Finger food เป็นคำที่หลายคนอาจไม่คุ้นหูนัก แต่อาจเป็นที่รู้จักดีในกลุ่มคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ โดยความหมายของ Finger food คือ อาหารที่มีขนาดพอดีคำที่ลูกน้อยสามารถหยิบจับหรือตักรับประทานเองได้ อาจเรียกได้ว่าเป็นอาหารเสริมพัฒนาการ ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ รวมทั้งให้เจ้าตัวเล็กได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ผ่านการฝึกรับประทานด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหาร Finger food ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง ในบทความนี้จึงได้รวบรวมอาหารที่เหมาะสำหรับทารก รวมถึงความเสี่ยงที่คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังมาให้ได้ศึกษากัน
โดยปกติแล้ว ทารกในช่วงอายุ 8-9 เดือนจะส่งสัญญาณให้คุณพ่อคุณแม่ทราบว่าพวกเขาพร้อมแล้วสำหรับการเริ่มหัดรับประทานอาหารด้วยตนเอง โดยสังเกตได้จากการที่เขามักคว้าที่ใช้ช้อนป้อน หรือคว้าอาหารในจาน ซึ่งการใช้มือหยิบอาหารด้วยตนเองนั้น จะพัฒนาการทำการงานและสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกน้อย จนสามารถรับประทานอาหารด้วยตนเองได้ในที่สุด
Finger food ที่เหมาะสำหรับลูกน้อยควรเป็นอย่างไร ?
อาหารสำหรับเด็กในการหัดรับประทานควรเป็นอาหารที่มีขนาดพอดีคำหรือเป็นขนาดที่ทารกสามารถรับประทานได้ง่าย โดยนอกจากขนาดของชิ้นอาหารแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงลักษณะอื่น ๆ ของอาหาร อย่างปริมาณ ความนิ่ม และความหนืด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเคี้ยว การกลืน และเสี่ยงที่จะทำให้ลูกน้อยสำลัก
โดยตัวอย่างอาหาร Finger food อาจมี ดังนี้
- ไข่กวน ไข่คน หรือไข่ต้มสุกหั่นพอดีคำ
- ผลไม้เนื้อนิ่มหั่นชิ้นเล็ก ๆ อย่างกล้วย มะม่วง มะละกอ อะโวคาโด แตงโมที่นำเมล็ดออก
- ผักต้มจนนิ่มหั่นพอดีคำ เช่น ดอกกะหล่ำ บร็อคโคลี่ หรือมันเทศ เป็นต้น
- เส้นพาสต้าลวกจนนิ่มหั่นชิ้นพอดีคำ
- ขนมปังธัญพืชไม่ขัดสีหั่นเป็นชิ้นเล็ก
- เนื้อไก่หรือเนื้อปลาที่นำกระดูกหรือก้างออกแล้วชิ้นเล็ก
- ซุปข้น หรือ Puree มักทำจากเนื้อหรือผักต้มนำมาบดและเคี่ยวจนข้น
- เต้าหู้นิ่มหั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า
อาหารที่ไม่ควรนำมาเป็น Finger food
ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีขนาดใหญ่ แข็ง และเหนียวเพราะอาจทำให้เด็กเล็กเกิดการสำลักได้ ซึ่งอาหารที่คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยง เช่น ผักสด ผลไม้เนื้อแข็ง ถั่วเปลือกแข็ง ชีสแท่ง เนื้อองุ่นหรือผลไม้ตระกูลเบอร์รี่แบบเต็มผล ลูกอม และขนมขบเคี้ยว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกน้อยรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อย่างอาหารหมักดอง อาหารแปรรูป หรืออาหารน้ำตาลสูง และไม่ควรเติมเครื่องปรุงลงไปในอาหารของลูกน้อย รวมทั้งให้ทารกรับประทานอาหารสดใหม่เสมอ
สิ่งที่ควรระวังเมื่อลูกน้อยหัดรับประทานด้วยตนเอง
สิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดสำหรับลูกน้อยในการหัดรับประทานอาหารด้วยตนเองคือการสำลักอาหาร ซึ่งนอกจากการระมัดระวังลักษณะอาหาร และจับตามองขณะรับประทานแล้ว ผู้ปกครองยังควรศึกษาเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเมื่อทารกสำลัก ไม่ปล่อยให้ทารกรับประทานอาหารโดยลำพังอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ หากทารกมีอาการผิดปกติหลังจากการรับประทานอาหาร ควรพาไปพบแพทย์ทันที
สุดท้ายนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตพัฒนาการของทารกเพื่อปรับเปลี่ยนอาหาร โดยเมื่อเวลาผ่านไป อาหารควรมีลักษณะที่แข็งขึ้น เหนียวขึ้น หรือหยาบขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกน้อย อย่างจำนวนฟัน ทักษะการเคี้ยว การกลืน และการหยิบจับสิ่งของ ซึ่งจะช่วยให้ลูกน้อยสามารถพัฒนาการรับประทานได้ตามวัย