ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้ปลอดภัยและมีความสุขในช่วงโควิด-19

การดูแลผู้สูงอายุในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหลังการติดเชื้อโควิด-19 โดยความเสี่ยงจะสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตได้ 

นอกจากในด้านสุขภาพกายแล้ว ผู้สูงอายุอาจยิ่งรู้สึกเครียด เหงา หดหู่ และวิตกกังวลง่าย เพราะต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมที่เคยทำ และไม่ได้พบปะญาติหรือเพื่อน ซึ่งสภาวะอารมณ์เหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น 

ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้ปลอดภัยและมีความสุขในช่วงโควิด-19

ดูแลผู้สูงอายุในช่วงโควิด-19 สำคัญอย่างไร

โควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทุกคนมีโอกาสติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงได้ แต่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหลังการติดเชื้อสูงกว่าคนช่วงวัยอื่น เนื่องจากมีระบบภูมิคุมิกันที่อ่อนแอ ความสามารถในการกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย อย่างเชื้อโควิด-19 จึงด้อยกว่าคนอายุน้อยที่มีระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง

อีกทั้งผู้สูงอายุหลายคนมักมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคไต และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease) และโรคมะเร็ง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการรุนแรงหลังติดเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ ความรู้สึกกลัวการติดเชื้อโควิด-19 และการอยู่บ้านเป็นเวลานานในช่วงล็อคดาวน์ (Lockdown) ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้สูงอายุเช่นเดียวกับคนในช่วงวัยอื่น เนื่องจากผู้สูงอายุไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านหรือพบปะเพื่อนและญาติคนอื่น ๆ ได้เหมือนช่วงเวลาปกติ ทำให้รู้สึกเศร้า เหงา เบื่อ และหดหู่ได้ง่าย ผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19

ดูแลผู้สูงอายุในช่วงโควิด-19 อย่างไร

ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด-19 มักได้รับเชื้อจากการออกไปนอกบ้าน หรือติดเชื้อจากคนในครอบครัว ผู้ดูแล และคนที่มาเยี่ยม ซึ่งวิธีดูแลผู้สูงอายุให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อสามารถทำได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

1. ป้องกันเชื้อโควิด-19 ไม่ให้แพร่สู่ผู้สูงอายุ

ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุควรเป็นผู้ที่สามารถอยู่บ้านได้มากที่สุด หากจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านอาจให้ผู้อื่นมาดูแลผู้สูงอายุแทน แต่ต้องแน่ใจว่าผู้ดูแลคนใหม่ต้องไม่ใช่ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และผู้ดูแลไม่ควรไปคลุกคลีกับเด็ก เนื่องจากเด็กอาจยังไม่สามารถป้องกันตัวเองจากเชื้อโควิด-19 ได้มากพอ และอาจทำให้ผู้ดูแลได้รับเชื้อและแพร่สู่ผู้สูงอายุได้

หากผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลต้องออกนอกบ้าน ผู้ดูแลควรเลือกออกจากบ้านในเวลาที่คนไม่แออัด หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ ไม่ไปสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน ก่อนออกจากบ้านควรให้ผู้สูงอายุสวมหน้ากากอนามัย พกเจลล้างมือหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวเสมอ และควรรีบทำธุระให้เสร็จโดยเร็ว เมื่อกลับถึงบ้านให้ผู้ดูแลและผู้สูงอายุอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีก่อนสัมผัสใกล้ชิดคนในครอบครัว

นอกจากนี้ คนในครอบครัวควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน โดยให้ใช้ภาชนะหรืออุปกรณ์รับประทานแยกกันหรือใช้ช้อนกลาง ควรแยกห้องพักและของใช้ส่วนตัวของผู้สูงอายุจากคนในครอบครัว หากไม่สามารถแยกห้องได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ และเปิดหน้าต่างในห้องให้อากาศถ่ายเท

ผู้ดูแลควรทำความสะอาดบ้านทุกวัน และเช็ดทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้ร่วมกันในบ้าน เช่น สวิตช์ไฟ ลูกบิดประตู โต๊ะ ราวบันได ปุ่มกดน้ำ และชักโครก โดยใช้น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70% 

2. ให้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหลังติดเชื้อโควิด-19 จึงจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต และโรคมะเร็ง แต่ต้องเป็นผู้ที่มีอาการของโรคประจำตัวคงที่ 

