ทารกสะอึก สิ่งที่ที่พ่อแม่ควรรู้ และ 4 วิธีแก้สะอึกอย่างปลอดภัย

ทารกสะอึกอาจเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพราะไม่รู้ว่าต้องรับมือกับอาการสะอึกของลูกน้อยอย่างไร หรือกลัวว่าการสะอึกอาจทำให้เกิดอันตราย อย่างไรก็ตาม การสะอึกเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็กแรกเกิด หากคุณพ่อคุณแม่รู้วิธีแก้อาการสะอึกที่ถูกต้องและปลอดภัย ก็จะสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย

อาการสะอึกเกิดจากการหดตัวอย่างกะทันหันของกล้ามเนื้อกะบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครง ทำให้กล่องเสียงปิดลงอย่างฉับพลัน และส่งผลให้ลมที่หายใจเข้าอย่างรวดเร็วเกิดเป็นเสียงสะอึกตามมา อาการสะอึกสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ตอนที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ และจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเมื่อโตขึ้น แต่หากอาการทารกสะอึกเกิดขึ้นต่อเนื่องนานเกินไปหรือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้

ทารกสะอึก

สาเหตุที่อาจทำให้เด็กทารกสะอึก

อาการสะอึกสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็กทารก โดยเฉพาะเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุทั่วไปที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งปกติแล้วจะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนแรก และอาการจะดีขึ้นหลังจากทารกอายุได้ 4 เดือนขึ้นไป

โดยปัจจัยที่อาจส่งผลให้ทารกสะอึกมีหลายประการ เช่น เด็กทารกดื่มนมแม่หรือรับประทานอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป เด็กทารกกลืนอากาศมากเกินไป หรือมีอาการท้องอืด รวมทั้งอาจเกิดจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่เด็กทารกรับประทานเข้าไป

4 วิธีรับมือเมื่อเด็กทารกสะอึก

โดยทั่วไป อาการสะอึกจะไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการหายใจของเด็กทารก แต่ในบางกรณีหากอาการสะอึกเกิดขึ้นในระหว่างการรับประทานอาหาร อาจส่งผลให้เด็กทารกไอหรือสำลักได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วิธีการเหล่านี้เพื่อช่วยบรรเทาอาการสะอึกให้แก่ลูก

1. จัดท่าทางให้เด็กทารกใหม่

ในขณะที่กำลังป้อนนมหรืออาหาร หากเด็กทารกอยู่ในท่านอนราบมากเกินไปอาจทำให้มีอากาศเข้าไปในท้องจนเกิดอาการทารกสะอึกตามมาได้ หากเด็กทารกเริ่มมีอาการสะอึกในระหว่างการป้อนนมหรืออาหาร ควรหยุดป้อนสักพัก และจัดท่าทางให้นมแก่เด็กทารกใหม่ให้เป็นท่านั่งตรง โดยอาจใช้หมอนช่วยหนุนหลังให้เด็กทารกด้วย

2. ลูบหลังเด็กทารกเบา ๆ 

หากเด็กทารกมีอาการสะอึกเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจลองใช้มือลูบวน ๆ เป็นวงกลมบริเวณแผ่นหลังของเด็กทารก และโยกตัวเด็กทารกไปมาเบา ๆ เนื่องจากวิธีนี้จะช่วยในการระบายอากาศส่วนเกิน ช่วยให้เด็กทารกรู้สึกผ่อนคลาย และอาจช่วยให้เด็กทารกหายจากอาการสะอึกได้

3. กระตุ้นให้เด็กทารกเรอ

การกระตุ้นให้เด็กทารกเรอจะช่วยระบายอากาศส่วนเกินที่อยู่ในหลอดอาหารหรือในท้องของเด็กทารก จึงสามารถช่วยบรรเทาอาการสะอึกได้ โดยหากเด็กทารกเริ่มมีอาการสะอึกในระหว่างการป้อนนมหรืออาหาร ควรหยุดป้อนสักพักแล้วอุ้มเด็กทารกให้อยู่ในท่าพาดบ่า จากนั้นใช้มือตบหลังของเด็กทารกเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กทารกเรอออกมา

4. ให้เด็กทารกดูดจุกนมหลอก

หากเด็กทารกมีอาการสะอึกเกิดขึ้น การใช้จุกนมหลอกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่อาจลองใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการสะอึกให้แก่ลูก เพราะการดูดจุกนมหลอกจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณกระบังลมของเด็กทารกเกิดการเคลื่อนไหวและมีการผ่อนคลายมากขึ้น จึงอาจช่วยบรรเทาอาการสะอึกได้นั่นเอง

เคล็ดลับในการป้องกันไม่ให้เด็กทารกสะอึก 

แม้ว่าอาการสะอึกจะสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็กทารก แต่หากคุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติตามวิธีการเหล่านี้ อาจช่วยลดความถี่ของการเกิดอาการสะอึกในเด็กทารกได้ ดังนี้

  • ควรป้อนนมหรืออาหารให้เด็กทารกในขณะที่เด็กทารกไม่ได้หิวมาก เพราะเด็กทารกจะสงบนิ่งและไม่ร้องไห้หรือโวยวาย
  • ควรป้อนนมหรืออาหารให้เด็กทารกทีละน้อยอย่างช้า ๆ และแบ่งป้อนหลายครั้งแทน
  • ในระหว่างการป้อนนมควรหยุดพักเป็นระยะ และกระตุ้นให้เด็กทารกเรอออกมาทุกครั้งด้วย
  • ควรจัดท่าทางให้เด็กทารกนั่งตัวตรงประมาณ 20–30 นาทีหลังจากมื้ออาหารทุกครั้ง
  • หลังจากมื้ออาหาร ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการเล่นหรือการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากกับเด็กทารก
  • หากเด็กทารกดื่มนมจากขวด ควรเลือกจุกนมที่มีรูขนาดพอดี เพราะหากรูจุกนมมีขนาดใหญ่จะทำให้น้ำนมไหลเร็วเกินไปจนเด็กทารกอาจเกิดการสำลัก และหากรูจุกนมมีขนาดเล็กจะทำให้เด็กทารกกลืนอากาศเข้าไปในปริมาณมากในขณะที่กำลังดูดนม และเกิดอาการสะอึกตามมา

อย่างไรก็ตาม หากทารกสะอึกต่อเนื่องนานกว่า 2 ชั่วโมง มีอาการสะอึกบ่อย หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น ร้องไห้งอแงในขณะป้อนนม แหวะนม อาเจียน มีปัญหาในการหายใจ หรือมีสัญญาณของอาการขาดออกซิเจนอย่างอาการตัวเขียว ริมฝีปากและเล็บมีสีม่วงอมฟ้า อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม