Echocardiogram การทำเอ็กโคหัวใจเป็นอย่างไร ?

Echocardiogram หรือ Echocardiography หรือที่มักเรียกกันว่า เอ็กโค เป็นวิธีการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ใช้ตรวจโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจ ภาวะหัวใจวาย และภาวะหัวใจขาดเลือด เป็นต้น เพื่อช่วยให้แพทย์ทราบปัญหาและทำการรักษาได้อย่างถูกวิธี

1773 Echocardiogram rs

ทำความรู้จักกับ Echocardiogram

Echocardiogram คือ การใช้คลื่นเสียงที่มีความถี่สูงเพื่อจำลองภาพเคลื่อนไหวที่บ่งบอกถึงลักษณะและขนาดของหัวใจ นอกจากนี้ ผลการตรวจยังสามารถบอกได้ถึงการทำงานของหัวใจ อย่างการทำงานของห้องหัวใจต่าง ๆ และลิ้นหัวใจ การสูบฉีดเลือด รวมถึงปัญหาและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ เช่น ตำแหน่งกล้ามเนื้อหัวใจที่ทำงานผิดปกติเนื่องจากการสูบฉีดเลือดไม่ดี ตำแหน่งของกล้ามเนื้อหัวใจที่เคยได้รับบาดเจ็บจากภาวะหัวใจวาย ปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงที่มีหน้าที่สูบฉีดเลือดเข้าสู่หัวใจ ปัญหาลิ่มเลือดภายในหลอดเลือดหัวใจ การมีของเหลวในเยื่อหุ้มหัวใจ การเกิดเนื้องอก และการติดเชื้อที่เกิดขึ้นบริเวณลิ้นหัวใจ เป็นต้น โดยวิธีการนี้ยังใช้ตรวจจับความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจของเด็กและทารกได้เช่นกัน

Echocardiogram มีกี่ชนิด ?

การทำ Echocardiogram มีด้วยกันหลายชนิด โดยแต่ละแบบจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับหัวใจแตกต่างกันออกไป ซึ่งการตรวจแบบ Transthoracic Echocardiogram เป็นแบบมาตรฐานที่นิยมใช้มากที่สุด เพราะไม่ทำให้เจ็บปวดและไม่มีการผ่าตัดใด ๆ โดยจะใช้หัวตรวจวางไว้บนหน้าอกเพื่อส่งคลื่นความถี่สูงผ่านผนังหัวใจ จากนั้นจะส่งสัญญาณกลับมาที่คอมพิวเตอร์แล้วแปลงเป็นภาพเพื่อนำไปประกอบการวินิจฉัย

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจ Echocardiogram ชนิดอื่น ๆ ด้วย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • การตรวจแบบ Transesophageal Echocardiogram จะใช้ในกรณีที่แพทย์ตรวจแบบมาตรฐานแล้วแต่ไม่สามารถมองเห็นภาพหัวใจของผู้ป่วยได้ชัดเจน หรือใช้เมื่อต้องการเห็นรายละเอียดของหัวใจและลิ้นหัวใจมากขึ้น โดยแพทย์จะใช้ยาระงับประสาทเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและลดความรู้สึกในระหว่างการตรวจ จากนั้นจึงใส่ท่อเข้าไปทางปากแล้วหย่อนลงไปจนถึงหลอดอาหาร เพื่อให้ได้ภาพและรายละเอียดของหัวใจอย่างชัดเจน ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องพักฟื้นหลังการตรวจจนกว่าจะสิ้นฤทธิ์ของยาระงับประสาทจึงสามารถกลับบ้านได้
  • การตรวจแบบ Stress Echocardiogram เป็นการตรวจหัวใจร่วมกับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย เนื่องจากความผิดปกติของหัวใจบางชนิดจะตรวจพบได้ง่ายกว่าเมื่อหัวใจเต้นเร็วและทำงานอย่างหนัก เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าและสวมรองเท้าที่สะดวกต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายได้มากนัก แพทย์อาจใช้การตรวจรูปแบบนี้ร่วมกับการใช้ยาฉีดกระตุ้นการทำงานของหัวใจ
  • การตรวจแบบ Doppler Echocardiogram เป็นการตรวจวัดความเร็วและทิศทางของกระแสเลือดในหัวใจที่มักใช้ในการตรวจแบบ Transthoracic Echocardiogram และแบบ Transesophageal Echocardiogram ทั้งยังสามารถใช้ตรวจการไหลเวียนโลหิตและความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงของหัวใจที่การตรวจแบบอัลตราซาวด์ไม่สามารถตรวจพบได้
  • การตรวจ Echocardiogram แบบ 3 มิติ มักใช้ในการตรวจแบบ Transthoracic Echocardiogram และแบบ Transesophageal Echocardiogram โดยจะเก็บภาพจากหลาย ๆ มุมแล้วแสดงผลเป็นภาพ 3 มิติที่แสดงถึงลักษณะและการทำงานของหัวใจของผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดลิ้นหัวใจ และยังใช้วินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจในเด็กด้วยเช่นกัน
  • การตรวจแบบ Fetal Echocardiogram แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีนี้ เพื่อหาความผิดปกติของหัวใจทารกในครรภ์มารดาที่มีอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ เพราะจะไม่มีการฉายรังสี

ข้อควรรู้ก่อนทำ Echocardiogram

การทำ Echocardiogram เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงที่ค่อนข้างปลอดภัย แตกต่างจากการตรวจเอกซ์เรย์ที่ต้องใช้การฉายรังสี อย่างไรก็ตาม แม้การตรวจแบบ Transthoracic Echocardiogram นั้นมีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็อาจทำให้รู้สึกไม่สบายผิวหนังเล็กน้อยในขณะที่แพทย์ดึงหัวตรวจออกจากบริเวณหน้าอก ส่วนท่อที่ต้องใส่เข้าไปทางปากจากการตรวจแบบ Transesophageal Echocardiogram ก็อาจขูดบริเวณผิวของหลอดอาหารจนทำให้เกิดการระคายเคืองและทำให้รู้สึกเจ็บคอได้ นอกจากนี้ การตรวจแบบ Stress Echocardiogram ก็อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น และการตรวจในรูปแบบนี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเสมอ

ในด้านคำแนะนำสำหรับผู้ป่วย ก่อนเข้าห้องตรวจ Echocardiogram ต้องถอดเสื้อและสวมใส่ชุดที่พยาบาลจัดมาให้ โดยผู้หญิงต้องถอดชุดชั้นในออกด้วย จากนั้นแพทย์จะให้นอนลงบนเตียงและทาเจลที่หน้าอก เพื่อช่วยไล่อากาศระหว่างผิวหนังกับหัวตรวจ และยังช่วยเพิ่มการนำคลื่นเสียงส่งไปยังคอมพิวเตอร์แสดงผล ขณะตรวจแพทย์จะขยับหัวตรวจไปมาเพื่อจำลองลักษณะของหัวใจ

หากเป็นการตรวจแบบ Transesophageal Echocardiogram ผู้ป่วยจะต้องงดอาหารก่อนการตรวจตามเวลาที่แพทย์กำหนด เพื่อป้องกันการอาเจียนและสำลักในระหว่างการตรวจ โดยก่อนตรวจแพทย์จะฉีดสเปรย์ ทาเจล หรือให้ผู้ป่วยอมยาชาเพื่อระงับความรู้สึกบริเวณลำคอ จากนั้นจึงใส่ท่อเข้าไปทางปากเพื่อจำลองภาพของหัวใจ

หลังการทำ Echocardiogram ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ หากผลการตรวจออกมาเป็นปกติก็ไม่จำเป็นต้องรับการตรวจเพิ่มเติม แต่หากพบสิ่งที่น่าสงสัย แพทย์อาจส่งต่อผู้ป่วยให้ไปพบกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยแผนการรักษาจะขึ้นอยู่กับผลการตรวจและอาการของผู้ป่วย ซึ่งบางรายอาจต้องทำ Echocardiogram ซ้ำ หรือต้องตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรือการฉีดสีที่หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น