สัญญาณเตือนเสี่ยงฆ่าตัวตายและวิธีการรับมือ

การฆ่าตัวตายเป็นเหตุการณ์เศร้าที่พบเห็นได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน การฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชีวิต ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลจากการใช้สารเสพติด ผลข้างเคียงจากยา การถูกกลั่นแกล้ง หรือแม้แต่ภาวะผิดปกติทางอารมณ์ อย่างภาวะซึมเศร้าและโรควิตกกังวล

การฆ่าตัวตายเป็นการจบชีวิตของตนเองลงด้วยการกระทำใด ๆ ก็ตาม แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น คนที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายมักมีสัญญาณบ่งบอกล่วงหน้าทั้งด้านความคิดและพฤติกรรม เช่น พูดถึงการทำร้ายตัวเอง ความสิ้นหวัง ตัดพ้อเกี่ยวกับชีวิต และอีกหลายอาการ ซึ่งเราอาจป้องกันเหตุการณ์น่าสะเทือนใจได้อย่างทันท่วงทีหากสังเกตเห็นสัญญาณผิดปกติ

Wide,Shot,Young,Adult,Asian,Loneliness,Sad,Man,Sitting,On

สถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศไทย

ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รายงานจากปี พ.ศ. 2561 พบว่ามีคนฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 4,137 คนในปีนั้น หรือเฉลี่ยราว 11.3 คนต่อวัน

ระยะหลังสังคมไทยให้ความสำคัญเกี่ยวกับภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายมากขึ้น เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคบุคลิกชนิดก้ำกึ่ง (Borderlined Personality Disorder) รวมถึงการฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุอื่น จึงช่วยให้คนตระหนักรู้เกี่ยวกับอาการของภาวะทางอารมณ์ และอีกหลายคนที่เข้าข่ายมีภาวะความผิดปกติดังกล่าวก็เข้าใจในอาการของตนเองมากขึ้นและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม การฆ่าตัวตายไม่ได้มีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางอารมณ์เพียงอย่างเดียว ความคิดฆ่าตัวตายและการฆ่าตัวตายอาจเป็นผลมาจากการเผชิญเหตุการณ์รุนแรงที่ส่งผลต่อจิตใจอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุ การสูญเสียคนรัก หย่าร้าง ตกงาน การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกบูลลี่จากเพื่อนในวัยเดียวกัน รวมถึงผลจากการใช้สารเสพติ หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์หรือป่วยเป็นโรคอะไร การสังเกตพฤติกรรมและความคิดของคนรอบตัวอาจช่วยป้องกันหรือลดความรุนแรงจากการฆ่าตัวตายได้

สัญญาณการฆ่าตัวตาย

ความคิดฆ่าตัวตายอาจเกิดขึ้นฉับพลันหรือค่อย ๆ เกิดขึ้น และระยะเวลาความรู้สึกจะแตกต่างกันในแต่ละคน โดยเมื่อเวลาผ่านไปจะยิ่งรุนแรงหรือลดลงก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้นความรู้สึกดังกล่าวมักเป็นความรู้สึกที่ยากต่อการต่อต้านและครอบงำจิตใจ ไม่ว่าจะเกิดในลักษณะไหนก็ล้วนแต่เป็นอันตรายทั้งสิ้น

ก่อนการฆ่าตัวตายหรือเมื่อเกิดภาวะผิดปกติทางอารมณ์ในระดับที่รุนแรง คนที่มีความคิดฆ่าตัวตายมักส่งสัญญาณบางอย่างออกมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งแบ่งสัญญาณของการฆ่าตัวตายแบบกว้าง ๆ ได้ 2 ด้านดังนี้

ความคิดและอารมณ์

ความคิด อารมณ์ และความรู้สึกเป็นสิ่งแรกที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อต้องเผชิญกับความเครียด ความโศกเศร้า และปัญหาต่าง ๆ โดยผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอาจมีความคิดและความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงดังนี้

  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย และวิตกกังวล
  • ร้องไห้ไม่หยุดและดิ่งอยู่ในอารมณ์ด้านลบ อย่างความเศร้าหรือความรู้สึกผิด
  • รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า เป็นภาระ ไม่เป็นที่ต้องการ หรือไม่รู้ว่าตัวเองมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร
  • รู้สึกเจ็บปวดใจหรือทุกข์ทรมาน เมื่อรู้สึกว่าหาทางออกไม่ได้
  • รู้สึกอยากยุติความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจ
  • รู้สึกหมกมุ่นอยู่กับความเจ็บปวด ความรุนแรง การทำร้ายตัวเอง และความตาย
  • รู้สึกว่าความตายเป็นทางออกเดียว

พฤติกรรม

การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและอารมณ์จากความรู้สึกด้านลบอาจนำไปสู่การแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น

  • พูดถึงการฆ่าตัวตายหรือตัดพ้อ เช่น รู้สึกอยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว ตาย ๆ ไปให้มันจบ ๆ หรือไม่น่าเกิดมาเลย เป็นต้น บางคนอาจมีประโยคหรือคำพูดอื่น ๆ ที่ไม่ได้พูดถึงการฆ่าตัวตายโดยตรง แต่อาจพูดในลักษณะอื่นแทน อย่างลาก่อน โชคดีนะ หรือคงไม่ได้เจอกันอีกแล้ว
  • ซื้ออุปกรณ์หรือของใช้สำหรับการฆ่าตัวตาย เช่น ยาปริมาณมาก ยาฆ่าแมลง เชือก หรืออุปกรณ์อื่น ๆ
  • เก็บตัว ไม่พบปะหรือพูดคุยกับคนรอบข้างเหมือนอย่างเคย
  • การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เช่น เบื่ออาหารหรือกินมากว่าปกติ นอนมากหรือน้อยกว่าปกติ ปล่อยตัว ไม่สนใจสุขภาพ และการดูแลตนเอง
  • ทำกิจกรรมที่เคยชื่นชอบหรือสนใจน้อยลง
  • ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้ยาเสพติดมากขึ้น
  • ให้สิ่งของหรือทรัพย์สินของตัวเองกับคนอื่นโดยไม่มีเหตุผล
  • มีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเองทางอ้อม เช่น ไม่รักษาตัวเมื่อป่วย ใช้ยาเกินขนาด หรือเมาแล้วขับ

นอกจากนี้คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ คนที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ คนติดยาหรือติดแอลกอฮอล์ คนที่ใช้ยาต้านเศร้า คนติดการพนัน คนที่กำลังเผชิญกับปัญหาครอบครัวและปัญหาการเงิน และคนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงอาจมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายสูงขึ้น รวมถึงผู้ที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วด้วย โดยจากการศึกษาพบว่าผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง

หลายครั้งที่การฆ่าตัวตายสำเร็จมีสาเหตุมาจากคนรอบข้างไม่ทันสังเกตเห็นหรือไม่สนใจคำพูด ความคิด หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนคิดฆ่าตัวตาย เช่น เมื่อเพื่อนสนิทที่ปกติร่าเริงพูดว่าอยากตาย หลายคนอาจไม่สนใจหรือคิดว่าพูดเล่นจึงหยอกล้อคำพูดนั้น สุดท้ายจึงนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ด้วยเหตุนี้คำพูดและพฤติกรรมจึงเป็นสัญญาณสำคัญที่อาจทำให้เราช่วยเหลือคนที่รักได้

วิธีรับมือเมื่อเกิดความคิดฆ่าตัวตาย

คนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายอาจรู้สึกว่าไม่สามารถบอกเล่าหรือปรึกษาใครได้ กลัวว่าคนอื่นไม่เข้าใจ กลัวถูกคนอื่นตัดสิน หรือรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระคนอื่น ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้อาจทำให้ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างและยิ่งทำให้ความรู้สึกด้านลบรุนแรงขึ้น

แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อมีความรู้สึกนี้เกิดขึ้น ควรรีบติดต่อเพื่อน คนรัก ครอบครัว ครู หรือคนรู้จัก หากรู้สึกว่าตนเองไม่มีใคร สามารถโทรไปสายด่วน 1323 ที่มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาที่ถูกต้องเพื่อรับมือกับรู้สึกดังกล่าว รวมถึงการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

วิธีช่วยคนที่กำลังจะฆ่าตัวตาย

หากพบเห็นคนกำลังจะฆ่าตัวตาย ควรโทรแจ้งตำรวจ รถพยาบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที หลังจากนั้นควรทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เกลี้ยกล่อมผู้ที่อยากฆ่าตัวตายให้ใจเย็น อยู่เป็นเพื่อน และรับฟังปัญหาของเขา
  • ทิ้งหรือเก็บสิ่งของที่อาจใช้ฆ่าตัวตายให้พ้นจากบริเวณนั้น
  • เมื่อผู้ที่อยากฆ่าตัวตายรู้สึกสงบและใจเย็นลง ควรเกลี้ยกล่อมหรือพาไปพบแพทย์

ความคิดฆ่าตัวตายอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีสัญญาณใด ๆ หากพบเห็นคนที่กำลังลงมือ ควรให้ความช่วยเหลือทุกครั้ง เพราะความรู้สึกดังกล่าวอาจไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงและบุคคลนั้นอาจต้องการความช่วยเหลือและแรงสนับสนุนจากคนอื่น รวมถึงการรักษาและวิธีการรับมือกับอารมณ์อย่างถูกต้อง

ความเครียด ความเศร้า ความผิดหวัง ไม่ว่าจะจากเรื่องใดก็สามารถเกิดได้กับคนทุกคน ดังนั้นควรหมั่นตรวจสอบความพร้อมของสภาพจิตใจอยู่เสมอ การขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างเป็นสิ่งที่ทำได้ และอย่ากลัวการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา เพราะการไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากความรู้สึกทางลบ ไม่ได้แปลว่าป่วยหรือบ้าเสมอไป ในทางกลับกัน ผู้เชี่ยวชาญสามารถให้คำแนะนำและวิธีการรับมือที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรู้สึกดังกล่าวและเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในก้าวต่อไปด้วย

นอกจากนี้ควรดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจให้ดีด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ และทำกิจกรรมลดความเครียด เช่น ทำงานอดิเรก ออกกำลังกาย หรือเล่นโยคะ แต่หากเริ่มรู้สึกว่าตนเองเครียด ท้อแท้ สิ้นหวัง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมในข้างต้น ควรไปพบแพทย์ทันที