อาการท้องนอกมดลูก ถามตอบ 5 ข้อที่คุณแม่ควรระวัง

อาการท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) คืออาการผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนที่ได้รับการปฏิสนธิไปฝังตัวอยู่นอกโพรงมดลูก โดยมักพบที่ท่อนำไข่ ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการปวดท้อง มีเลือดออกจากช่องคลอด และหน้ามืด หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ทารกอาจเติบโตขึ้นจนทำให้ท่อนำไข่ของคุณแม่แตก มีเลือดออกมากภายในช่องท้อง และเสียชีวิตได้

อาการท้องนอกมดลูกอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น อายุ ประวัติสุขภาพ และโรคบางอย่าง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรสังเกตอาการผิดปกติ หากมีอาการท้องนอกมดลูกควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ และการผ่าตัด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย

อาการท้องนอกมดลูก

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับอาการท้องนอกมดลูก

ข้อสงสัยที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการท้องนอกมดลูก มีดังนี้

1. อาการท้องนอกมดลูกเกิดจากอะไร

อาการท้องนอกมดลูกยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีปัจจัยสุขภาพต่าง ๆ เช่น

2. อาการท้องนอกมดลูกจะเริ่มตอนไหน

อาการท้องนอกมดลูกมักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 4–12 ของการตั้งครรภ์ โดยในช่วงแรกอาจสังเกตอาการได้ยาก เนื่องจากคุณแม่บางคนอาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ และมักมีอาการคล้ายอาการที่พบในการตั้งครรภ์ทั่วไป จึงอาจไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการท้องนอกมดลูก

3. จะทราบได้อย่างไรว่ามีอาการท้องนอกมดลูก

ในระยะแรก อาการที่พบอาจมีเพียงอาการทั่วไปที่พบในการตั้งครรภ์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ประจำเดือนขาดและคัดเต้านม จากนั้นอาการท้องนอกมดลูกอาจค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นเมื่อตัวอ่อนในครรภ์เติบโตขึ้น โดยอาจพบอาการต่าง ๆ ดังนี้

หากอาการตั้งครรภ์นอกมดลูกดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ท่อนำไข่ฉีกขาด ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ทำให้มีเลือดออกมากในช่องท้อง เกิดอาการปวดท้องรุนแรงอย่างเฉียบพลัน ปวดหลังส่วนล่าง และปวดไหล่ เนื่องจากการเสียเลือดมาก จึงไปกดเบียดกะบังลม เวียนศีรษะ เป็นลม ช็อก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา

ดังนั้น หากมีอาการที่เข้าข่ายอาการท้องนอกมดลูกควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย แพทย์อาจตรวจด้วยการตรวจภายใน การตรวจเลือด และการอัลตราซาวด์เพิ่มเติม และทำการรักษาต่อไป

4. อาการท้องนอกมดลูกรักษาอย่างไร

การรักษาอาการท้องนอกมดลูกจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้วิธีการรักษา 2 แบบ คือ

การใช้ยา

การฉีดยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) เป็นวิธีการรักษาในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์ยังไม่มีอาการฉีกขาดของท่อนำไข่ ตัวยาจะหยุดการเจริญเติบโตของตัวอ่อนที่ฝังตัวผิดที่ ทำให้ตัวอ่อนฝ่อลง และยุติการตั้งครรภ์ไปโดยปริยาย ซึ่งโดยทั่วไปจะฉีดยาเพียงเข็มเดียว 

ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง มีเลือดออกจากช่องคลอด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และเวียนศีรษะ หลังจากการฉีดยา แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการของผู้ตั้งครรภ์ เพื่อวัดระดับฮอร์โมนเอชซีจี (HcG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่บ่งบอกว่ายังมีการตั้งครรภ์อยู่หรือไม่

การผ่าตัด

การรักษาอาการท้องนอกมดลูกในผู้ที่มีภาวะท่อขำไข่ฉีกขาดจะใช้การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy) เพื่อนำตัวอ่อนที่ฝังตัวนอกมดลูกออกมา และซ่อมแซมความเสียหายของท่อนำไข่ โดยเจาะรูเล็กเล็ก ๆ ที่ผิวหนังหน้าท้อง และสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปช่วยในการผ่าตัด ทำให้ได้แผลเล็ก และใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน หากเนื้อเยื่อท่อนำไข่เกิดความเสียหายมาก แพทย์อาจผ่าตัดนำท่อนำไข่ออกด้วย

หลังการผ่าตัด อาจมีอาการอ่อนเพลียและปวดแผล ควรพักผ่อนมาก ๆ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ดื่มน้ำให้เพียงพอ และสังเกตอาการผิดปกติหรือสัญญาณของการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น เช่น เลือดออกมาหรือเลือดไหลไม่หยุด แผลผ่าตัดบวมแดง จับแล้วรู้สึกอุ่น มีกลิ่นเหม็น และมีหนองไหล หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

5. อาการท้องนอกมดลูกป้องกันได้ไหม

อาการท้องนอกมดลูกไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดอาการได้ ดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และตรวจเลือดเป็นประจำ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบได้
  • หากมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบหรือติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์และรับการรักษาอย่างเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะขณะตั้งครรภ์

หากเคยมีอาการท้องนอกมดลูก จะเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูกในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไปมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ในการวางแผนตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวเองและทารกในครรภ์ แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับระยะเวลาที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างปลอดภัยหลังการรักษาอาการท้องนอกมดลูกต่อไป