ภาวะวิตกกังวลทั่วไป (GAD)

ความหมาย ภาวะวิตกกังวลทั่วไป (GAD)

GAD (Generalized Anxiety Disorder) หรือภาวะวิตกกังวลทั่วไป เป็นภาวะทางจิตใจที่ส่งผลกระทบเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีความเครียดหรือกังวลมากไปในหลาย ๆ เรื่อง บางครั้งอาจไม่สามารถระบุสาเหตุของความกังวลได้ ส่งผลให้นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ และอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้อาจมาจากหลายปัจจัย เช่น ความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง พันธุกรรม สภาพแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งมักพบภาวะ GAD ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อาการของภาวะวิตกกังวลทั่วไป

อาการของ GAD จะแตกต่างกันไปตามบุคคล โดยผู้ป่วยจะมีอาการทางจิตใจและทางร่างกาย ดังนี้

  • อาการทางจิตใจ
    ผู้ป่วยอาจมีความกังวลในหลาย ๆ เรื่องเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป บางครั้งอาจไม่สามารถระบุสาเหตุของความกังวลได้ อาจมีอาการตื่นตระหนก กลัว ไม่สบายใจ หงุดหงิด ประหม่า เครียด ไม่มีสมาธิ พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม และขาดความมั่นใจในตัวเองด้วย
  • อาการทางร่างกาย
    ผู้ป่วยมักมีอาการนอนไม่หลับ ปวดตึงกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดท้องหรือท้องเสีย มีเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ตัวสั่น หายใจถี่ อาจรู้สึกชา รู้สึกเจ็บเสียว หรือเจ็บเหมือนถูกเข็มแทง

1906 GAD rs

สาเหตุของภาวะวิตกกังวลทั่วไป

แม้สาเหตุของ GAD จะยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • สารเคมีในสมอง GAD อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองบางชนิด อย่างเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งมีผลต่อการควบคุมอารมณ์
  • พันธุกรรม GAD อาจถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูกได้ หากพ่อหรือแม่มีอาการของภาวะนี้ ลูกอาจมีโอกาสเป็นไปด้วยสูงถึง 5 เท่า
  • บุคลิกภาพและลักษณะนิสัย เช่น ความแตกต่างในด้านการเลี้ยงดู พัฒนาการและบุคลิกภาพส่วนบุคคล เป็นต้น
  • สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่ตึงเครียด เช่น อยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดเป็นเวลานาน เจ็บป่วยในระยะยาว ได้รับบาดเจ็บ หรือประสบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างความรุนแรงในครอบครัว ถูกล่วงละเมิด ถูกกลั่นแกล้ง หรือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นต้น
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การบริโภคเครื่องดื่มคาเฟอีน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด เป็นต้น
  • โรคหรือภาวะที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดเป็นเวลานาน เช่น โรคข้ออักเสบ เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะวิตกกังวลทั่วไป

ในเบื้องต้น แพทย์อาจสอบถามเกี่ยวกับอาการ ความกังวล ความกลัว อารมณ์ รวมถึงการใช้ชีวิตส่วนตัวของผู้ป่วย เพื่อให้วินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อตัดสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความกังวลออกไป เช่น เจ็บป่วยด้วยโรคกรดไหลย้อน โรคหัวใจ มีความผิดปกติของระดับแคลเซียม ระดับน้ำตาลในเลือด ต่อมไทรอยด์ ต่อมไร้ท่ออื่น ๆ อยู่ในวัยหมดประจำเดือน รวมถึงใช้ยารักษาต่าง ๆ อยู่ เป็นต้น

โดยแพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

  • ตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เกลือแร่ และตรวจหาภาวะโลหิตจาง
  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาสารเสพติดภายในร่างกาย
  • เอกซเรย์ เพื่อตรวจดูความผิดปกติภายในร่างกาย ทั้งระบบทางเดินอาหารและหัวใจ
  • ส่องกล้องตรวจ เป็นการตรวจพิเศษโดยใช้กล้องส่องเข้าไปยังหลอดอาหาร เพื่อตรวจดูความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารและการเกิดโรคกรดไหลย้อน
  • ตรวจสมรรถภาพหัวใจ อาจตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของหัวใจ
  • ใช้แบบสอบถามทางจิตวิทยา เช่น การวินิจฉัยตามคู่มือ DSM-5 ซึ่งเป็นคู่มือสำหรับวินิจฉัยอาการผิดปกติทางจิตต่าง ๆ โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน เป็นต้น

การรักษาภาวะวิตกกังวลทั่วไป

การรักษา GAD ขึ้นอยู่กับผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยด้วย ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • การบำบัดทางจิต หรือ Psychotherapy เป็นการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาเมื่อเกิดความวิตกกังวลขึ้น และอาจเข้าร่วมกลุ่มบำบัดภายใต้การดูแลของจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
  • การบำบัดแบบปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม หรือ Cognitive-Behavioral Therapy เป็นการรักษาทางจิตใจ เพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมบางอย่างที่อาจส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึก
  • การใช้ยา แพทย์อาจให้ยาระงับอาการวิตกกังวลกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน เช่น ยาอัลปราโซแลม ยาโคลนาซีแพม และยาลอราซีแพม เป็นต้น แต่ยาเหล่านี้มักส่งผลในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งบางครั้งแพทย์ก็อาจให้ยาบิวส์ไปโรน ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายกันแต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าและไม่ทำให้เกิดการเสพติด นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาที่มีผลต่อระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนินอย่างกลุ่มยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนินในสมองเพื่อช่วยในการรักษาในระยะยาว แต่ยาดังกล่าวก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปากแห้ง คลื่นไส้ อุจจาระร่วง เป็นต้น
  • การใช้เครื่องมือตรวจไบโอฟีดแบค หรือ Biofeedback เป็นการใช้เครื่องมือในการอ่านข้อมูลทางร่างกายโดยวิธีการบันทึกคลื่นไฟฟ้าในสมอง เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้และฝึกควบคุมการทำงานของร่างกาย

แม้ผู้ที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่มักควบคุมระดับความวิตกกังวลได้ดีขึ้น แต่ผู้ป่วยก็ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้อาการต่าง ๆ แย่ลงได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีด้วย เช่น ออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะวิตกกังวลทั่วไป

เนื่องจากผู้ป่วย GAD มักรู้สึกวิตกกังวล กลัว และไม่มีสมาธิ จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง สูญเสียพลังงาน ทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ไมเกรน นอนไม่หลับ โรคหัวใจ โรคแพนิค โรคกลัวแบบจำเพาะ โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีพฤติกรรมติดสารเสพติด และบางกรณีอาจนำไปสู่การคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายได้ ซึ่งอาจมีสัญญาณบ่งบอกอย่างการพูดถึงเรื่องความตาย การหาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีฆ่าตัวตาย หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน หรืออารมณ์แปรปรวนอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น หากผู้ป่วยมีความคิดฆ่าตัวตายหรือผู้ที่ใกล้ชิดพบเห็นพฤติกรรมเสี่ยงที่เข้าข่ายการพยายามฆ่าตัวตาย ควรรีบขอความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาจากจิตแพทย์ทันที โดยผู้ป่วยสามารถปรึกษาบุคคลใกล้ชิดที่ไว้วางใจหรือขอรับคำปรึกษาผ่านการโทรไปที่เบอร์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

การป้องกันภาวะวิตกกังวลทั่วไป

แม้ GAD จะไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจควบคุมหรือบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด
  • ดูแลสุขภาพ โดยออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ฝึกทำจิตใจให้ผ่อนคลาย รู้จักปล่อยวาง อาจนั่งสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบมากขึ้น
  • เขียนบันทึกประจำวันเกี่ยวกับความรู้สึกและชีวิตส่วนตัว เพื่อเฝ้าสังเกตพฤติกรรมและความคิดของตัวเองอยู่เสมอ
  • ฝึกจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต
  • พูดคุยกับเพื่อนสนิทหรือสมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับความวิตกกังวลและปัญหาต่าง ๆ
  • หากพบว่ามีความวิตกกังวลอยู่บ่อยครั้งโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน หรือความรู้สึกดังกล่าวรบกวนการใช้ชีวิต ควรรีบไปพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อขอรับคำแนะนำ