สำหรับผู้ที่เคยแพ้ยาและอาหาร และผู้ที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด เช่น ยาแอสไพริน และยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ไมใช่ยาวาฟาริน (Warfarin) สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้เช่นกัน

ผู้สูงอายุที่อาการของโรคประจำตัวไม่คงที่หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และผู้สูงอายุระยะท้ายที่ใกล้จะเสียชีวิต แพทย์จะพิจารณาให้ฉีดวัคซีนจะเป็นรายกรณีไป 

3. ลดการพบปะและเลื่อนนัดเท่าที่จะทำได้

หลีกเลี่ยงการให้คนนอกบ้านมาเยี่ยมผู้สูงอายุให้ได้มากที่สุด โดยอาจพูดคุยทางโทรศัพท์ วิดีโอคอล หรือส่งข้อความแทน หากจำเป็นต้องเข้าเยี่ยม ผู้ที่จะมาเยี่ยมผู้สูงอายุควรใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ลดการเข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุ และรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร รวมทั้งไม่อนุญาตให้ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุโดยเด็ดขาด เช่น ผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 หรือผู้ที่มีอาการป่วย 

หากผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและต้องไปพบแพทย์ตามนัด ให้ผู้ดูแลสังเกตอาการ หากมีอาการคงที่และผลการตรวจล่าสุดเป็นปกติ ให้ติดต่อโรงพยาบาลเพื่อเลื่อนนัดหรือไปรับยาแทน แต่ในกรณีที่อาการแย่ลงหรือผลการตรวจล่าสุดผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการไปตรวจตามนัดอย่างระมัดระวัง โดยให้ผู้สูงอายุสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน และเมื่อกลับถึงบ้านให้ทำความสะอาดร่างกายและของใช้ที่ติดตัวกลับมาจากนอกบ้าน พร้อมเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที

4. ดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ

กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ดูแลผู้สูงอายุโดยปฏิบัติตามหลัก 5 อ. เพื่อสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ดังนี้

  • อาหาร ให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารที่หลากหลายครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุสูงเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน และควรรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ที่ถูกสุขลักษณะ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30–60 นาที เช่น เดิน หรือแกว่งแขนออกกำลังกายในบ้านเท่าที่กำลังของผู้สูงอายุสามารถทำได้
  • อารมณ์ ไม่ควรให้ผู้สูงอายุรับข่าวสารมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลและตื่นตระหนกจากการรับข่าวสาร ผู้ดูแลและคนในครอบครัวอาจชวนให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ทำอาหาร วาดรูป อ่านหนังสือ และปลูกต้นไม้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเบื่อและเหงา
  • เอนกายพักผ่อน ผู้สูงอายุต้องพักผ่อนให้เพียงพอประมาณ 7–9 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรเข้านอนควรเกิน 21.00 น. เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนได้อย่างเต็มที่
  • ออกห่างสังคมนอกบ้าน ผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรเก็บตัวอยู่ในบ้านให้มากที่สุด หากญาติหรือผู้ดูแลต้องออกไปนอกบ้านด้วยความจำเป็น ไม่ควรเข้าไปคลุกคลีกับผู้สูงอายุ รักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร และสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เข้าไปพูดคุยกับผู้สูงอายุ

5. วางแผนและเตรียมการล่วงหน้า

ผู้ดูแลควรจัดเตรียมอาหาร ของใช้จำเป็น และยารักษาโรคประจำตัวของผู้สูงอายุสำรองไว้ในบ้าน เผื่อกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถออกไปซื้อของและไปรับยาที่โรงพยาบาลได้ นอกจากนี้ควรสังเกตอาการป่วยที่บ่งบอกว่าผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด-19 โดยผู้สูงอายุแต่ละคนอาจมีอาการต่างกัน ซึ่งอาการที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • มีไข้ 
  • อ่อนเพลีย 
  • เบื่ออาหาร หรือรับอาหารทางสายยางไม่ได้ 
  • ซึมและสับสนเฉียบพลัน 
  • ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็ว

หากผู้สูงอายุมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการจะรุนแรงหลังการติดเชื้อมากกว่าในวัยอื่นๆ

การดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ และการเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ ผู้ดูแลควรใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในการดูแลผู้สูงอายุ พร้อมทั้งดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุให้แข็งแรง จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข