ตาพร่ามัว สาเหตุและวิธีการรักษาที่ควรรู้

ตาพร่ามัว (Blurred Vision) คือภาวะที่การมองเห็นไม่ชัดเจนอย่างที่ควรจะเป็น บางครั้งอาจต้องหรี่ตาเพื่อให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น ตาพร่ามัวอาจเกิดขึ้นกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้ อาการตาพร่ามัวอาจเกิดขึ้นเพียงบางส่วนของดวงตา หรืออาจทำให้การมองเห็นพร่ามัวทั้งหมด ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันตามสาเหตุ

ตาพร่ามัวป็นปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นที่พบได้บ่อย โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของดวงตา เช่น ค่าสายตาผิดปกติ ตาแดง ตาเป็นต้อ และจอประสาทตาเสื่อม หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว ซึ่งอาจทำให้ตาพร่ามัวลงอย่างช้า ๆ แต่กรณีที่ตาพร่ามัวอย่างเฉียบพลันอาจเป็นสัญญาณบอกโรครุนแรงที่ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์

ตาพร่ามัว

สาเหตุของอาการตาพร่ามัว

ตาพร่ามัวแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลัก คือตาพร่ามัวจากปัญหาเกี่ยวกับดวงตา และตาพร่ามัวจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ดังนี้

1. ความผิดปกติของดวงตา

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับดวงตาที่ทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว เช่น

ค่าสายตาผิดปกติ (Refractive Errors)
ค่าสายตาที่ผิดปกติเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการตาพร่ามัว เกิดจากความโค้งของกระจกตามากหรือน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับความยาวของลูกตา ทำให้แสงจากวัตถุไม่โฟกัสพอดีที่จอประสาทตา 

ค่าสายตาผิดปกติแบ่งเป็น 4 ประเภท คือสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง และสายตายาวตามอายุ ซึ่งจะพบในคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป

ตาล้า (Eye Strain)
ตาล้าเป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้สายตามากเกินไป พบมากในคนวัยเรียนและวัยทำงานที่อ่านหนังสือหรือเพ่งมองจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดตา ตาพร่ามัว ตาแห้ง น้ำตาไหล และปวดหัว

ตาแห้ง (Dry Eye)
โดยปกติแล้ว ร่างกายจะผลิตน้ำตาออกมาเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา หากผลิตน้ำตาออกมาน้อยผิดปกติจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อายุที่มากขึ้น การอยู่ในสถานที่ที่ลมแรง หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง อาจทำให้เกิดตาแห้ง ได้ ซึ่งจะมีอาการตาพร่ามัว เคืองตา แสบตา และตาแดง 

ตาแดง (Pink Eye)
ตาแดงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว แสบตา ตาบวม น้ำตาไหล ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ฝุ่นเข้าตา อยู่ในที่ที่มีแสงแดดจัดหรือลมแรง โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

จอประสาทตาเสื่อม (Age-Related Macular Degeneration)
ภาวะจอประสาทตาเสื่อม พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากจุดรับภาพซึ่งอยู่ตรงกลางจอประสาทตาเสื่อมลงตามวัย จึงทำให้ตาพร่ามัว การมองเห็นไม่ชัดเจน เห็นจุดดำกลางภาพ เห็นภาพบิดเบี้ยว มองไม่เห็นในที่มืด และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ 

จอประสาทตาลอก (Retinal Detachment)
จอประสาทตาเป็นชั้นเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่อยู่ด้านหลังดวงตา หากจอประสาทตาลอกจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อายุที่มากขึ้น อุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา ภาวะเบาหวานขึ้นตา และเนื้องอกที่ตา อาจทำให้ตาพร่ามัว เห็นภาพบางส่วนเป็นเงาดำ เห็นเส้นคล้ายหยากไย่ลอยไปลอยมาในตา หรือเห็นแสงวูบวาบ จัดเป็นภาวะที่มีความรุนแรง และควรได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็ว

ตาเป็นต้อ
ต้อคือความผิดปกติของดวงตา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการตาพร่ามัวได้ เช่น ต้อหิน (Glaucoma) คือเส้นประสาทตา และต้อกระจก (Cataracts) ซึ่งมักเกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตาตามวัย ตาเป็นต้ออาจทำให้เกิดอาการตามัว เห็นภาพซ้อน ปวดตา และเห็นแสงเป็นวงแหวนรอบแสงไฟ และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้

2. ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

นอกจากความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจทำให้ตาพร่ามัว เช่น

  • เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้ตาพร่ามัว มองเห็นจุดดำหรือเส้นคล้ายหยากไย่ลอยไปมา และอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้
  • ไมเกรน ซึ่งทำให้มีอาการตาพร่ามัว ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดพร้อมกับการปวดหัว และโรคไมเกรนที่ตา (Ocular Migraine) ซึ่งทำให้การมองเห็นผิดปกติ หรือการสูญเสียการมองเห็นชั่วคราว
  • ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) เกิดจากความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ทำให้ตาพร่ามัว ตาไวต่อแสง การมองเห็นลดลง
  • การบาดเจ็บที่ศีรษะ เกิดจากการได้รับแรงกระแทกอย่างแรงที่ศีรษะ เช่น รถชน ถูกตีที่ศีรษะ ทำให้ปวดหัว ปวดคอ ตาพร่ามัว
  • โรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากการที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมอง หรือมีเบือดออกในสมอง ทำให้ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน ตาไวต่อแสง ร่างกายอ่อนแรง ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่ควรรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
  • ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) มีลักษณะคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมอง แต่อาการมักเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ แล้วหายไป อาจเป็นสัญญาณเตือนก่อนเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก

วิธีรักษาอาการตาพร่ามัว

ตาพร่ามัวมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการและความรุนแรงของอาการ ดังนี้

การดูแลตัวเอง

ในเบื้องต้น ผู้มีอาการตาพร่าควรดูแลดวงตาด้วยการพักสายตาระหว่างวัน เพื่อป้องกันอาการตาล้า หากมีอาการตาแห้ง อาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพิ่มความชุ่มชื้น 

เมื่ออยู่ในที่กลางแจ้งควรสวมแว่นกันแดด ซึ่งจะช่วยป้องกันดวงตาจากรังสียูวี และป้องกันฝุ่นละอองที่อาจเข้าตา ควรสวมแว่นป้องกันดวงตาเมื่อใช้อุปกรณ์ช่างในการทำงานหรือทำสวน

หากรู้สึกตาพร่ามัว มองไม่ชัด ควรเข้ารับการวัดค่าสายตา (Visual Acuity Test) ที่โรงพยาบาล คลินิก หรือร้านแว่นตา หากค่าสายตาผิดปกติอาจต้องสวมแว่นสายตาหรือใส่คอนแทคเลนส์ นอกจากนี้ ควรรับประทานผักผลไม้ เนื้อปลา และธัญพืชต่าง ๆ ที่มีวิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยบำรุงสายตา และดื่มน้ำให้เพียงพอ

การรักษาโดยแพทย์

การรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกัน โดยหลังจากแพทย์วินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้ตาพร่ามัว แพทย์อาจให้ใช้ยาหยอดตา หรือยารับประทานเพื่อรักษาโรคตาหรือโรคอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยเป็น รวมทั้งอาจใช้วิธีรักษาอื่น ๆ เช่น การเลเซอร์ การผ่าตัดดวงตาในกรณีที่อาการรุนแรง เช่น เบาหวานขึ้นตา และจอประสาทตาลอก รวมทั้งการรักษาในกรณีฉุกเฉิน เช่น ประสบอุบัติเหตุ ครรภ์เป็นพิษ หรือโรคหลอดเลือดสมอง

หากอาการตาพร่ามัวเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการอย่างเฉียบพลันหลังได้รับแรงกระแทกที่ศีรษะ หรือขณะตั้งครรภ์ การมองเห็นเปลี่ยนไป เช่น เห็นแสงไฟเป็นวง เห็นภาพซ้อน และมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ปวดหัวรุนแรง การมองเห็นผิดไปจากปกติ เสียการทรงตัว พูดไม่รู้เรื่อง กล้ามเนื้อหน้าอ่อนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที