ขี้เทา อุจจาระแรกของทารกที่พ่อแม่ควรรู้

ขี้เทา (Meconium) เป็นของเสียในลำไส้ใหญ่ของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่ก่อให้เกิดอันตราย และทารกจะขับถ่ายขี้เทาออกมาหลังคลอด แต่บางกรณี ทารกอาจถ่ายขี้เทาออกมาก่อนกำหนดตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่ หากทารกหายใจเอาขี้เทาเข้าสู่ร่างกาย อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

ตามปกติแล้ว ทารกควรขับถ่ายขี้เทา ซึ่งมีลักษณะเป็นสารเหนียวหนืดสีเขียวเข้มปนดำ ออกมาภายใน 24–48 ชั่วโมงหลังคลอด และหลังจากที่ทารกเริ่มดื่มนมแม่หรือนมผง ทารกจะเริ่มขับถ่ายอุจจาระเป็นปกติ แต่กรณีที่ทารกขับถ่ายขี้เทาตั้งแต่ในครรภ์ หรือไม่ขับถ่ายขี้เทาหลังคลอดอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกปัญหาสุขภาพของคุณแม่ได้

ขี้เทา

ลักษณะของขี้เทา

ขี้เทาคืออุจจาระของเด็กที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อทารกกลืนน้ำคร่ำของคุณแม่ขณะอยู่ในครรภ์ เมื่อน้ำคร่ำไหลผ่านลำไส้ของทารก ส่วนประกอบหลักของน้ำคร่ำ นั้นคือน้ำจะถูกดูดซึม สิ่งที่เหลืออยู่ในลำไส้ใหญ่ของเด็กคือขี้เทา ซึ่งประกอบด้วยเซลล์ โปรตีน ไขมัน เมือกจากเยื่อบุทางเดินอาหาร ขนอ่อน และไขของทารก 

ขี้เทาที่มีลักษณะเป็นสารเหนียวสีเขียวเข้มปนดำคล้ายน้ำมันดิน (Tar) และไม่มีกลิ่น จะสะสมในลำไส้ของทารก และทารกจะเริ่มขับถ่ายขี้เทาออกมาหลังจากคลอดประมาณ 24–48 ชั่วโมง เพื่อเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าระบบย่อยอาหารของทารกทำงานเป็นปกติ

ระยะเวลาของการขับถ่ายขี้เทา

คุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่าทารกจะขับถ่ายขี้เทากี่วัน ซึ่งคำตอบคืออุจจาระของทารกจะเริ่มเปลี่ยนจากขี้เทาเป็นอุจจาระปกติเมื่อทารกเริ่มดื่มนม ทั้งน้ำนมเหลือง (Colostrum) ซึ่งเป็นนมแม่ที่ร่างกายผลิตออกมาช่วงแรกหลังคลอด น้ำนมแม่ปกติ หรือนมผง ร่างกายทารกจะเริ่มกำจัดขี้เทาที่ตกค้างในลำไส้ออกมา

ทั้งนี้ อุจจาระของทารกแรกเกิดอาจมีสีแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการดื่มนม ทารกที่ดื่มนมแม่จะถ่ายอุจจาระนิ่มหรือเหลว มีสีเหลืองมัสตาร์ด และอาจมีจุดเล็กๆ คล้ายเมล็ดพืชปนอยู่ด้วย ทารกที่ดื่มนมผง อุจจาระจะมีสีน้ำตาลปนเหลืองหรือเขียว ความหนืดคล้ายเนยถั่ว และจะมีกลิ่นเหม็นกว่าอุจจาระของเด็กที่เดื่มนมแม่เล็กน้อย เมื่อทารกเริ่มรับประทานอาหารอื่นนอกจากนม คุณแม่อาจสังเกตได้ว่าอุจจาระทารกจะเริ่มแข็งขึ้น

ขี้เทาและความเสี่ยงที่ควรระวัง

อย่างที่กล่าวถึงไปแล้ว ขี้เทามักไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อทารก หากทารกถ่ายขี้เทาออกมาในระยะเวลาที่เหมาะสม แต่กรณีที่ขับถ่ายขี้เทาออกมาเร็วหรือช้ากว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์

1. ทารกถ่ายขี้เทาก่อนกำหนด

ทารกอาจขับถ่ายขี้เทาออกมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งขี้เทาจะปะปนอยู่กับน้ำคร่ำ ซึ่งมีโอกาสที่เด็กจะหายใจเอาขี้เทาเข้าไป ขี้เทาที่มีความเหนียวจะไปอุดตันในทางเดินหายใจของเด็ก  ซึ่งภาวะนี้เรียกว่า ภาวะสูดสำลักขี้เทาในทารก (Meconium Aspiration Syndrome: MAS) โดยอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น

  • การตั้งครรภ์เกินกำหนด คืออายุครรภ์นานกว่า 42 สัปดาห์
  • ความผิดปกติขณะคลอด เช่น คลอดช้า หรือคลอดยาก
  • ทารกขาดเลือดและออกซิเจนขณะอยู่ในครรภ์
  • ความผิดปกติของสายสะดือ และรก เช่น การติดเชื้อในรก
  • โรคประจำตัวของคุณแม่ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • การใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์

เด็กที่มีภาวะสูดสำลักขี้เทาจะมีอาการหายใจไม่สะดวก หายใจหอบ หัวใจเต้นช้า และผิวหนังมีสีเขียวคล้ำ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาและเฝ้าสังเกตอาการทันที วิธีการรักษาทารกที่สูดสำลักขี้เทาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง เช่น การให้ออกซิเจน การให้ยาปฏิชีวนะ และการใช้เครื่องช่วยหายใจ

2. ทารกที่ถ่ายขี้เทาช้ากว่าปกติ

ทารกควรขับถ่ายขี้เทาออกมาภายใน 48 ชั่วโมงหลังคลอด หากเลยกำหนดแล้วยังไม่ขับถ่ายขี้เทาออกมา อาจเป็นสัญญาณของโรคและความผิดปกติบางอย่าง เช่น

  • ภาวะขี้เทาอุดกั้นที่ลำไส้เล็กส่วนปลาย (Meconium Ileus) และที่ลำไส้ใหญ่ (Meconium Plug)
  • ซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)
  • ความพิการแต่กำเนิดของทวารหนัก เช่น ทวารหนักของเด็กไม่มีรูเปิดออกภายนอก (Anal Atresia)
  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด (Congenital Hypothyroidism)
  • โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด (Hirschsprung's Disease)

การขับถ่ายขี้เทาหรืออุจจาระของทารกแรกเกิดในช่วงวันแรก ๆ หลังคลอดถือเป็นเรื่องปกติ และจะเริ่มเปลี่ยนเป็นถ่ายอุจจาระปกติเมื่อดื่มนมและรับประทานอาหารอื่น อย่างไรก็ดี พ่อแม่ควรสังเกตอุจจาระทารก หากอุจจาระมีสีขาว แดง หรือดำ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ เพราะสีอุจจาระที่ผิดปกติอาจบ่งบอกว่าเด็กมีโรคที่ควรได้รับการรักษา