ขี้สะดือ วิธีรับมืออย่างเหมาะสมและเคล็ดลับในการป้องกัน

ขี้สะดือเกิดจากการสะสมตัวของซีบัมและเคราตินจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วภายในสะดือ ทำให้เกิดเป็นก้อนแข็งสีดำจับตัวแน่นภายในสะดือคล้ายกับสิวหัวดำ ขี้สะดือจะใช้เวลานานในการสะสมตัว ทำให้เราอาจไม่รู้ตัวว่ามีขี้สะดือจนกระทั่งสะสมจนกลายเป็นก้อนขนาดใหญ่ โดยในบางกรณีขี้สะดือขนาดใหญ่อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองภายในสะดือตามมาได้

โดยส่วนใหญ่ขี้สะดื้อไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ มีแค่อาการระคายเคืองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากมีขี้สะดืออุดตันเป็นจำนวนมากและไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อภายในสะดือ ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ไปจนถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด และจำเป็นต้องรับการรักษาจากแพทย์ได้เช่นกัน

ขี้สะดือ วิธีรับมืออย่างเหมาะสมและเคล็ดลับในการป้องกัน

สาเหตุที่ทำให้เกิดขี้สะดือ 

ขี้สะดือสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่บางคนอาจมีโอกาสในการเกิดขี้สะดือได้ง่ายกว่าคนทั่วไปจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การไม่รักษาความสะอาดของร่างกายโดยเฉพาะบริเวณสะดือ ทำให้เกิดการสะสมของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว จนกลายเป็นขี้สะดือตามมา
  • การมีรูปทรงของสะดือที่ลึก ทำให้สิ่งสกปรกต่าง ๆ เช่น ขุยเสื้อผ้า เหงื่อไคล และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วเข้าไปสะสมได้ง่าย และรูปทรงของสะดือที่ลึกทำให้ยากต่อการทำความสะอาดด้วย
  • การมีรูปร่างอ้วน เพราะเนื้อบริเวณหน้าท้องอาจปิดบังหรือกดทับสะดือ ทำให้ยากต่อการทำความสะอาด
  • การมีขนบริเวณหน้าท้อง เพราะอาจทำให้เกิดการสะสมของซีบัมและเคราตินในสะดือมากยิ่งขึ้น

วิธีการรับมือเมื่อมีขี้สะดือเกิดขึ้น

การกำจัดขี้สะดือด้วยตัวเองอาจทำได้ยากเพราะเราไม่สามารถมองเห็นภายในสะดือของตัวเองได้ และภายในสะดือมีลักษณะเป็นซอกที่ค่อนข้างเล็กและซับซ้อน การใช้อุปกรณ์ที่แหลมคมหรือไม่สะอาดแหย่เข้าไปในสะดือเพื่อแคะหรือดึงขี้สะดือออกมาอาจทำให้เกิดแผลหรือเกิดการติดเชื้อตามมาได้ การกำจัดขี้สะดือจึงควรทำโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

การกำจัดขี้สะดือโดยแพทย์มีวิธีการคือแพทย์จะใช้ก้านสำลีชุบน้ำเกลือเพื่อเช็ดขี้สะดือออกมา หรือหากขี้สะดือมีลักษณะเหนียวติดแน่นอยู่ภายในสะดือ แพทย์จะใช้น้ำมันมะกอกหรือกลีเซอรีนหยอดลงไปในสะดือก่อน เพื่อให้ขี้สะดืออ่อนตัวลงและง่ายต่อการกำจัดออกมากขึ้น จากนั้นแพทย์จะใช้คีมหรือแหนบเพื่อคีบขี้สะดือออกมา

นอกจากนี้ หากภายในสะดือมีอาการติดเชื้อเกิดขึ้น แพทย์อาจต้องรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย หรือหากขี้สะดือมีขนาดใหญ่ แข็ง รวมถึงเกิดฝีภายในสะดือ แพทย์อาจต้องใช้มีดผ่าตัดกรีดเปิดผิวหนังบริเวณสะดือเล็กน้อยเพื่อระบายหนองในฝี และนำขี้สะดือออกมา

เคล็ดลับง่าย ๆ ช่วยป้องกันการเกิดขี้สะดือได้อยู่หมัด

สิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดขี้สะดือคือการรักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะบริเวณสะดือ วิธีการรักษาความสะอาดที่สามารถทำได้ง่าย ๆ คือการอาบน้ำทุกวัน และล้างสะดือให้สะอาดเพื่อไม่ให้มีสบู่ตกค้างอยู่ภายใน หรือหากมีสะดือลึกอาจใช้ก้านสำลีที่สะอาดเช็ดภายในสะดือได้ แต่ควรค่อย ๆ เช็ดอย่างอ่อนโยนเพราะภายในสะดือเป็นบริเวณที่อ่อนไหวมาก

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้นิ้วหรือของมีคมแหย่เข้าไปในสะดืออย่างรุนแรงเพื่อแคะหรือดึงขี้สะดือออกด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บตามมาได้ นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณสะดือ เช่น รอบสะดือบวมแดง รู้สึกเจ็บ มีกลิ่น หรือมีหนองไหลออกมาจากสะดือ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม