใดด้านหนึ่ง 
  • ปวดไหล่ 
  • ปวดหลังส่วนล่าง
  • มีมีมูกสีน้ำตาลและเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย 
  • รู้สึกไม่สบายตัวขณะขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ

หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อวินิจฉัยอาการต่อไป ทั้งนี้ เมื่อทารกเติบโตขึ้น อาจทำให้แม่ตั้งครรภ์เกิดอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของท่อนำไข่ฉีกขาดที่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น

  • อาการปวดท้องด้านใดด้านหนึ่งอย่างเฉียบพลันและรุนแรง 
  • ปวดแปลบบริเวณคอ ไหล่ หน้าท้อง และอุ้งเชิงกราน 
  • อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หน้ามืด ตัวซีด
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณมาก และปวดบริเวณทวารหนัก
  • ภาวะช็อกจากการเสียเลือดมาก

สาเหตุของการท้องนอกมดลูก

โดยปกติแล้ว ไข่กับอสุจิจะปฏิสนธิกันแล้วไปฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูก ซึ่งจะทำให้ตัวอ่อนสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ แต่การท้องนอกมดลูกนั้นเป็นความผิดปกติเนื่องจากตัวอ่อนจะฝังตัวอยู่บริเวณท่อนำไข่ (ปีกมดลูก) หรือบริเวณอื่น เช่น ปากมดลูก รังไข่ ซึ่งพบได้น้อย ทั้งนี้ การท้องนอกมดลูกอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ท้องนอกมดลูกอาจได้แก่ คุณแม่ตั้งครรภ์เมื่อมีอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป สูบบุหรี่ มีฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ไม่สมดุล และมีประวัติไส้ติ่งแตกจนทำให้ท่อนำไข่เกิดความเสียหาย

การรักษาคุณแม่ท้องนอกมดลูก

การท้องนอกมดลูกอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ และเนื่องจากตัวอ่อนที่ฝังตัวอยู่นอกมดลูกจะไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นทารกได้อีก จึงต้องนำตัวอ่อนออกไปโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ตัวอ่อนเติบโตขึ้นจนเป็นอันตรายต่อคุณแม่หรือทำให้เกิดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ซึ่งอาจรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

การใช้ยา

แพทย์อาจฉีดยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ซึ่งเป็นยาที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ตัวอ่อนที่ฝังตัวอยู่นอกโพรงมดลูก เพื่อยุติการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ตั้งครรภ์ในกรณีที่คุณแม่ไม่มีภาวะท่อนำไข่ฉีกขาด ซึ่งหลังจากฉีดยานี้แล้ว คุณแม่จะต้องเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ HCG ตามการนัดหมายจนกว่าจะตรวจไม่พบฮอร์โมนนี้อีก

โดยทั่วไป คุณแม่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพิ่มเติมหลังฉีดยานี้ แต่ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคล้ายอาการแท้งลูก เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน มีเลือดหรือเนื้อเยื่อไหลออกทางช่องคลอด และคุณแม่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เป็นเวลา 2–3 เดือนหลังจากใช้ยานี้

การผ่าตัด

หากคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดหรือเกิดภาวะท่อนำไข่แตก แพทย์จะให้เข้ารับการผ่าตัดเป็นกรณีฉุกเฉินทันที เพื่อห้ามเลือดและรักษาความเสียหายที่อวัยวะภายใน โดยนิยมใช้การผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopy) 

แพทย์จะกรีดผิวหนังบริเวณหน้าท้องส่วนล่าง และใช้กล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายท่อยาวสอดเข้าไป และนำตัวอ่อนออกมา หากท่อนำไข่เสียหายอาจจำเป็นต้องตัดท่อนำไข่ทิ้งด้วย

ทั้งนี้ ช่วงแรกหลังผ่าตัดคุณแม่ควรดูแลตัวเองเพื่อให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงการออกแรงมากหรือยกของหนัก งดใช้ผ้าอนามัยแบบสอดและงดมีเพศสัมพันธ์ ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันการท้องผูก ทำความสะอาดแผลและสังเกตอาการติดเชื้อ เช่น เลือดไหลไม่หยุดหรือไหลมากผิดปกติ แผลผ่าตัดบวมแดง มีกลิ่นเหม็น หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์

ท้องนอกมดลูกเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่การดูแลสุขภาพครรภ์ เช่น งดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักตัว และป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจช่วยลดความเสี่ยงของการท้องนอกมดลูกได้ นอกจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงและวางแผนการตั้งครรภ์ต่อไป