ลูกแหวะนม เกิดจากอะไร พ่อแม่มือใหม่รับมืออย่างไรดี

เชื่อว่าปัญหาลูกแหวะนม หรือคายนมออกมาหลังดื่มนม อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนรู้สึกเป็นกังวลไม่น้อยว่าลูกจะได้รับสารอาหารที่เพียงพอ หรือมีสิ่งผิดปกติใด ๆ ที่เป็นอันตรายหรือไม่ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่

ในความเป็นจริง ลูกแหวะนมจัดเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในทารกช่วงวัยกำลังเจริญเติบโต และจะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เองเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุประมาณ 18 เดือน อย่างไรก็ตาม อาการลูกแหวะนมอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่ควรได้รับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์เช่นกัน บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาลูกแหวะนม เพื่อความเข้าใจและรับมือได้อย่างเหมาะสม

ลูกแหวะนม เกิดจากอะไร พ่อแม่มือใหม่รับมืออย่างไรดี

สาเหตุของปัญหาลูกแหวะนม

โดยปกติ หลังจากที่ทารกกลืนนม น้ำนมจะไหลผ่านหลอดอาหารสู่กระเพาะอาหาร โดยมีหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารคอยเปิดและปิดเพื่อให้นมไหลเข้าสู่กระเพาะอาหาร แต่ในวัยทารกที่ร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่จะพบว่ากลไกการเปิดปิดของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างจะยังเติบโตและทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้นมไหลย้อนกลับมาและนำไปสู่อาการแหวะนม

นอกจากนี้ อาการลูกแหวะนมยังอาจเกี่ยวข้องปัจจัยอื่น ๆ อย่างการนอนหงายเป็นระยะเวลานาน การดื่มนมหรือรับประทานอาหารมากเกินไป การรับประทานอาหารเหลวมากเกินไป การกลืนอากาศเข้าไปขณะดื่มนมหรือรับประทานอาหาร การดื่มนมเร็วเกินไป ขนาดกระเพาะอาหารของทารกที่ยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ และการคลอดก่อนกำหนด 

ในบางกรณี อาการลูกแหวะนมอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างที่มีความรุนแรง เช่น 

  • โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) โดยกรดที่ไหลย้อนกลับอาจส่งผลให้หลอดอาหารเกิดอาการระคายเคือง หรือเกิดความเสียหายได้
  • ภาวะ Food Intolerance หรือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสารอาหารบางชนิดได้
  • ภาวะไพลอรัสตีบ (Pyloric Stenosis) เป็นภาวะที่ส่งผลให้กระเพาะอาหารไม่สามารถลำเลียงนม และอาหารต่าง ๆ ไปยังลำไส้เล็กได้
  • โรคหลอดอาหารอักเสบจากเม็ดเลือดขาวอีโอสิโนฟิล (Eosinophilic Esophagitis) เป็นโรคที่ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอสิโนฟิลจับตัวกันบริเวณหลอดอาหารจนส่งผลให้หลอดอาหารเกิดความเสียหาย

รับมืออย่างไรให้เหมาะสมเมื่อลูกแหวะนม

ในเบื้องต้น คุณพ่อคุณแม่หรือบุคคลใกล้ชิดอาจลองปรับเปลี่ยนการดูแลหรือให้นมตามวิธีต่อไปนี้ เพื่อรับมือกับปัญหาลูกแหวะนมให้เหมาะสม

  • จัดท่าให้ลูกนั่งตัวตรงขณะให้นมหรือป้อนอาหาร รวมถึงให้นั่งพักหลังจากดื่มนมหรือรับประทานอาหารอย่างน้อย 30 นาทีก่อนจะทำกิจกรรมอื่นที่ต้องขยับตัวมาก
  • ปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารของลูก โดยแบ่งปริมาณอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง แต่เพิ่มจำนวนมื้อให้มากขึ้นแทน
  • จับลูกเรอก่อนและหลังดื่มนม โดยการจัดท่าให้ลูกนั่งตัวตรงและลูบหลังลูกเบา ๆ 
  • จัดท่านอนให้ลูกนอนหงายเสมอ
  • ลองเปลี่ยนสูตรนม เนื่องจากทารกบางคนอาจแพ้นมวัว หรือนมถั่วเหลือง
  • ในกรณีที่ลูกดื่มนมแม่ ให้คุณแม่หมั่นสังเกตอาหารที่ตนเองรับประทานในแต่ละมื้อ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่คาดว่าก่อให้เกิดอาการแหวะนมของลูก หรืออาจไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับโภชนาการที่เหมาะสม
  • ให้นมลูกในสถานที่ที่คนไม่พลุกพล่านและเงียบ เพื่อช่วยให้ทารกรู้สึกผ่อนคลายและไม่เครียด

ทั้งนี้ หากลองทำตามวิธีข้างต้นแล้วอาการลูกแหวะนมยังไม่ดีขึ้น ลูกเริ่มแหวะนมหลังจากอายุ 6 เดือน หรืออายุเกิน 1 ปีแต่ยังพบอาการแหวะนมอยู่ รวมถึงลูกมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น อาเจียนเป็นสีเขียว สีเหลือง หรือสีกาแฟ อาเจียนอย่างรุนแรง อุจจาระปนเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้น ไอต่อเนื่องเป็นเวลานาน หายใจมีเสียงหวีด ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม