Griseofulvin (กริซีโอฟูลวิน)

Griseofulvin (กริซีโอฟูลวิน)

Griseofulvin (กริซีโอฟูลวิน) เป็นยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานที่มีฤทธิ์ช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยมักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาชนิดครีมหรือโลชั่น ช่วยรักษาการติดเชื้อราตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผิวหนัง หนังศีรษะ เล็บ และใช้รักษาโรคกลาก แต่ไม่สามารถใช้รักษาการติดเชื้อที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ หรือไวรัสได้

Griseofulvin

ยา Griseofulvin มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Griseofulvin

กลุ่มยา ยาต้านเชื้อรา
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ศีรษะ และเล็บ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Griseofulvin

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Griseofulvin หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ ยาเพนิซิลลิน รวมถึงยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากเป็นโรคตับ โรคพอร์ฟีเรีย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการขาดเอนไซม์ที่ใช้สร้างสารสำคัญในเลือด หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากกำลังใช้ยา วิตามิน อาหารเสริม หรือสมุนไพรชนิดใดก็ตาม โดยเฉพาะยาที่มีฤทธิ์ป้องกันการแข็งตัวของเลือดอย่างยาวาร์ฟาริน
  • ห้ามใช้ยานี้ หากกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ เพราะการใช้ยา Griseofulvin ในช่วง 3 เดือน แรกของการตั้งครรภ์อาจส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือทำให้พิการแต่กำเนิดได้ และหากตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ยานี้ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ยานี้อาจทำให้การใช้ยาคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพลดลง ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช้ฮอร์โมน เช่น ถุงยางอนามัย ห่วงคุมกำเนิด เป็นต้น เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ยานี้
  • ผู้ที่จำเป็นต้องให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • ห้ามใช้ยา Griseofulvin กับเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หรือเด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 15 กิโลกรัม
  • ผู้ชายไม่ควรวางแผนมีบุตรภายใน 6 เดือน หลังจากใช้ยานี้
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด เพราะยาอาจทำให้ผิวไวต่อแสง ผู้ป่วยควรสวมเสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องผิวหนังและทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป เมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง
  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้

ปริมาณการใช้ยา Griseofulvin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคกลา

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 0.5-1 กรัม/วัน วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทานหลายครั้ง สำหรับการติดเชื้อที่หนังศีรษะและผิวหนัง ใช้ระยะเวลาในการรักษา 2-8 สัปดาห์ สำหรับการติดเชื้อที่เล็บ ใช้ระยะเวลาในการรักษา 6 เดือน และสำหรับการติดเชื้อที่เล็บเท้า ใช้ระยะเวลาในการรักษา 12 เดือนขึ้นไป

เด็ก รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานหลายครั้ง

การใช้ยา Griseofulvin

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ก่อนรับประทานยาชนิดสารละลายให้เขย่าขวดทุกครั้ง และควรวัดปริมาณยาด้วยช้อนหรือถ้วยตวงสำหรับยาโดยเฉพาะ
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ควรใช้ยานี้ให้ครบกำหนดตามที่แพทย์สั่ง โดยอาจต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ก่อนที่อาการจะดีขึ้น ส่วนการติดเชื้อที่เล็บอาจใช้เวลานานหลายเดือน
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Griseofulvin

การใช้ยา Griseofulvin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ าเจียน เวียนศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสีย อ่อนเพลีย กระหายน้ำ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Griseofulvin ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • มีไข้ เจ็บคอ หนาวสั่น มีอาการคล้ายหวัด เกิดผื่นผิวหนัง ผื่นคัน มีปื้นขาวหรือแผลในปากหรือบนริมฝีปาก เจ็บหรือระคายเคืองบริเวณปาก
  • สับสน มีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน
  • ตับทำงานผิดปกติ อาจทำให้มีอาการ เช่น คัน ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ ปวดท้องส่วนบน อ่อนเพลีย สับสน มีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด และดีซ่าน
  • มีกลุ่มอาการคล้ายโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น ปวดข้อ ข้อบวมพร้อมกับมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม เจ็บกล้ามเนื้อ เจ็บหน้าอก อาเจียน สีผิวไม่สม่ำเสมอ ความคิดหรือพฤติกรรมผิดปกติ เป็นต้น
  • อาการแพ้ยาทางผิวหนัง ได้แก่ มีไข้ เจ็บคอ หน้าบวม ลิ้นบวม แสบตา ปวดตามผิวหนัง มีผื่นแดงหรือม่วงกระจายตามร่างกายจนทำให้เกิดแผลพุพองและผิวลอกตามมา

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน