ตัวรุมๆ สาเหตุและการดูแลตัวเองให้หายดี

ตัวรุมๆ เป็นคำที่ใช้เรียกอาการคล้ายจะเป็นไข้ อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงกับมีไข้ ซึ่งโดยปกติแล้วอุณหภูมิของร่างกายคนเราจะอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส คนที่ตัวรุมๆ จะมีไข้ต่ำ ซึ่งวัดอุณหภูมิได้ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส อาการตัวรุมๆ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกัน

ไข้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายเกิดการเจ็บป่วย มักเกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไวรัสหรือแบคทีเรีย ร่างกายจึงปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้นเพื่อกำจัดเชื้อโรคออกไป แต่อาการตัวรุมๆ หรือไข้ต่ำอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุโดยส่วนมากมักหายได้ภายในเวลาไม่นานและไม่น่ากังวล แต่กรณีที่มีอาการไม่หายไป หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

ตัวรุมๆ

อาการที่สังเกตได้ว่าตัวรุมๆ 

ตัวรุมๆ หรือภาวะที่ผู้ป่วยไข้ต่ำนั้นไม่มีการกำหนดอุณหภูมิที่วัดได้จากร่างกายอย่างชัดเจน แต่โดยทั่วไปจะถือว่าตัวรุมๆ คือภาวะที่วัดไข้แล้วอุณหภูมิของร่างกายอยู่ในช่วงประมาณ 37.3–38 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง 

ตัวรุมๆ อาจไม่มีอาการที่แน่ชัด บางคนอาจไม่ทราบว่าตัวเองมีไข้ต่ำ ในขณะที่บางคนอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น

  • ผิวหนังอุ่นกว่าปกติ
  • รู้สึกไม่สบายตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว 
  • หนาวสั่น มีเหงื่อออก
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • มีอาการขาดน้ำ เช่น อ่อนเพลีย ปากแห้ง กระหายน้ำ

อาการตัวรุมๆ มักดีขึ้นภาย 3–4 วัน แต่บางคนอาจเป็นไข้ต่ำ ๆ เรื้อรัง โดยมีอาการตัวรุมๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน 10–14 วัน อาการเช่นนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคที่ควรได้รับการตรวจและรักษาโดยแพทย์

สาเหตุที่ทำให้ตัวรุมๆ

ตัวรุมๆ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือสาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อในร่างกาย และสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ดังนี้

สาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อ

การติดเชื้อในร่างกายหลายประเภทเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีอาการตัวรุมๆ ทั้งการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร และอื่น ๆ ซึ่งแต่ละโรคทำให้เกิดอาการแตกต่างกัน ดังนี้

  • โรคหวัด และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการตัวรุมๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ และอาจทำให้มีไข้สูง
  • คออักเสบ (Pharyngitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้มีอาการเจ็บคอ เสียงแหบ กลืนลำบาก ตัวรุมๆ หนาวสั่น อ่อนเพลีย
  • โควิด-19 (COVID-19) คือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตัวรุมๆ หนาวสั่น เจ็บคอ มีน้ำมูก ไปจนถึงอาการในระบบทางเดินหายใจรุนแรง
  • หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่ที่พบได้บ่อยกว่าคือการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยมักมีอาการตัวรุมๆ ไอ เจ็บคอ และหายใจลำบาก
  • การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะอาจเกิดจากการการติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือสาเหตุอื่น เช่น การตั้งครรภ์ ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะมีสีขุ่นหรือมีเลือดปน ปวดท้องน้อย ตัวรุมๆ หนาวสั่น และอ่อนเพลีย
  • โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิตจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด และมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ทำให้มีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ตัวรุมๆ
  • วัณโรค (Tuberculosis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงผ่านการหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ร่างกาย มักเกิดขึ้นที่ปอด แต่บางครั้งอาจเกิดที่อวัยวะอื่น ในระยะแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตได้
  • อีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการตัวรุมๆ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ตามด้วยการเกิดตุ่มนูนแดงหรือตุ่มน้ำใสขนาดเล็กทั่วร่างกาย ซึ่งสามารถติดต่อสู่คนใกล้ชิดได้ง่าย
  • หัดเยอรมัน เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้ที่ตั้งครรภ์ ทำให้มีอาการตัวรุมๆ มีผื่นขึ้นตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต และอาการอื่น ๆ คล้ายโรคหวัด

สาเหตุที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ

ตัวรุมๆ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในร่างกายได้ เช่น

  • ทารกที่ฟันเพิ่งขึ้น มักพบในทารกอายุ 4–7 เดือน ทารกจะมีอาการตัวรุมๆ ร้องไห้งอแง และกระสับกระส่าย
  • ความเครียด ทำให้มีอาการตัวรุมๆ คล้ายจะเป็นไข้ (Psychogenic Fever) มักพบในผู้มีความเครียดเรื้อรัง กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (CFS) และไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (Autoimmune Diseases) เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) โรครูมาตอยด์ รคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) 
  • โรคไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Thyroiditis)
  • โรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) มักทำให้มีอาการไข้ต่ำเรื้อรัง 
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยาต้านอาการทางจิต ยาต้านไวรัสเอชไอวี (HIV) และการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคืออาการตัวรุมๆ ได้

การดูแลตัวเองเมื่อตัวรุมๆ 

หากมีอาการตัวรุมๆ สามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ ดังนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อชดเชยเหงื่อที่สูญเสียไปจากอาการไข้ และป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • พักผ่อนมาก ๆ งดทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก หรือออกกำลังกายหนักขณะที่ตัวรุมๆ
  • สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ที่สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี
  • วางผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นบริเวณหน้าผาก
  • อาบน้ำอุ่น หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็นจัด หรือลงว่ายน้ำ

หากมีอาการตัวรุมๆ อาจไม่จำเป็นต้องรับประทานยา แต่ถ้ามีอาการปวดศีรษะ หรือปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย อาจรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน โดยปรึกษาเภสัชกรและใช้ตามปริมาณที่แนะนำบนฉลากยา ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนให้ยาลดไข้เด็ก และไม่ให้ยาแอสไพริน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเด็ก

หากดูแลตัวเองแล้ว ไข้ยังไม่ลดลงภายใน 3–4 วัน หรือมีอาการอื่น ๆ นอกจากอาการตัวรุมๆ เช่น อาเจียน มีผื่นขึ้นตามตัว คอบวม คอแข็ง เจ็บหน้าอก หมายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์ สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน ควรพาไปพบแพทย์ทันทีแม้จะไม่มีไข้สูงก็ตาม เพราอาการตัวรุมๆ ในทารกและเด็กเล็กอาจเกิดจากการติดเชื้อรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อเด็กได้