Child Grooming การล่อลวงเด็กที่ผู้ปกครองต้องระวัง

Child Grooming คือพฤติกรรมการเข้าหาเด็กโดยแสดงท่าทีว่าเป็นมิตร เพื่อสร้างความสนิทสนมและเตรียมหาโอกาสล่วงละเมิดทางเพศเด็กในภายหลัง บ่อยครั้งที่ผู้กระทำอาจเข้าหาคนในครอบครัวของเด็กด้วยท่าทีสุภาพเพื่อสร้างความไว้ใจในการเข้าถึงตัวเด็ก เมื่อเด็กและผู้ปกครองไม่ระแวงหรือสงสัย จะทำให้เด็กเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ผู้กระทำอาจเป็นคนแปลกหน้าที่เด็กไม่เคยรู้จักมาก่อน หรือเป็นคนใกล้ตัวที่เด็กรู้จัก เช่น ญาติ คุณครู และพี่เลี้ยง ผู้ปกครองจึงต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของเด็ก และระมัดระวังคนที่เข้ามาใกล้ชิดกับเด็กและครอบครัว เพื่อไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

Child Grooming การล่อลวงเด็กที่ผู้ปกครองต้องระวัง

ขั้นตอนของ Child Grooming

Child Grooming เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ผู้กระทำอาจเข้ามาตีสนิทกับเด็กและครอบครัวโดยตรง หรือล่อลวงเด็กผ่านการส่งข้อความในโซเชียลมีเดีย โดยสร้างตัวตนปลอมขึ้นมาเป็นเด็กวัยเดียวกัน หรือปลอมเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเพื่อทำให้เด็กรู้สึกอยากพูดคุยด้วย โดยทั่วไป Child Grooming มี 6 ขั้นตอน ดังนี้

1. เลือกเหยื่อ

ผู้กระทำมักเลือกเด็กที่ดูอ่อนแอ และมีปัญหาครอบครัว เด็กที่ครอบครัวทะเลาะกัน พ่อแม่หย่าร้าง เด็กที่อยู่บ้านเพียงลำพัง หรือไม่มีคนดูแล เด็กไม่ได้รับความรักความอบอุ่นจากคนในครอบครัว เด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง และมีความภูมิใจในตัวเองต่ำ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มักถูกล่อลวงได้ง่าย

2. เริ่มเข้าหา

ขั้นตอนต่อมาคือการหาวิธีเข้าถึงตัวเด็ก โดยสังเกตการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก และพยายามทำความรู้จักและสร้างความสนิทสนมกับเด็กหรือผู้ปกครองของเด็กด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ซื้อขนมและของเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ หรือส่งข้อความทำความรู้จักกับเด็กผ่านโซเชียลมีเดีย หรือเข้าไปเป็นอาสาสมัครในโรงเรียน ชมรมกีฬา และกิจกรรมกลุ่มที่เด็กทำอยู่

3. สร้างความไว้ใจ

เมื่อผู้กระทำเข้าหาเด็กได้แล้ว ขั้นต่อไปคือสร้างความไว้ใจด้วยภาพลักษณ์ที่ใจดี เป็นกันเอง สุภาพ และน่าเชื่อถือ โดยเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเด็กมากขึ้น เช่น 

  • พูดคุยกับเด็ก หรือส่งข้อความ อีเมล และโทรศัพท์หาเด็กบ่อย ๆ
  • หว่านล้อมให้เด็กไปทำกิจกรรมที่เด็กชอบ เช่น อ่านนิทานให้ฟัง ชวนเล่นเกมหรือกีฬา
  • พูดชมเชย ให้เงิน ของเล่น หรือของขวัญให้เด็กและครอบครัว
  • บอกความลับกับเด็ก หรือชวนเด็กแอบทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยกัน เช่น หนีเรียน หรือทำสิ่งผู้ปกครองจะไม่อนุญาตให้ทำ
  • ให้เด็กลองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด
  • อาสาช่วยงานบ้าน ทำสวน หรือทำธุระต่าง ๆ แทนคนในครอบครัว

4. แยกเด็กออกจากผู้ดูแล

เมื่อสร้างความไว้ใจกับเด็กและครอบครัวได้แล้ว ผู้กระทำจะเริ่มหาวิธีแยกเด็กให้พ้นจากสายตาของผู้ปกครองและผู้ดูแล เพื่อใช้เวลากับเด็กตามลำพัง เช่น เสนอตัวเข้ามาดูแลเด็กเวลาที่ผู้ปกครองไม่ว่าง หรือชวนเด็กไปเที่ยวโดยไม่มีผู้ดูแล ซึ่งผู้ปกครองที่ไว้ใจผู้กระทำอยู่แล้วอาจไม่คิดอะไร และสบายใจที่มีคนช่วยดูแลเด็ก

5. ล่วงละเมิดเด็ก

ผู้กระทำจะเริ่มลวนลามเด็กอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น แกล้งโดนตัวโดยบังเอิญ หรือสัมผัสร่างกายโดยการหยอกหรือเล่นกับเด็ก เพื่อให้เด็กคุ้นเคยและไม่ขัดขืน จากนั้นจะเพิ่มระดับความรุนแรงของพฤติกรรม เช่น จงใจสัมผัสร่างกายเด็กบริเวณหน้าอก สะโพก และอวัยวะเพศ กอดจูบ และล่วงละเมิดทางเพศ

ผู้กระทำอาจส่งภาพหรือวีดีโอโป๊ให้เด็กดู ให้เด็กส่งภาพหรือวีดีโอโป๊ของตัวเองไปให้ หรือให้เด็กดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติด 

6. บังคับควบคุม

หลังจากที่ผู้กระทำล่วงละเมิดทางเพศเด็กแล้ว มักใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อให้เด็กทำตามความต้องการของตนเองต่อไปโดยที่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลจะไม่ทราบเรื่อง โดยอาจใช้การเกลี้ยกล่อม หว่านล้อม หรือข่มขู่ เช่น 

  • โน้มน้าวเด็กว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องปกติ
  • บอกรักเด็กและขอให้เก็บเรื่องที่เกิดขึ้นไว้เป็นความลับ
  • ให้ขนม เงิน หรือของขวัญกับเด็ก เพื่อแลกกับการที่เด็กจะไม่เล่าให้ผู้ปกครองฟัง
  • พูดข่มขู่ว่าหากบอกผู้ปกครอง ผู้ปกครองจะโกรธและเกลียดเด็ก หรือขู่จะทำร้ายเด็กและครอบครัว 
  • แบล็กเมล (Blackmail) ว่าจะนำรูปหรือวิดีโอโป๊ของเด็กไปเผยแพร่ให้อับอาย

สังเกตสัญญาณ Child Grooming

เด็กที่ตกเป็นเหยื่อ Child Grooming อาจไม่กล้าเล่าให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลฟัง เพราะความอับอายและความกลัว หรือไม่ทราบว่ากำลังถูกล่อลวง ผู้ปกครองจึงควรสังเกตอาการผิดปกติ ดังนี้

  • พูดคุยอย่างสนิทสนมกับคนที่โตกว่าหรือผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ หรือแอบส่งข้อความคุยกันบ่อยครั้ง
  • ปลีกตัวอยู่คนเดียวในห้องนอน ไม่สุงสิงกับคนในครอบครัว
  • ไม่ค่อยใช้เวลากับเพื่อน หรือเปลี่ยนกลุ่มเพื่อนที่คบอย่างกะทันหัน
  • ขาดเรียน และไม่เข้าร่วมกิจกรรมบ่อย บางครั้งหายตัวไปนานและกลับมาด้วยท่าทางเหนื่อยล้า
  • ไม่ยอมบอกว่าไปที่ไหนมาและอยู่กับใครบ้าง
  • ได้เงิน ของเล่น หรือของขวัญ เช่น โทรศัพท์มือถือ และเสื้อผ้าโดยที่ไม่ทราบที่มา
  • ติดโทรศัพท์ และปกปิดเรื่องการใช้โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย 
  • มีเพื่อนใหม่ หรือคนที่ไม่คุ้นหน้ามารับจากโรงเรียนหรือตามถนน
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่น วิตกกังวล เศร้า หดหู่ ก้าวร้าว หรือโมโหร้าย
  • ใช้สารเสพติด

นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรสังเกตสัญญาณบ่งบอกว่าผู้ใหญ่ที่เข้ามาตีสนิทด้วยมีลักษณะเข้าข่าย Child Grooming เช่น

  • แสดงความสนใจในตัวเด็กมากเป็นพิเศษ เช่น สอบถามเรื่องผลการเรียน และการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก และหาโอกาสอยู่กับเด็กตามลำพัง
  • อาสาช่วยคนในครอบครัวดูแลเด็ก พาเด็กไปทำเรียนพิเศษ หรือช่วยซ่อมของใช้ในบ้าน หรือทำธุระแทน
  • ก้าวก่ายการทำกิจกรรมของคนในครอบครัว เช่น มาร่วมงานวันเกิดของเด็กโดยที่ไม่ได้เชิญ
  • ซื้อของเล่นหรือของขวัญให้เด็กและครอบครัวบ่อย ๆ
  • พูดเรื่องเพศ พูดแทะโลม เล่าเรื่องลามก และเปิดภาพหรือวีดีโอโป๊ให้เด็กดู โดยอ้างว่าเป็นการสอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องเพศ
  • สัมผัสตัวเด็กบ่อย ๆ เช่น เล่นหยอกล้อ หรือจงใจสัมผัสบริเวณหน้าอกและอวัยวะเพศ
  • ชวนเด็กอาบน้ำด้วยกัน และหาโอกาสดูเด็กถอดหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า เช่น เข้าไปในห้องนอน ห้องน้ำ และสระว่ายน้ำ
  • ถ่ายภาพเด็กขณะที่กำลังเปลี่ยนเสื้อผ้า
  • เล่นกับเด็กขณะที่ผู้กระทำสวมเสื้อผ้าน้อยชิ้น
  • เข้ามาจีบเพื่อสานสัมพันธ์กับผู้ปกครอง ซึ่งอาจนำไปสู่การตีสนิทและล่วงละเมิดทางเพศเด็กในภายหลัง

ป้องกันเด็กจากการตกเป็นเหยื่อ Child Grooming

ผู้ปกครองและผู้ดูแลควรปกป้องเด็กจากการถูก Child Grooming ดังนี้

  • สังเกตอาการผิดปกติของเด็กอยู่เสมอ เช่น อารมณ์ก้าวร้าว เก็บตัว ติดโทรศัพท์ หนีเรียน หรือใช้ของแพงที่ผู้ปกครองไม่ได้ซื้อให้ เนื่องจากเด็กอาจไม่กล้าบอกผู้ปกครอง หรือไม่รู้ว่ากำลังตกเป็นเหยื่อของ Child Grooming
  • หากมีผู้ใหญ่เข้ามาใกล้ชิดและสนิทสนมกับเด็ก ควรสอบถามความรู้สึกของเด็ก เช่น “วันนี้เล่นอะไรกันมา ชอบที่ญาติมาเล่นด้วยไหม” หรือ “คนนี้กดไลก์รูปภาพของหนูเยอะเลย เขาได้ติดตามโซเชียลมีเดียอื่น หรือส่งข้อความมาไหม”
  • ระมัดระวังการที่ผู้ใหญ่ถูกเนื้อต้องตัวเด็กบ่อย ๆ เช่น เล่นหยอกล้อ หรือจงใจสัมผัสร่างกายเด็ก หากสังเกตเห็นพฤติกรรมนี้ พยายามไม่ให้เด็กไปเล่นด้วยและไม่ให้เด็กอยู่ตามลำพังกับบุคคลดังกล่าว
  • ไม่ควรให้เด็กไปเที่ยวนอกบ้านหรือไปค้างคืนกับผู้ใหญ่เพียงลำพัง โดยที่ไม่มีผู้ปกครองไปด้วย
  • สอนให้เด็กเข้าใจถึงพฤติกรรม Child Grooming และการล่วงละเมิดทางเพศ และกำชับว่าหากเจอคนที่มีพฤติกรรมดังกล่าวหรือทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ให้รีบบอกผู้ปกครอง
  • สอนเด็กเกี่ยวกับการปกป้องตัวเองบนอินเทอร์เน็ต เช่น ไม่เปิดเผยชื่อจริง อายุ ที่อยู่ หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นส่วนตัวทางโซเชียลมีเดีย และหากมีคนแปลกหน้าเข้ามาตีสนิท ส่งรูปโป๊มาให้ หรือขอให้เด็กส่งรูปตัวเองไปให้ ควรเล่าให้ผู้ปกครองฟังเช่นกัน
  • อธิบายให้เด็กเข้าใจว่าการที่ผู้ใหญ่มาชวนไปทำเรื่องไม่ดี เช่น หนีเรียน และใช้สารเสพติด หรือเล่าเรื่องบางอย่างและขอให้เก็บเป็นความลับนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ควรเล่าให้ผู้ปกครองฟัง โดยให้สัญญากับเด็กว่าจะไม่โกรธหรือดุด่า

หากสงสัยว่าเด็กตกเป็นเหยื่อของ Child Grooming หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ควรแยกตัวเด็กออกมาจากผู้กระทำ หากมีหลักฐาน เช่น ข้อความ รูปภาพ หรือวีดีโอ ควรรวบรวมและแจ้งตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่องค์กรอื่น ๆ เช่น พนักงานคุ้มครองเด็กในจังหวัดที่อาศัยอยู่ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กที่เบอร์ 0-2412-1196 หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการทางกฎหมายและให้ความช่วยเหลือเด็กต่อไป