8 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ

หลายคนอาจคิดว่าผู้สูงอายุเป็นวัยที่อ่อนแอ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และสายเกินไปที่จะดูแลสุขภาพให้ดี แต่ความจริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อที่ผิด แม้ผู้สูงอายุจะที่สภาพร่างกายและเสื่อมถอยไปตามวัย แต่หากดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง ก็จะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ผู้สูงอายุตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ หมายถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งสังคมไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เนื่องจากประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 20% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด การทำความเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง จะช่วยให้คนในครอบครัวดูแลสุขภาพกายและใจของผู้สูงอายุให้ดีและมีความสุขได้

8 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่หลายคนไม่รู้ 

ความเชื่อหรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องจะมีเรื่องอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

1. ผู้สูงอายุไม่ต้องการสารอาหารมาก และไม่ต้องควบคุมอาหาร

หลายคนคิดว่าผู้สูงอายุเป็นวัยที่ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อมถอยลง จึงไม่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารมาก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด แม้ร่างกายผู้สูงอายุจะต้องการพลังงานน้อยกว่าวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ แต่ก็ต้องการสารอาหารที่จำเป็นบางตัวเพิ่มขึ้น เช่น แคลเซียม วิตามินบี 12 และวิตามินดี เพราะเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ร่างกายอาจสังเคราะห์และดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ได้น้อยลง

นอกจากนี้ บางคนอาจคิดว่าผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องควบคุมอาหาร และสามารถกินอาหารได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำหนักตัว แต่รู้หรือไม่ว่า แม้จะมีรูปร่างผอมแต่หากกินอาหารที่มีไขมันสูงและให้พลังงานมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จนเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังตามมาได้ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือด

2. หากไม่หิวก็ไม่จำเป็นต้องกินอาหารครบทุกมื้อ 

ผู้สูงอายุมักมีปัญหาเบื่ออาหาร ซึ่งอาจเกิดจากการรับรู้รสและกลิ่นลดลงตามวัย ปัญหาในการเคี้ยวอาหาร โรคประจำตัวและปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจ ซึ่งผู้สูงอายุและคนในครอบครัวอาจคิดว่าค่อยกินเมื่อรู้สึกหิวก็ได้ แต่การอดอาหารจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้นในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันและสูง

อีกทั้งการอดอาหารเป็นประจำอาจทำให้ร่างกายคุ้นชินกับการไม่ได้กินอาหาร จึงยิ่งทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกไม่อยากอาหารมากขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร ดังนั้น ผู้สูงอายุควรกินอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยอาจกินมื้อละน้อย ๆ และเสริมด้วยอาหารว่างที่มีประโยชน์ระหว่างมื้ออาหาร เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ และจิบน้ำบ่อย ๆ แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

3. ผู้สูงอายุไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ได้อีก

การเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ในการทำสิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอ โดยหลายคนสนใจการเล่นดนตรี เต้นรำ และร้องเพลง ซึ่งการเรียนรู้ที่จะทำกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยฝึกสมองให้ตื่นตัว ฝึกความจำ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้สูงอายุได้เข้าสังคมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งอาจช่วยลดความเครียด ความเหงา และเบื่อหน่ายได้อีกด้วย

4. ความจำเสื่อมกับผู้สูงอายุเป็นของคู่กัน

แม้ว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความจำเสื่อมและอัลไซเมอร์จากความเสื่อมถอยของการทำงานและโครงสร้างสมองตามวัย แต่ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนที่จะเป็นโรคเหล่านี้ เพราะหลายคนยังมีความจำและความสามารถในการคิดตัดสินใจได้ดี แม้จะหลงลืมเรื่องเล็กน้อยบางเรื่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุสามารถเสริมประสิทธิภาพด้านความจำ และลดความเสี่ยงของโรคเหล่านี้ได้โดยออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์และไม่สูบบุหรี่ที่อาจส่งผลเสียต่อความจำ รวมถึงทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวหรือเพื่อน เพื่อช่วยลดความเครียดและป้องกันอาการซึมเศร้าที่อาจทำให้ความจำแย่ลงได้

5. ควรปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว หากไม่อยากพูดคุยกับคนอื่น

ผู้สูงอายุบางคนชอบปลีกตัวไปอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ หรือทำกิจกรรมอื่นคนเดียวโดยไม่ค่อยพูดคุยกับคนในครอบครัว จึงทำให้เกิดความเชื่อผิด ๆ ว่าผู้สูงอายุส่วนมากไม่ชอบทำกิจกรรมหรือพูดคุยกับคนอื่น คนในครอบครัวมักให้ผู้สูงอายุแยกตัวไปอยู่ในห้องคนเดียว บ้างก็ปล่อยให้อยู่ที่บ้านลำพังขณะที่ลูกหลานออกไปเที่ยว หรือบางครอบครัวที่ไม่ได้อยู่บ้านหลังเดียวกันก็ไม่ค่อยได้ติดต่อไปหาผู้สูงอายุ

การปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่เพียงลำพังเป็นเวลานานกลับส่งผลเสียต่อสภาวะจิตใจของผู้สูงอายุ เช่น ทำให้เกิดความเหงา และเบื่อหน่าย ซึ่งอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า และความเหงาเรื้อรังจนอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

6. สายเกินไปที่ผู้สูงอายุจะออกกำลังกาย และอาจทำให้บาดเจ็บมากขึ้น

หลายคนคิดว่าผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องออกกำลังกาย เพราะไม่สามารถฟื้นฟูความแข็งแรงให้กลับมาได้ดังเดิม หรือกังวลว่าจะออกกำลังกายไม่ไหว และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่าย แต่ความเป็นจริงแล้ว การออกกำลังกายจะช่วยเสริมความแข็งแรงและป้องกันความการเสื่อมสลายของกระดูกและกล้ามเนื้อ เสริมประสิทธิภาพความจำ ช่วยให้จิตใจแจ่มใส และยังช่วยป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ 

ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายที่มีความหนักระดับปานกลาง เช่น เดิน ขี่จักรยาน และออกกำลังกายในน้ำ สัปดาห์ละ 150 นาที หรือแบ่งเป็น 5 วัน วันละ 30 นาที ควบคู่กับการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและฝึกการทรงตัว แต่ก็ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นวัยที่กล้ามเนื้ออ่อนแอ การทรงตัวไม่ดีเท่ากับวัยอื่น และหากมีโรคประจำตัวก็ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติในการออกกำลังกาย

7. ถ้าค่าความดันโลหิตลดลงแล้ว ไม่ต้องกินยาควบคุมความดันก็ได้

ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ การกินยาจะช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้สูงอายุจะหยุดยาเองได้เมื่อระดับความดันลดลงหรืออยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะการหยุดยาจะทำให้ความดันโลหิตกลับมาสูงขึ้น หากความดันโลหิตสูงมากอาจส่งผลต่อไตและหลอดเลือดสมองได้ 

การใช้ยารักษาความดันโลหิตให้ได้ประสิทธิภาพควรกินยาต่อเนื่องกันทุกวันให้ตรงเวลา หากลืมกินยาและนึกได้เมื่อใกล้จะกินยามื้อต่อไป ให้กินยาของมื้อนั้น โดยไม่ต้องเพิ่มยาเป็น 2 เท่า เพราะจะทำให้ความดันโลหิตจะลดต่ำลงมากจนอาจเกิดอาการหน้ามืดและหมดสติ

8. ผู้สูงอายุจำเป็นต้องกินอาหารเสริม

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ หลายคนคิดว่าการกินอาหารอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะช่วยให้สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง แต่ความจริงแล้ว หากผู้สูงอายุกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และใช้ยารักษาโรคประจำตัวตามที่แพทย์สั่ง ก็ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริมเพิ่มเติม

เมื่อทราบข้อมูลที่ถูกต้องเหล่านี้แล้ว การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ยาวนานคงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป หากสังเกตว่าผู้สูงอายุมีอาการผิดปกติหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำหนักตัวลดลงมาก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หรือหลง ๆ ลืม ๆ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาต่อไป