ระบบย่อยอาหาร ดูแลอย่างไรเพื่อสุขภาพที่ดี

ระบบย่อยอาหาร มีหน้าที่เปลี่ยนอาหารที่บริโภคเข้าไปให้กลายเป็นพลังงาน เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ รวมทั้งขับกากอาหารหรือของเสียออกนอกร่างกายผ่านทางทวารหนัก โดยอวัยวะในระบบย่อยอาหารประกอบด้วยปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ตับอ่อน ตับ ถุงน้ำดี ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรง และทวารหนัก ซึ่งล้วนทำงานร่วมกันเพื่อให้การย่อยอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบย่อยอาหาร

อวัยวะต่าง ๆ ในระบบย่อยอาหารมีหน้าที่อะไรบ้าง ?

  • ปาก คือจุดเริ่มต้นของระบบย่อยอาหาร โดยฟันทำหน้าที่บดอาหารให้มีชิ้นเล็กลงและง่ายต่อการย่อย ส่วนน้ำลายทำหน้าที่คลุกเคล้าอาหารให้กลืนง่าย นอกจากนี้ ในน้ำลายยังมีเอนไซม์แอลฟาอะไมเลสที่ช่วยย่อยอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เมื่ออาหารกับน้ำลายคลุกเคล้ากันดีแล้ว ลิ้นและเพดานอ่อนจึงช่วยเคลื่อนอาหารไปยังคอหอยและหลอดอาหารต่อไป
  • คอหอย อาหารที่กลืนลงไปจะเดินทางผ่านคอหอยและส่งต่อไปยังหลอดอาหาร ซึ่งในระหว่างกระบวนการนี้ หลอดลมจะปิดลงเพื่อป้องกันอาหารหลุดเข้าไปยังปอด
  • หลอดอาหาร เป็นกล้ามเนื้อที่มีลักษณะเป็นท่อกลวงยาวเชื่อมระหว่างคอหอยกับกระเพาะอาหาร ช่วยส่งอาหารไปยังกระเพาะอาหารด้วยการหดและคลายกล้ามเนื้อเป็นจังหวะ หรือเรียกว่าการบีบตัวแบบเพอริสตัลซิส (Peristalsis) ส่วนบริเวณล่างของหลอดอาหารซึ่งเชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารนั้นมีกล้ามเนื้อหูรูด ทำหน้าที่ป้องกันอาหารและกรดภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร
  • กระเพาะอาหาร อวัยวะลักษณะคล้ายถุงซึ่งมีผนังกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ทำหน้าที่เป็นจุดพักอาหารและคลุกเคล้าอาหาร นอกจากนี้ ยังมีเอนไซม์ช่วยย่อยอาหารให้มีลักษณะกึ่งเหลวก่อนจะส่งต่อไปยังลำไส้เล็ก
  • ลำไส้เล็ก คืออวัยวะลักษณะคล้ายท่อกลวงขดไปมาในช่องท้อง มีความยาวประมาณ 20 ฟุต และเป็นบริเวณที่มีการย่อยและดูดซึมสารอาหารมากที่สุด แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ลำไส้เล็กส่วนต้นหรือดูโอเดนัม (Duodenum) สำไส้เล็กส่วนกลางหรือเจจูนัม (Jejunum) และสำไส้เล็กส่วนปลายหรือไอเลียม (Ileum) โดยมีเอนไซม์จากตับอ่อนมาช่วยย่อยสารอาหารประเภทโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต รวมถึงน้ำดีจากตับที่ช่วยย่อยไขมันและกำจัดของเสียในเลือด
  • ลำไส้ใหญ่ คืออวัยวะลักษณะคล้ายท่อกลวง ยาวประมาณ 5-6 ฟุต ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
  • ซีกัม (Cecum) หรือลำไส้ใหญ่ส่วนต้น มีลักษณะเป็นถุงปลายตัน อยู่ทางด้านขวาของช่องท้อง
  • โคลอน (Colon) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ลำไส้ใหญ่ส่วนทอดขึ้นบน (Ascending Colon) หรือส่วนที่ยื่นตรงไปทางด้านบนขวาของช่องท้องจนถึงตับ ลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง (Transverse Colon) พาดผ่านจากด้านขวาไปยังด้านซ้ายของลำตัว และลำไส้ใหญ่ส่วนทอดลงล่าง (Descending Colon) ซึ่งดิ่งตรงลงมาทางช่องท้องด้านซ้าย โดยส่วนปลายที่เชื่อมต่อกับลำไส้ตรงจะขดตัวคล้ายตัวเอส เรียกว่าซิกมอยด์ (Sigmoid Colon)
  • ลำไส้ตรง (Rectum) เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้ายที่เชื่อมต่อกับทวารหนัก

กากอาหารที่เหลือจากกระบวนการย่อยอาหารในลำไส้เล็กจะถูกส่งมายังลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีหน้าที่ดูดซึมน้ำ วิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารที่ตกค้างกลับเข้าสู่กระแสเลือด โดยกากอาหารจะถูกพักไว้ที่ส่วนซิกมอยด์จนกว่าลำไส้จะบีบตัวเพื่อส่งกากอาหารไปยังลำไส้ตรง จากนั้นลำไส้ตรงจึงส่งสัญญาณไปยังสมองให้ตัดสินใจว่าสามารถขับกากอาหารออกมาได้หรือไม่ หากสมองสั่งการให้ขับกากอาหาร กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักก็จะคลายตัวเพื่อขับกากอาหารออกมาเป็นอุจจาระ

  • ทวารหนัก เป็นอวัยวะสุดท้ายของระบบย่อยอาหาร ประกอบด้วยส่วนหลัก ๆ ดังนี้
    • กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน มีหน้าที่ควบคุมการกลั้นอุจจาระ
    • กล้ามเนื้อหูรูดชั้นใน คอยควบคุมไม่ให้เกิดการขับถ่ายขณะนอนหลับ
    • กล้ามเนื้อหูรูดชั้นนอก เป็นกล้ามเนื้อใต้อำนาจจิตใจ จึงควบคุมการเคลื่อนไหวได้ โดยสามารถคลายกล้ามเนื้อเมื่อต้องการถ่ายอุจจาระ และหดกล้ามเนื้อเพื่อกลั้นอุจจาระ

อยากมีระบบย่อยอาหารที่ดี ควรทำอย่างไร ?

ระบบย่อยอาหารที่ดี คือการที่อวัยวะต่าง ๆ ภายในระบบย่อยอาหารทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และดูดซึมสารอาหารให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างครบถ้วน การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การติดเชื้อ ความเครียด หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด อาจทำให้ระบบย่อยอาหารเกิดความผิดปกติและส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต การหันมาดูแลระบบย่อยอาหารด้วยการปรับพฤติกรรมเพียงไม่กี่อย่างต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและความผิดปกติในระบบย่อยอาหารได้

  • รักษาความสะอาดของมือ ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังขับถ่าย ก่อนรับประทานอาหาร และก่อนเตรียมอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียที่มือปนเปื้อนไปกับอาหาร
  • รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ควรรับประทานอาหารเช้า กลางวัน เย็น ในเวลาที่เหมาะสม โดยพยายามรับประทานอาหารแต่ละมื้อในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • รับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ควรรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมกับระดับการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย โดยคำนวณปริมาณสารอาหารและแคลอรี่ของอาหารแต่ละชนิดก่อนรับประทาน
  • รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง อาหารที่มีเส้นใยสูงส่งผลให้ระบบการย่อยทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหลายชนิด เช่น โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคริดสีดวงทวาร และโรคลำไส้แปรปรวน โดยเส้นใยอาหารแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
    • ส้นใยชนิดไม่ละลายน้ำ คือเส้นใยที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ ส่วนมากพบในธัญพืช มันฝรั่ง แครอท กะหล่ำ และพืชตระกูลถั่ว ทำหน้าที่เป็นตัวกลางพาน้ำและของเสียเคลื่อนตัวในทางเดินอาหาร อีกทั้งยังช่วยให้อุุจจาระนิ่มลง ขับถ่ายง่ายขึ้น และป้องกันอาการท้องผูกได้
    • เส้นใยชนิดละลายน้ำ คือเส้นใยที่ละลายน้ำได้ ส่วนมากพบในแอปเปิล ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ข้าวโอ๊ต และเทียนเกล็ดหอย มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย เนื่องจากเส้นใยชนิดนี้ทำหน้าที่คล้ายฟองน้ำ คอยดูดซึมของเหลวในลำไส้เอาไว้ ส่งผลให้อุจจาระมีลักษณะไม่เหลวจนเกินไป รวมทั้งทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้นและส่งผลดีต่อผู้ต้องการลดน้ำหนัก
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรดื่มน้ำประมาณ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน น้ำจะช่วยพาของเสียไหลผ่านระบบย่อยอาหารและทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น นอกจากนี้ เส้นใยอาหารยังต้องดูดซึมน้ำ จึงจะมีคุณสมบัติป้องกันอาการท้องผูกได้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อช่วยกระตุ้นการบีบตัวของอวัยวะต่าง ๆ ในระบบย่อยอาหาร ทำให้อาหารถูกย่อยเร็วขึ้น ลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำในกากอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้อุจจาระไม่แห้งและแข็ง
  • ลดความเครียด ความเครียดอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบย่อยอาหาร ซึ่งวิธีจัดการกับความเครียดสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง แม้ไขมันจะให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่การบริโภคไขมันในปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหาร เนื่องจากอาจทำให้กระบวนการย่อยอาหารทำงานช้าลงและเสี่ยงเกิดอาการท้องผูก ทางที่ดีควรหันมาเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา นมขาดมันเนย เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเผ็ด หากรับประทานแล้วเกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง แสบร้อนกลางอก ส่วนผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนหรือโรคลำไส้แปรปรวน ควรหลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดทุกชนิด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ สารในบุหรี่อาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารสารพัด เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโครห์น (Crohn's Disease) โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคมะเร็ง และทำให้ผู้ที่เป็นโรคตับหรือตับอ่อนอักเสบมีอาการแย่ลงได้
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เนื่องจากคาเฟอีนนั้นส่งผลให้ปริมาณกรดในช่องท้องเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ปวดท้องหรือเกิดโรคกรดไหลย้อน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารคลายตัวและอาจก่อให้เกิดกรดไหลย้อน นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังอาจไปขัดขวางการดูดซึมสารอาหาร ส่งผลให้เยื่อบุกระเพาะอักเสบ เอนไซม์บางชนิดทำงานบกพร่อง ท้องเสีย หรือปวดท้อง

บทบาทของ Probiotics และ Prebiotics ต่อระบบย่อยอาหาร

ปัจจุบันมีการกล่าวถึง Probiotics และ Prebiotics อย่างมากในวงการโภชนาการ เพราะอาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะการทำงานของระบบย่อยอาหาร หากมีอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม แม้ 2 คำนี้จะออกเสียงค่อนข้างคล้ายกัน แต่กลับมีความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง

  • Prebiotics คือ เส้นใยอาหารชนิดหนึ่งที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ และเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในร่างกาย มักพบได้ในธัญพืช พืชตระกูลถั่ว กล้วย ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม หัวหอม เป็นต้น
  • Probiotics คือ เชื้อจุลินทรีย์มีชีวิตชนิดมีประโยชน์ที่พบได้ในร่างกาย รวมถึงอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด เช่น โยเกิร์ต ผักดอง คอมบูชา เป็นต้น

โดยปกติ Probiotics นั้นพบได้ในร่างกายอยู่แล้ว จึงมักไม่จำเป็นต้องรับประทานเสริมอีก ซึ่ง Probiotics ในปริมาณที่เหมาะสมอาจปกป้องร่างกายจากจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายและช่วยในการย่อยอาหาร เช่นเดียวกับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ชนิดอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบางประการอาจส่งผลให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในร่างกายมีปริมาณลดลงจนทำให้ระบบย่อยอาหารเกิดความผิดปกติ เช่น การใช้ยาปฎิชีวนะที่มีฤทธิ์ฆ่าจุลินทรีย์ทั้งชนิดดีและไม่ดี ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการท้องเสียหรือท้องอืดตามมา ดังนั้น การรับประทาน Probiotics เสริม ทั้งจากอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงอาจช่วยทดแทนปริมาณจุลินทรีย์ชนิดดีและป้องกันอาการท้องเสียได้

ผลข้างเคียงของการรับประทาน Probiotics นั้นมีน้อยและไม่รุนแรง ส่วนใหญ่ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร เช่น ท้องอืด หรือท้องเฟ้อ ทั้งนี้ บุคคลบางกลุ่มอาจได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยบางชนิด เช่น เกิดการติดเชื้อ กระบวนการเผาผลาญผิดปกติ ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ เป็นต้น

ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารที่พบได้บ่อย

โรคหรือความผิดปกติของระบบย่อยอาหารเป็นปัญหาที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • ท้องเสีย คนส่วนใหญ่มีอาการนี้โดยเฉลี่ยปีละ 1-2 ครั้ง อาการบ่งชี้คือถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ กลั้นอุจจาระไม่ได้ ท้องอืด คลื่นไส้ ซึ่งหากถ่ายเป็นน้ำเกิน 3 ครั้งต่อวัน และดื่มน้ำไม่เพียงพอ ผู้ป่วยอาจเผชิญกับภาวะขาดน้ำ จนเกิดผลข้างเคียงรุนแรงตามมาได้ อย่างไรก็ตาม แม้อาการท้องเสียจะรักษาได้ด้วยตนเอง แต่หากถ่ายอุจจาระเหลวและมีเลือดปน มีไข้ ปวดท้องรุนแรง หรืออาการท้องเสียไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ท้องผูก คืออาการที่เกิดขึ้นเมื่อลำไส้บีบตัวน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระยาก อุจจาระแข็ง หรือถ่ายออกมาเป็นเพียงก้อนเล็ก ๆ รวมทั้งมีอาการท้องบวม ปวดท้อง แน่นท้อง การดื่มน้ำให้มากขึ้นกว่าปกติ 2-4 แก้วต่อวัน รับประทานผักและผลไม้ หรือยาถ่ายตามคำแนะนำของเภสัชกรอาจช่วยรักษาอาการท้องผูกได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ หากรู้สึกปวดท้องและไม่สามารถผายลมหรือถ่ายอุจจาระออกมาได้เลย
  • โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ โดยปกติแล้ว ถุงโป่งขนาดเล็กอาจเกิดขึ้นได้ตามเยื่อบุผิวบริเวณต่าง ๆ ในระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หากไม่มีอาการอื่นร่วมจะเรียกว่าโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ (Diverticulosis) ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ถุงโป่งนี้อาจอักเสบ หรือที่เรียกว่าโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (Diverticulitis) ทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรง เป็นไข้ คลื่นไส้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที
  • โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่กรดภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร มักเกิดขึ้นหลังจากการรับประทานอาหารหรือระหว่างนอนหลับ ทำให้รู้สึกแสบร้อนกลางหน้าอก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้นาน ๆ ครั้งเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม อาการแสบร้อนกลางอกรุนแรงจนกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือมีอาการถี่ขึ้นเป็นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง อาจเป็นสัญญาณของโรคกรดไหลย้อน นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ฟันสึกกร่อน คลื่นไส้ เจ็บช่องอกหรือส่วนบนของช่องท้อง หายใจลำบาก กลืนลำบาก เสียงแหบ เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
  • นิ่วในถุงน้ำดี คือก้อนแข็งขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี หากนิ่วไปอุดตันท่อน้ำดีที่เชื่อมต่อกับลำไส้ จะทำให้รู้สึกเจ็บแปลบบริเวณช่องอกด้านบนขวา ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยการใช้ยาบางชนิด หรืออาจต้องผ่าตัด หากการรับประทานยาไม่สามารถช่วยสลายนิ่วได้
  • โรคโครห์น จัดอยู่ในกลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง มักเกิดขึ้นบริเวณลำไส้เล็กส่วนปลาย ปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุของโรคที่แน่ชัดได้ แต่คาดว่าพันธุกรรมอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้อง อาการของโรคโครห์น ได้แก่ ปวดท้อง ท้องเสีย เลือดออกในลำไส้ตรง น้ำหนักลด และมีไข้ ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับอาการที่พบ อาจใช้ยาบรรเทาอาการปวดเฉพาะที่ ยากดภูมิคุ้มกัน หรือการผ่าตัดเข้าช่วย
  • โรคแพ้กลูเตน เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายตอบสนองต่อโปรตีนกลูเตน ซึ่งเป็นสารอาหารที่พบในพืชจำพวกข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ ปฏิกิริยาตอบสนองนี้สร้างความเสียหายต่อวิลไล (Villi) หรือส่วนที่ยื่นออกมาจากผนังด้านในลำไส้เล็ก ลักษณะคล้ายนิ้วมือเล็ก ๆ จำนวนมาก มีหน้าที่ช่วยดูดซึมสารอาหาร ผู้ป่วยวัยเด็กอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก อาเจียน และน้ำหนักลด ส่วนผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่อาจมีภาวะโลหิตจาง เมื่อยล้า มวลกระดูกลดลง ซึมเศร้า และชัก
  • โรคลำไส้ใหญ่อักเสบและเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative Colitis) เป็นโรคอีกชนิิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนโคลอน (Colon) เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดและหันมาตอบสนองต่ออาหารหรือแร่ธาตุ แทนที่จะเป็นเชื้อโรคในร่างกาย ทำให้เยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่ส่วนโคลอนเป็นแผล ถ่ายแล้วรู้สึกเจ็บ ร่วมกับมีอาการท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปน หรือปวดบีบที่ท้อง ผู้ที่มีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที
  • โรคริดสีดวงทวาร เกิดจากเส้นเลือดบริเวณทวารหนักหรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ที่อยู่ติดกับทวารหนักเป็นแผลอักเสบ อาจมีสาเหตุมาจากอาการท้องผูกเรื้อรัง ท้องเสีย แผลจากการบีบรัดตัวของลำไส้ หรือการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารน้อย ส่งผลให้รู้สึกเจ็บหรือคัน รวมถึงอาจมีเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ โรคริดสีดวง รักษาได้ด้วยการหันมาทานอาหารที่มีเส้นใยสูง ดื่มน้ำให้มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือใช้ยาตามคำแนะนำของเภสัชกร แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
  • โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) หรือที่รู้จักกันในชื่อโรคไอบีเอส (IBS) ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด และมีอาการบ่งชี้ค่อนข้างกว้าง เช่น มีอาการปวดท้องร่วมกับท้องผูกหรือท้องเสีย ท้องผูกสลับกับท้องเสีย ท้องอืด เป็นต้น โรคนี้สามารถรักษาด้วยตนเองโดยการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพของลำไส้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่มีเส้นใยสูงและมีไขมันต่ำ หรืออาหารที่มี Probiotics เป็นส่วนประกอบ เช่น โยเกิร์ต รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่ส่งผลเสียต่อลำไส้ เช่น กาแฟ แอลกอฮอล์ สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เครื่องดื่มที่มีแก๊ส เป็นต้น
  • แผลฉีกหรือแผลปริที่ขอบทวารหนัก (Anal Fissure) อาจมีสาเหตุมาจากการเบ่งถ่ายอุจจาระที่รุนแรงเกินไปหรือมีอุจจาระแข็ง ทว่าอาการท้องเสียหรืออุจจาระลักษณะเหลวก็อาจก่อให้เกิดแผลในลักษณะนี้ได้เช่นกัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับโรคริดสีดวงทวาร คือ มีเลือดออกและรู้สึกเจ็บขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ การรักษาที่ดีที่สุดคือการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง เพื่อช่วยให้ถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้น และบรรเทาอาการเจ็บโดยการใช้ยาชาเฉพาะที่หรือการนั่งแช่น้ำอุ่น อย่างไรก็ตาม กรณีที่เป็นแผลเรื้อรังอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด