Metoclopramide (เมโทโคลพราไมด์)

Metoclopramide (เมโทโคลพราไมด์)

Metoclopramide (เมโทโคลพราไมด์) เป็นยาบำบัดอาการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งจะช่วยให้อาหารที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะเคลื่อนไปสู่ลำไส้ได้เร็วยิ่งขึ้น ใช้รักษาอาการแสบร้อนกลางอกอันเกิดจากกรดไหลย้อน และรักษาภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้าในผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน จุกแน่น แสบร้อนกลางอกหลังรับประทานอาหาร รวมทั้งรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและการฉายรังสี หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Metoclopramide มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

Metoclopramid

เกี่ยวกับยา Metoclopramide

กลุ่มยา ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และภาวะกรดไหลย้อน
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยาฉีด ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Metoclopramide

  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิด ทั้งยาที่แพทย์สั่งหรือยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะยาพาราเซตามอลยาไดจอกซิน ยาไซโคลสปอริน ยาไกลโคไพโรเลต อินซูลิน วิตามิน และสมุนไพรอื่น ๆ เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่าที่กำหนดหรือนานเกินกว่า 12 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ และไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อร่างกายได้ เช่น บริเวณลิ้น ริมฝีปาก ตา ใบหน้า แขนหรือขา โดยจะมีความเสี่ยงสูงในกลุ่มผู้ป่วยเพศหญิง ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้สูงอายุ
  • ไม่ควรใช้ยาในผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือมีประวัติเลือดออก มีรูหรือมีการอุดกั้นของกระเพาะอาหารและลำไส้ โรคลมชัก อาการชัก รวมไปถึงเนื้องอกในต่อมหมวกไต
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากเป็นโรคไต โรคตับ ภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน มะเร็งเต้านม หรือมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า
  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ หากต้องเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้
  • ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยา เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา
  • ห้ามขับรถหรือทำงานใช้เครื่องจักรที่อาจก่อให้เกิดอันตราย จนกว่าจะแน่ใจว่ายานี้ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง เพราะยา Metoclopramide อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้

ปริมาณการใช้ยา Metoclopramide

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้าในผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 2-8 สัปดาห์ หรือฉีดยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง โดยฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อหรือทางหลอดเลือดดำช้า ๆ 1-2 นาที โดยให้ยาติดต่อกันไม่เกิน 10 วัน และเปลี่ยนเป็นยารับประทานเมื่ออาการดีขึ้น

ป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังการผ่าตัด

ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อหรือทางหลอดเลือดดำ ให้ยาเข้าสู่ร่างกายช้า ๆ อย่างน้อย 3 นาที

เด็ก

อายุ 1-3 ปี หรือน้ำหนัก 10-14 กิโลกรัม ฉีดยาปริมาณ 1 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 48 ชั่วโมง

อายุมากกว่า 3-5 ปี หรือน้ำหนัก 15-19 กิโลกรัม ฉีดยาปริมาณ 2 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 48 ชั่วโมง

อายุมากกว่า 5-9 ปี หรือน้ำหนัก 20-29 กิโลกรัม ฉีดยาปริมาณ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 48 ชั่วโมง

อายุมากกว่า 9-18 ปี หรือน้ำหนัก 30-60 กิโลกรัม ฉีดยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 48 ชั่วโมง

รักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกิดจากยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 วัน

ป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกิดจากยาเคมีบำบัด
ผู้ใหญ่

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดระดับรุนแรงมาก ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม โดยฉีดให้ยาเข้าสู่ร่างกายช้า ๆ อย่างน้อย 15 หรือ 30 นาที ก่อนรักษาด้วยเคมีบำบัด และให้ยาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง จำนวน 2 ครั้ง จากนั้นให้ยาทุก 3 ชั่วโมง จำนวน 3 ครั้ง

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดระดับรุนแรงน้อย ฉีดยาปริมาณ 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม โดยใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 วัน

โรคกรดไหลย้อน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 10-15 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หรือตามความรุนแรงของอาการ หากอาการเป็น ๆ หาย ๆ อาจรับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละครั้ง โดยใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 12 สัปดาห์

ผู้สูงอายุ รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม

การใส่ท่อในลำไส้เล็ก และการให้ยาก่อนตรวจทางรังสีวิทยาในระบบทางเดินอาหารส่วนบน
ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม 1 ครั้ง โดยฉีดเป็นระยะเวลา 1-2 นาที
เด็ก อายุน้อยกว่า 6 ปี ฉีดยาปริมาณ 0.1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม 1 ครั้ง

เด็กอายุ 6-14 ปี ฉีดยาปริมาณ 2.5-5 มิลลิกรัม 1 ครั้ง

การใช้ยา Metoclopramide

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • โดยทั่วไปจะใช้ยา Metoclopramide ก่อนอาหาร 30 นาที ตอนท้องว่าง และก่อนนอน หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  • การใช้ยา Metoclopramide ชนิดยาเม็ดละลายในปาก ควรเก็บยาไว้ในแผงหรือขวดยาจนกว่าจะนำยามาใช้ และควรให้มือแห้งก่อนหยิบยา หากยาแตกหักหรือละลายในมือ ให้ทิ้งยาแล้วเปลี่ยนเป็นเม็ดใหม่ แล้วนำยาวางไว้ที่ลิ้นปล่อยให้ยาละลาย โดยห้ามเคี้ยวหรือกลืนยาทั้งเม็ด เมื่อยาละลายให้กลืนยาโดยไม่ต้องดื่มน้ำ
  • หากใช้ยา Metoclopramide ชนิดยาน้ำ ให้วัดปริมาณยาด้วยถ้วยหรือช้อนยาโดยเฉพาะ หากไม่มีช้อนยาควรสอบถามกับเภสัชกร
  • ห้ามรับประทานยา Metoclopramide ในรูปแบบแตกต่างกันพร้อมกัน
  • หลังใช้ยา Metoclopramide ผู้ป่วยอาจมีอาการถอนยา เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หรือรู้สึกตื่นกลัว ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการรับมือกับอาการดังกล่าว
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น และความร้อน โดยปิดขวดยาให้แน่นสนิทเมื่อไม่ได้ใช้ยา

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Metoclopramide

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Metoclopramide ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม หรือคอบวม
  • เคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติอย่างรุนแรง อาจเกิดขึ้นภายใน 2 วันหลังเริ่มใช้ยา ได้แก่ มือหรือขาสั่น กล้ามเนื้อใบหน้ามีการเคลื่อนไหวอย่างควบคุมไม่ได้ เช่น เคี้ยวปาก ขมวดคิ้ว กะพริบตา หรือขยับตา เป็นต้น
  • มีความรู้สึกเหมือนกำลังใส่หน้ากาก
  • กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อแข็งเกร็งมาก เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ช้า หรือมีปัญหาในการเดินและการทรงตัว
  • มีไข้สูง เหงื่อออกมาก สับสน หัวใจเต้นผิดจังหวะ สั่น หรือรู้สึกคล้ายจะหมดสติ
  • ซึมเศร้า มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตนเอง
  • หลอน วิตกกังวล หงุดหงิด กระวนกระวาย อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้
  • หายใจไม่อิ่ม มีอาการบวม และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ดีซ่าน
  • ชัก

ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้น้อย ได้แก่ กระสับกระส่าย ง่วงซึม เหนื่อย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เต้านมมีอาการกดเจ็บหรือบวม ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปัสสาวะมากกว่าปกติ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน