รู้จักตาเป็นต้อ 4 ประเภท และวิธีรักษา

ตาเป็นต้อ หรือโรคต้อในตา เป็นกลุ่มโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติต่อดวงตา โดยแบ่งออกเป็น 4 โรค คือ ต้อกระจก ต้อหิน ต้อลม และต้อเนื้อ ซึ่งแต่ละโรคจะมีอาการและสาเหตุของการเกิดโรคที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่เหมือนกันคือทั้ง 4 โรคก่อให้เกิดความเสียหายต่อดวงตา และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ หากมีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษา

ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัว หากเกิดความผิดปกติต่อดวงตาจากสาเหตุต่าง ๆ อาจทำให้ตาเป็นต้อและส่งผลต่อการมองเห็นได้ โดยสาเหตุอาจเกิดจากอายุที่มากขึ้น ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม โรคตาและโรคประจำตัวอื่น ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ตาเป็นต้อได้เช่นกัน

ตาเป็นต้อ

รู้จักประเภทของตาเป็นต้อ

ตาเป็นต้อแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. ต้อกระจก (Cataract)

โดยปกติแล้ว เลนส์ตาจะมีลักษณะใส ช่วยในการรวมแสงไปตกที่จอประสาทตา ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน ผู้ที่เป็นโรคต้อกระจกจะเกิดความผิดปกติที่เลนส์ตา โดยเกิดความขุ่นมัวคล้ายกับมีหมอกบดบัง อาการของต้อกระจกมักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ในช่วงแรกอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตาเป็นต้อ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาการจะชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ 

อาการของโรคต้อกระจก ได้แก่ ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน มองไม่เห็นในตอนกลางคืนหรือในที่มืด ตาไม่สู้แสง ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา มองเห็นแสงเป็นวงแหวน หรือเห็นภาพสีซีดกว่าปกติ

ต้อกระจกมักพบในผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากโครงสร้างของดวงตาเสื่อมสภาพลงตามวัย นอกจากนี้ อาจเกิดจากการผ่าตัดตา หรือได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรือทารกบางคนมีภาวะตาเป็นต้อกระจกแต่กำเนิด

2. ต้อหิน (Glaucoma)

ต้อหินเป็นความผิดปกติในของดวงตาที่เกิดจากความเสียหายของเส้นประสาทตา สาเหตุหลักมาจากความดันในลูกตาสูง ต้อหินแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ

  • ต้อหินมุมเปิด (Open-Angle Glaucoma) พบได้บ่อยกว่า ผู้ป่วยจะเริ่มสูญเสียการมองเห็นอย่างช้า ๆ ตามัว โดยเฉพาะด้านข้างของดวงตา
  • ต้อหินมุมปิด (Angle-Closure Glaucoma) อาการจะเกิดขึ้นเร็วกว่าต้อหินมุมเปิด ผู้ป่วยจะปวดตาอย่างรุนแรง ตาแดงและพร่ามัว เห็นแสงไฟเป็นวง และคลื่นไส้ 

ต้อหินพบบ่อยในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี ปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดต้อหินคล้ายกับโรคต้อกระจก เช่น ครอบครัวเคยมีประวัติเป็นตาเป็นต้อหินมาก่อน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา ทั้งนี้ ต้อหินเป็นโรคที่รุนแรง หากไม่ได้สังเกตอาการหรือปล่อยให้ตาเป็นต้อเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตาบอดได้

3. ต้อลม (Pinguecula)

ต้อลมคือโรคต้อชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดเนื้อเยื่อบาง ๆ และนูนเล็กน้อย ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมสีออกเหลืองที่ตาขาว มักเกิดบริเวณหัวตาใกล้กับจมูก แต่บางครั้งอาจเกิดบริเวณหางตา ทำให้เกิดอาการตาแห้ง คันและแสบร้อนดวงตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา และน้ำตาไหล เมื่อเวลาผ่านไปเนื้อเยื่อนี้อาจขยายใหญ่ขึ้นและกลายเป็นต้อเนื้อได้

สาเหตุหลักที่ทำให้ตาเป็นต้อลมคือการที่ดวงตาสัมผัสรังสียูวี (UV) ในแสงแดดเป็นเวลานาน รวมถึงฝุ่นละออง ลมแรง ทราย การได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา และอายุที่เพิ่มมากขึ้น

4. ต้อเนื้อ (Pterygium)

ต้อเนื้อคือโรคต้อที่เกิดแผ่นพังผืดสีขาวเหลืองหรือสีชมพูรูปสามเหลี่ยมที่เยื่อบุตา อาจมองเห็นเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ในตาด้วย แผ่นพังผิดนี้จะค่อย ๆ ลุกลามอย่างช้า ๆ จากบริเวณตาขาวเข้าไปในกระจกตาดำ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นในดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง 

โดยทั่วไป ผู้ที่ตาเป็นต้อเนื้อมักไม่รู้สึกเจ็บปวดและอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่บาคนอาจรู้สึกเคืองตา แสบร้อนหรือคันตาเล็กน้อย ตาแดง ตาพร่า หากต้อเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจทำให้รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา และใส่คอนแทคเลนส์ได้ลำบาก

ต้อเนื้ออาจพัฒนามาจากต้อลม ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อเนื้อจึงคล้ายกับต้อลม เช่น การสัมผัสรังสียูวีในวันที่แดดจัดเป็นเวลานาน ฝุ่น ควัน ทราย โดยพบมากในผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งบ่อย ๆ

การรักษาตาเป็นต้อ

ตาเป็นต้อมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันไปตามประเภทของโรคต้อและความรุนแรงของอาการ โรคต้อบางชนิด เช่น ต้อลมและต้อเนื้อที่อาการไม่รุนแรง และไม่ส่งผลต่อการมองเห็นอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แพทย์อาจให้สวมแว่นกันแดด เพื่อปกป้องดวงตาจากรังสียูวี และใช้น้ำตาเทียมบรรเทาอาการตาแห้ง

แต่กรณีที่ตาเป็นต้อระยะรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาว โดยวิธีการรักษา มีดังนี้

  • การใช้ยา แพทย์จะสั่งจ่ายยาเพื่อรักษาผู้ป่วยที่ตาเป็นต้อ เช่น ยาหยอดตาที่ช่วยลดความดันลูกตา และยาลดการสร้างของเหลวในลูกตาสำหรับผู้ที่เป็นต้อหิน และยาสเตียรอยด์ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการตาบวมแดง เป็นต้น
  • การรักษาตาเป็นต้อด้วยเลเซอร์ วิธีนี้จะใช้กับผู้ที่เป็นต้อหิน ซึ่งช่วยระบายของเหลวในตา และลดความดันในลูกตา
  • การผ่าตัด ในกรณีที่อาการตาเป็นต้อรุนแรง และรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล เช่น ผ่าตัดใส่เลนส์แก้วตาเทียมในผู้ป่วยต้อกระจก และการผ่าตัดนำต้อเนื้อออก

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นต้อควรดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วย เช่น ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งสวมหมวกปีกกว้างและแว่นกันแดดทุกครั้งที่อยู่กลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการขับรถในเวลากลางคืน หากตาแห้งอาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และประคบเย็นที่ดวงตา เพื่อช่วยลดอาการอักเสบของต้อลม

ตาเป็นต้อเป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลกระทบต่อดวงตาและการมองเห็น การป้องกันการเกิดโรคต้อทำได้โดยการไปตรวจตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หากพบความผิดปกติของดวงตาจะได้รับการรักษาทันท่วงที นอกจากนี้ ควรดูแลดวงตาจากรังสียูวี ฝุ่นและมลภาวะ หากพบความผิดปกติใด ๆ ที่ดวงตาหรือการมองเห็นผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา