MBTI รู้จักบุคลิกภาพ 16 แบบที่ช่วยให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น

MBTI ย่อมาจาก Myers-Briggs Personality Type Indicator ซึ่งเป็นการแบ่งลักษณะนิสัย ความถนัด และบุคลิกภาพของคนออกเป็น 16 แบบจากการทำแบบทดสอบ ซึ่งนิยมใช้ทำความเข้าใจตัวเอง เพื่อนำไปปรับปรุงจุดด้อยและสร้างเสริมจุดเด่นในตัวเอง และอาจใช้เป็นตัวชี้วัดในสถานศึกษา ที่ทำงาน และการประเมินทางจิตวิทยาเบื้องต้นในบางกรณีอีกด้วย

MBTI เป็นแบบทดสอบที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Katharine Cook Briggs และ Isabell Briggs Myers ในช่วงปี ค.ศ. 1940 โดยได้รับแนวคิดมาจากทฤษฎีของนักจิตวิทยาชื่อ Carl Jung แบบประเมิน MBTI จะแบ่งลักษณะของบุคคลออกเป็น 4 ด้าน ด้านละ 2 ประเภทที่มีลักษณะตรงข้ามกัน โดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นตัวย่อ เมื่อทำแบบประเมินเสร็จจะได้ตัวอักษรมา 4 ตัว ซึ่งเป็นตัวย่อแทนบุคลิกภาพโดยรวม 

MBTI

MBTI และลักษณะบุคคลทั้ง 4 ด้าน  

จุดประสงค์ของการทำแบบประเมิน MBTI จะช่วยให้ผู้ที่ทำเข้าใจลักษณะนิสัย ความชอบ จุดอ่อน จุดแข็ง และการตัดสินใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ของตัวเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการใช้วิเคราะห์และพัฒนาตัวเองในการเรียน การทำงาน การเข้าสังคม และยังช่วยให้เข้าใจคนรอบตัวเพิ่มขึ้น ซึ่ง MBTI แบ่งการประเมินออกเป็น 4 ด้าน คือบุคลิกภาพ การรับรู้ข้อมูล การตัดสินใจ และวิธีการใช้ชีวิต ดังนี้

1. Extraversion (E) หรือ Introversion (I)

ในข้อนี้จะแบ่งคนตามบุคลิกภาพ หรือการใช้พลังงานของแต่ละคน ดังนี้

  • Extroversion หรือ Extrovert (E) หมายถึงคนที่ชอบใช้ชีวิตสังคม เข้ากับคนอื่นได้ง่าย ชอบอยู่ในที่ที่ได้พบปะสังสรรค์กับคนอื่น หากได้อยู่ในสถานที่เหล่านี้จะรู้สึกสดชื่นและมีพลัง
  • Introversion หรือ Introvert (I) หมายถึงคนที่ชอบใช้ชีวิตกับตัวเอง มีโลกส่วนตัวสูง สามารถเข้าสังคมและพูดคุยกับคนที่สนิทได้ แต่จะรู้สึกเหนื่อยหรือหมดพลังง่ายหากต้องอยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากหรือต้องเข้าสังคมใหม่ ๆ 

2. Sensing (S) หรือ Intuition (N)

ในข้อนี้จะแบ่งคนตามลักษณะการรับรู้ข้อมูล ดังนี้

  • Sensing (S) คือการรับรู้แบบใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งคนกลุ่มนี้จะรับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง จับต้องได้ และอยู่กับความเป็นจริง 
  • Intuition (N) คือการรับรู้โดยสัญชาตญาณ เป็นกลุ่มคนที่เชื่อในความรู้สึกของตัวเอง มักคาดเดาสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต มีความคิดริเริ่ม และมีจินตนาการสูง

3. Thinking (T) หรือ Feeling (F)

ในข้อนี้จะแบ่งคนตามกระบวนการตัดสินใจเพื่อให้ได้ข้อสรุปในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

  • Thinking (T) หมายถึงคนที่ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีแบบแผน ยึดตรรกะและความเป็นเหตุเป็นผลในการตัดสินใจ ไม่นำความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสินเรื่องราว
  • Feeling (F) หมายถึงคนที่ใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจ มีแนวโน้มที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความประนีประนอมเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ปรองดอง

4. Judging (J) หรือ Perceiving (P)

ข้อสุดท้ายจะแบ่งคนตามการดำเนินชีวิต ดังนี้

  • Judging (J) เป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างมีขั้นตอน จึงมักวางแผนชีวิตอย่างชัดเจนและเป็นระเบียบ และชอบให้ชีวิตเป็นไปตามแผนที่วางไว้ 
  • Perceiving (P) เป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างยืดหยุ่น ไม่มีการวางแผนแน่ชัด เป็นคนที่เปิดกว้างและปรับตัวได้เร็วได้ตามสถานการณ์

การทำแบบประเมิน MBTI และบุคลิกภาพ 16 แบบ

ผู้ที่สนใจสามารถทำแบบประเมิน MBTI ออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ mbtionline หรือเว็บไซต์ 16personalities ซึ่งจะเป็นแบบสอบถามที่ประกอบด้วยข้อคำถามและตัวเลือกให้ตอบตามความรู้สึกจริงของผู้ทำแบบประเมิน โดยจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที เมื่อทำแบบทดสอบแล้ว แต่ละคนจะได้ตัวอักษร 4 ตัวจากลักษณะบุคลิกภาพ 4 ข้อข้างต้น ซึ่งจัดกลุ่มตามลักษณะบุคลิกภาพทั้งหมด 16 แบบ ดังนี้

กลุ่มนักวิเคราะห์ (Analysts)

กลุ่มนักวิเคราะห์คือคนที่ทำแบบทดสอบได้ตัว N ซึ่งหมายถึงใช้สัญชาตญาณ และตัว T ซึ่งเป็นคนใช้เหตุผล ในการตัดสินใจ มีจุดเด่นคือความมีเหตุผล เป็นกลาง และความเป็นเลิศทางสติปัญญา ซึ่งประกอบด้วยบุคลิกภาพ 4 แบบ คือ

  • INTJ นักออกแบบ (The Architect) เป็นนักคิดสร้างสรรค์ผลงาน ในขณะเดียวกันก็เก่งในวางแผนคิดกลยุทธ์ ช่างสงสัยและชอบเรียนรู้ มีความสามารถพิเศษในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เป็นกลุ่มคนที่พบได้ยาก
  • INTP นักตรรกะ (The Thinker) ช่างคิด ชอบตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ มีความสงสัยใคร่รู้อยู่ตลอดเวลา ชอบทำงานคนเดียวและชอบศึกษาค้นคว้าเรื่องราวในเชิงลึก
  • ENTJ ผู้บัญชาการ (The Commander) มีความเป็นผู้นำ มั่นใจ มีความตรงไปตรงมา สามารถตัดสินใจได้เด็ดขาด และเก่งในการวางแผนจัดการ
  • ENTP นักโต้วาที (The Debater) มีแนวคิดริเริ่ม ฉลาด มีไหวพริบ ชอบอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้ถกเถียงประเด็นต่าง ๆ

กลุ่มนักการทูต (Diplomats)

กลุ่มนักการทูตคือคนที่ทำแบบทดสอบได้ตัว N ซึ่งหมายถึงใช้สัญชาตญาณ และตัว F ซึ่งเป็นคนใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจ มีจุดเด่นคือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทักษะการสื่อสาร และยึดมั่นในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดี ประกอบด้วยบุคลิกภาพ 4 แบบ คือ

  • INFJ ผู้สนับสนุน (The Advocate) ภายนอกอาจดูเงียบขรีม แต่เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีอุดมการณ์ของตัวเอง ละเอียดอ่อน จับความรู้สึกคนรอบข้างได้ดี และเอาใจใส่ผู้อื่น จัดเป็นบุคลิกภาพที่หายยากที่สุด
  • INFP ผู้ไกล่เกลี่ย (The Mediator) เป็นคนที่ใจดี มีความฝัน ช่างจินตนาการ ชอบช่วยเหลือผู้อื่นและสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับสังคม 
  • ENFJ ผู้เป็นตัวเอก (The Protagonist) มีสเน่ห์ เข้าใจผู้อื่นเก่ง มีความซื่อตรง สามารถสร้างแรงบันดาลใจและให้คำแนะนำแก่ผู้อื่นได้ เหมาะกับการเป็นครูหรือผู้ให้ปรึกษา
  • ENFP นักรณรงค์ (The Campaigner) กระตือรือร้น มีพลัง เข้ากับคนง่าย สามารถพาให้คนมารวมกันเพื่อไปสู่เป้าหมายที่มีร่วมกันได้ ชอบอยู่ในสถานที่ที่ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์

กลุ่มผู้พิทักษ์ (Sentinels)

กลุ่มผู้พิทักษ์คือคนที่ทำแบบทดสอบได้ตัว S ซึ่งเป็นคนที่รับข้อมูลโดยใช้ข้อเท็จจริง และตัว J ซึ่งใช้ชีวิตอย่างมีแบบแผนมีจุดเด่นคือความมุ่งมั่นในการลงมือทำ ชื่นชอบความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง ซึ่งประกอบด้วยบุคลิกภาพ 4 แบบ คือ

  • ISTJ นักคำนวณ (The Logistician) เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ มีเหตุผล อยู่กับหลักความจริง และมีระเบียบแบบแผน ชอบใช้ชีวิตตามแผนที่วางไว้ 
  • ISFJ ผู้พิทักษ์ (The Defender) จิตใจดี อบอุ่น รักและซื่อสัตย์กับครอบครัว เจ้านาย และคนรอบข้าง ใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบและรับผิดชอบต่อสังคม
  • ESTJ ผู้บริหาร (The Executive) มีภาวะความเป็นผู้นำสูง ยึดมั่นในกฏระเบียบ  บริหารจัดการคนเก่ง และเป็นคนที่ทำงานหนัก
  • ESFJ ผู้ให้คำปรึกษา (The Consultant) จิตใจอ่อนโยน ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีระเบียบ และเข้ากับคนอื่นง่าย จึงเป็นที่รักของผู้คน

กลุ่มนักสำรวจ (Explorers)

กลุ่มนักสำรวจคือคนที่ทำแบบทดสอบได้ตัว S ซึ่งเป็นคนที่รับข้อมูลโดยใช้ข้อเท็จจริง และตัว P ซึ่งใช้ชีวิตไปตามสถานการณ์ มีจุดเด่นคือความเป็นธรรมชาติ ความยืดหยุ่น และมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วยบุคลิกภาพ 4 แบบ คือ

  • ISTP ผู้มีความสามารถโดดเด่น (The Virtuoso) มีความเป็นอิสระสูง เป็นนักคิดและแก้ปัญหาด้วยการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง เก่งเรื่องการใช้เครื่องมือต่าง ๆ
  • ISFP นักผจญภัย (The Adventurer) ซื่อสัตย์ เป็นมิตร ใจเย็น ชื่นชอบงานศิลปะและธรรมชาติ ชอบอยู่กับปัจจุบัน และจดจ่อกับงานที่ได้ลงมือทำจริง
  • ESTP ผู้ประกอบการ (The Enterpreneur) อัธยาศัยดี ชอบอยู่กับคนอื่น มีสเน่ห์ มีความเป็นผู้นำในการตัดสินใจที่เด็ดขาด ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน
  • ESFP ผู้มอบความบันเทิง (The Entertainer) มองโลกในแง่ดี ชอบเข้าสังคม มีความเป็นธรรมชาติสูง คุยสนุกและมีอารมณ์ขัน จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน

ประโยชน์และจุดด้อยเกี่ยวกับ MBTI 

MBTI อาจนำมาใช้ในการประเมินตามสถานศึกษาและสถานที่ทำงานบางแห่ง โดยช่วยบอกบุคลิก นิสัย และแนวโน้มพฤติกรรมของบุคคล ซึ่งอาจช่วยในการพัฒนาตนเองและเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองได้ รวมทั้งอาจใช้ในสถานพยาบาลในบางกรณี เช่น ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าใจลักษณะนิสัยและความคิดของผู้ป่วย ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการพูดคุยและการทำความเข้าใจผู้ป่วย เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การทำแบบทดสอบ MBTI เป็นการตอบคำถามที่จำกัดตัวเลือกในการตอบ และจัดคนให้อยู่ในประเภทที่สุดโต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งอาจไม่สะท้อนบุคลิกนิสัยที่แท้จริงที่อาจมีการผสมผสานลักษณะนิสัยหลายแบบในคนเดียวกัน และคำตอบของผู้ทำแบบทดสอบอาจเปลี่ยนแปลงได้ภายในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่สัปดาห์ จึงอาจให้ผลที่ไม่แม่นยำนัก

นอกจากนี้ งานวิจัยพบว่าการจำแนกบุคลิกภาพของคนเพียง 16 แบบ ไม่เพียงพอต่อความหลากหลายของบุคคล และยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือที่แนะนำให้ใช้ MBTI เป็นตัวชี้วัดลักษณะของบุคคลและการคัดกรองคนในการทำงาน

MBTI เป็นเพียงแบบประเมินที่อาจช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและคนรอบข้างได้ดีขึ้น การทราบจุดอ่อน จุดแข็ง และเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะช่วยในการพัฒนาตัวเองและจัดการสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี การทำแบบประเมินนี้ไม่สามารถใช้วินิจฉัยปัญหาสุขภาพจิตใด ๆ ได้ และไม่สามารถนำมาตัดสินว่าบุคลิกภาพแบบใดดีกว่าคนอื่น เพราะทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเองไม่ว่าจะมีบุคลิกภาพแบบใดก็ตาม