อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุดูแลอย่างไรให้หายดี

อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคนที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวันไปจนถึงปัญหาสุขภาพ แม้อาการนี้อาจหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่การดูแลและคอยบรรเทาอาการเท้าบวมอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกอึดอัดน้อยลงและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น

อาการเท้าบวม (Edema) เกิดจากการมีของเหลวสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อบริเวณเท้ามากจนเกินไป โดยอาจเป็นผลจากการยืนหรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ  การรับประทานอาหารอาหารรสเค็มมากเกินไป การใช้ยารักษาโรค เช่น ยารักษาโรคความดันสูง ยาเอ็นเสด (NSAIDs) ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) การรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด (Hormonal therapy)

อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุ

ในกรณีที่ร้ายแรงอาจเกิดปัญหาสุขภาพบางชนิด เช่น น้ำท่วมปอด ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคไต โรคตับ ซึ่งมักจะเกิดคู่กับการอาการหายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก อ่อนล้าเรื้อรัง ปริมาณและสีของปัสสาวะเปลียนแปลงไป และตัวเหลือง ซึ่งควรได้รับการดูแลจากแพทย์ทันที

วิธีบรรเทาอาการเท้าบวมในผู้สูงอายุ 

สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการเท้าบวมรุนแรงหรือฉับพลัน ร่วมกับรู้สึกปวด ผิวแดงหรือร้อน โดยเฉพาะจากปัญหาสุขภาพหรือเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อวางแผนการรักษาตั้งแต่ต้นเหตุและดูแลเท้าอย่างเหมาะสม ในกรณีที่อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุนั้นไม่รุนแรงอาจดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 

ยกขาให้สูง

การหมั่นยกขาให้สูงเหนือระดับหัวใจนั้นมีส่วนช่วยบรรเทาอาการเท้าบวมได้ ผู้ป่วยจึงควรยกขาพาดกับหมอนอิง เบาะรองนั่ง เก้าอี้ หรืออุปกรณ์ที่มีความสูงพอเหมาะบ่อย ๆ ครั้งละประมาณ 20 นาที โดยอาจลองยกขาสูงขณะอยู่ในท่านอนหรือท่านั่งก็ได้ แต่ไม่แนะนำให้ทำขณะอยู่ในท่ายืน   

ไม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ 

ผู้สูงอายุที่นั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ อาจส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีและเกิดอาการเท้าบวมตามมาได้ จึงควรขยับร่างกาย เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ หรือออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจเริ่มจากการเดินไปมาภายในบ้านแล้วค่อยปรับไปสู่การออกกำลังกายภายใต้คำแนะนำของแพทย์ก็ย่อมได้ 

เลือกรองเท้าที่เหมาะสม

รองเท้าสำหรับผู้สูงอายุมีที่อาการเท้าบวมนั้นควรเน้นความกว้างและใส่สบายเป็นหลัก และควรเลือกรองเท้าที่มีส้นเตี้ยและพื้นรองเท้านุ่ม เพื่อไม่ให้รู้สึกอึดอัดเท้า รองเท้าบีบหน้าเท้า หรือผิวหนังเสียดสีกับรองเท้าจนเป็นแผลหรือรอยถลอก 

สวมถุงเท้าหรือถุงน่องทางการแพทย์

ถุงเท้าหรือถุงน่องรัดกล้ามเนื้อเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดหนึ่งที่ใช้แรงกดจากความยืดของถุงเท้าหรือถุงน่องช่วยป้องกันการคั่งน้ำบริเวณเท้าและทำให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น โดยมักสวมหลังอาการเท้าบวมดีขึ้นแล้วเพื่อป้องกันเท้าบวมยิ่งขึ้น โดยผู้ป่วยสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หากมีข้อสงสัยในการใช้งานควรขอคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนเสมอ  

ดูแลเท้าให้สะอาด

ผู้ป่วยควรหมั่นทำความสะอาดเท้าให้สะอาด เช็ดเท้าและซอกนิ้วเท้าให้แห้ง อีกทั้งควรทาผลิตภัณฑ์ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเท้า เพื่อป้องกันเท้าแห้งแตก ซึ่งอาจง่ายต่อการเกิดแผลที่เท้า รวมถึงการติดเชื้อที่ผิวหนังต่าง ๆ 

งดรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง

เนื่องจากการรับประทานโซเดียมส่งผลให้เกิดการคั่งน้ำที่เท้ามากขึ้น และยังอาจทำให้อาการแย่ลงด้วย การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างจำกัดปริมาณอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำปลา แครกเกอร์ เปลี่ยนไปใช้เครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมต่ำ หรืองดเติมเกลือเพิ่มในแต่ละมื้อ ก็จะมีส่วนช่วยบรรเทาอาการเท้าบวมในผู้สูงอายุบางรายได้

เนื่องจากอาการเท้าบวมในผู้สูงอายุแต่ละคนมีสาเหตุและความรุนแรงต่างกันไป หากลองดูแลเท้าด้วยวิธีดังข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะหากพบอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นผิดปกติ หรือเจ็บหน้าอก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของน้ำท่วมปอด (Pulmonary Edema) ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้