Presbyopia

ความหมาย Presbyopia

Presbyopia หรือภาวะสายตายาวตามอายุ เป็นภาวะที่ส่งผลให้ดวงตามองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ไม่ชัดเจนเหมือนเดิม อาการมักพบหลังอายุ 40 ปีเป็นต้นไป โดยสาเหตุหลักของ Presbyopia มาจากการเสื่อมของดวงตาตามธรรมชาติเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น 

อาการสายตายาวสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยทำให้มองเห็นตัวหนังสือไม่ชัดเจน สายตาพร่ามัว หากเป็นผู้ที่ต้องใช้สายตาในการทำงานก็อาจได้รับผลกระทบได้ จึงควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม

2550-Presbyopia

อาการของ Presbyopia

สัญญาณที่อาจเป็นอาการของ Presbyopia ได้แก่

  • ความคมชัดในการอ่านหนังสือเปลี่ยนไป เห็นตัวหนังสือไม่ชัดเจนหรืออาจเห็นเป็นภาพมัว ๆ มองยาก ต้องใช้สายตาในการเพ่ง หรือต้องยื่นหนังสือหรือโทรศัพท์ให้ไกลออกไปจึงจะเห็นตัวหนังสือได้ชัดเจนขึ้น
  • มีอาการตาล้า ปวดตา หรือปวดศีรษะ หลังจากอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา

อาการของ Presbyopia มักปรากฏในช่วงใดช่วงหนึ่งหลังอายุ 40 ปี สามารถเกิดกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง โดยอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนและอาจขึ้นอยู่กับชนิดของแว่นสายตาที่สวมใส่อยู่ก่อนที่จะมีอาการ หากมีอาการในลักษณะข้างต้น ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อหาแนวทางการแก้ไข ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากอาการสายตายาว 

สาเหตุของ Presbyopia

โดยปกติ เลนส์ตาของมนุษย์มีความยืดหยุ่นและอ่อนนุ่ม สามารถรับภาพจากแสงสะท้อนภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนได้ทั้งระยะใกล้และไกล แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น เซลล์และอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการมองเห็นเสื่อมลงตามธรรมชาติ ทำให้ความยืดหยุ่นเลนส์ลดลง ส่งผลให้ไม่สามารถรับแสงสะท้อนหรือภาพได้ตามปกติ ทำให้เกิดภาพที่พร่ามัวและไม่ชัดเจน

แม้ว่าสาเหตุหลักของ Presbyopia มาจากอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงหรือเร่งให้ภาวะนี้เกิดขึ้นก่อนอายุ 40 ปี เช่น การใช้ยาอย่างยาแก้แพ้ ยาต้านเศร้า ยาขับปัสสาวะ หรือโรคประจำตัว อย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) นอกจากนี้ การบาดเจ็บ ไลฟ์สไตล์บางอย่าง และงานที่ต้องใช้สายตาก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะนี้ได้

การวินิจฉัย Presbyopia

จักษุแพทย์จะสอบถามอาการเบื้องต้น ยาที่ใช้ และโรคประจำตัว จากนั้นจะตรวจตาด้วยวิธีต่าง ๆ โดยอาจตรวจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้ร่วมกัน เช่น 

  • การตรวจวัดระดับการมองเห็น (Visual Acuity Test) โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นกระดานที่มีตัวเลขและตัวอักษร เพื่อให้ผู้ป่วยบอกตัวเลขและตัวอักษรที่เห็น วิธีนี้จะวัดระยะการมองเห็นว่าอยู่ที่ระดับใกล้หรือไกล 
  • การตรวจวัดค่าสายตา (Refraction Test) จะช่วยบอกถึงค่าระดับสายตาว่าสั้น ยาว หรือเอียง
  • การตรวจด้วย Slit-lamp เพื่อตรวจดูเลนส์หรือส่วนประกอบอื่นภายในดวงตาอย่างละเอียด 
  • การตรวจส่วนหลังลูกตา (Dilated Fundus Examination) โดยจักษุแพทย์จะหยอดยาให้แก่ผู้ป่วยด้วยยาหยอดตาชนิดพิเศษเพื่อให้รูม่านตาเกิดการขยาย ทำให้จักษุแพทย์สามารถตรวจสอบลักษณะด้านในดวงตาได้ชัดเจนมากขึ้น
  • การตรวจตาอื่น ๆ อย่างตรวจการตอบสนองของรูม่านตา (Pupil Test) และการเคลื่อนไหวของดวงตา

การรักษา Presbyopia

ภาวะสายตายาวตามอายุรักษาได้ด้วยกันหลายวิธี ดังนี้

แว่นตา

หากผู้ป่วยมีอาการสายตาตายาวตามอายุเพียงอย่างเดียว จักษุแพทย์อาจแนะนำแว่นตาและเลนส์ชนิดต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น 

  • แว่นอ่านหนังสือใช้สวมเมื่อต้องการอ่านหนังสือเท่านั้น เหมาะกับผู้ที่ไม่ได้มีปัญหาสายตายาวรุนแรง 
  • แว่นตาเลนส์สองชั้น (Bifocals Lens) เป็นแว่นตาที่มีเลนส์สองระดับ โดยจะมี 2 ค่าสายตาในเลนส์เดียวเพื่อการมองระยะใกล้และระยะไกล และจะมีเส้นแบ่งเลนส์แนวนอนเพื่อสะดวกกับผู้ใช้
  • แว่นตาเลนส์สามชั้น (Trifocals Lens) ในหนึ่งเลนส์จะมีเลนส์ 3 แบบเพื่อการใช้งาน 3 ระยะ คือ การมองภาพทั่วไป การมองวัตถุระยะกลาง และการมองระยะใกล้ อีกทั้งยังมีเส้นแบ่งเลนส์แนวนอน
  • แว่นโปรเกรสซีฟมัลติฟอคัล (Progressive Multifocals) เลนส์ของแว่นชนิดนี้คล้ายกับแว่นตาเลนส์สองชั้นและแว่นตาเลนส์สามชั้น สามารถช่วยให้เห็นได้หลายระยะและไม่มีเส้นแบ่งเลนส์

คอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใส่แว่นตา โดยจะมีลักษณะเป็นเจลใสที่สวมเข้าไปในดวงตาเพื่อปรับลักษณะการมองเห็น ซึ่งจักษุแพทย์อาจแนะนำคอนแทคเลนส์ต่อไปนี้

  • คอนแทคเลนส์แบบเลนส์สองชั้น (Bifocals Lens) โดยในหนึ่งเลนส์จะมีเลนส์ 2 แบบสำหรับมองภาพระยะใกล้และระยะไกล
  • คอนแทคเลนส์แบบโมโนวิชั่น (Monovision Lens) โดยดวงตาทั้งสองข้างจะใส่เลนส์คนละแบบ หนึ่งข้างสำหรับมองภาพระยะไกลและอีกข้างสำหรับการมองภาพระยะใกล้

นอกจากนี้ เลนส์ทั้งสองแบบสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ โดยข้างหนึ่งสวมแบบเลนส์สองชั้นและข้างสวมแบบโมโนวิชั่น 

การผ่าตัด

จักษุแพทย์จะแนะนำวิธีผ่าตัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยวิธีการผ่าตัดแต่ละวิธีจะมีข้อดีข้อเสีย ความเสี่ยง และค่าใช้จ่ายที่ต่างกัน โดยวิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาสายตายาวที่จักษุแพทย์นำมาใช้ เช่น

  • Laser-Assisted in Situ Keratomileusis (LASIK) หรือเลสิก เป็นการใช้เลเซอร์สลายเนื้อเยื่อของกระจกตาชั้นในออกบางส่วน เพื่อช่วยปรับรูปทรงของกระจกตาให้ทำหน้าที่ในการมองเห็นได้ดีขึ้น
  • Laser-Assisted Subepithelial Keratectomy (LASEK) เป็นการใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดเช่นเดียวกับเลสิก โดยจะนำเยื่อบุผิวบางส่วนออกเพื่อปรับแต่งรูปทรงกระจกตาชั้นนอก
  • Conductive Keratoplasty เป็นการผ่าตัดด้วยการใช้คลื่นวิทยุทำให้เกิดความร้อนเพื่อปรับแต่งขอบของกระจกตาให้โค้งและช่วยให้โฟกัสภาพได้ดีขึ้น
  • การผ่าตัดดวงตา อย่างการผ่าตัดใส่วัสดุสังเคราะห์บริเวณกระจกตา (Corneal Inlay) และการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์สังเคราะห์ (Lens Implant) เพื่อทดแทนเลนส์ตาเดิมที่เสื่อมลง ซึ่งช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Presbyopia

สายตายาวตามอายุเป็นอาการที่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา เพราะอาจทำให้การมองเห็นแย่ลง อาการตาพร่ามัวรุนแรง ตาอีกข้างอาจเกิดปัญหาสายตายาวหรือสายตาสั้นตามมาจนอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

วิธีป้องกัน Presbyopia

Presbyopia ไม่สามารถป้องกันได้เพราะเป็นความเสื่อมตามอายุ การดูแลสุขภาพดวงตาจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ ซึ่งความถี่ในการตรวจจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ หากเป็นคนอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ไม่มีโรคประจำตัวควรเข้ารับการตรวจตาทุก 2-4 ปี   

นอกจากนี้ การลดปัจจัยเสี่ยงบางอย่างของ Presbyopia อาจทำได้โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง สวมแว่นตากันแดดเมื่อสายตาต้องโดนแดดจ้า ถนอมสายตาและใช้สายตาอย่างระมัดระวัง อ่านหนังสือในบริเวณที่มีแสงเพียงพอ ใช้สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์โดยให้เว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม ดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงเพื่อป้องกันโรคที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะสายตายาวตามอายุ เป็นต้น