วัยรุ่น วัยว้าวุ่นกับวิธีสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์

วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงและความซับซ้อนในหลายด้าน วิธีสื่อสารที่พ่อแม่เคยใช้กับลูกเมื่อยังเป็นเด็กอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะหากสื่อสารไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์และการใช้ชีวิตของในช่วงวัยรุ่นของลูกตามมา พ่อแม่จึงควรเรียนรู้และศึกษาวิธีการสื่อสารให้เหมาะสมกับช่วงวัย

วัยรุ่นหรือเด็กในช่วงอายุ 10-19 ปี เป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านระหว่างการเติบโตจากเด็กเพื่อก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ โดยในช่วงวัยนี้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนมีกระทบต่อตัววัยรุ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมวัยรุ่นจึงเป็นช่วงวัยที่มีความสร้างสรรค์และดุดันได้ในเวลาเดียวกัน

วัยรุ่น

ทำไมการสื่อสารกับวัยรุ่นจึงสำคัญ

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นส่งผลให้ร่างกายเติบโต มีอารมณ์อ่อนไหวและรุนแรงในแบบที่แม้แต่ตัวเด็กเองก็อาจไม่เข้าใจ การสื่อสารที่ไม่เหมาะกับช่วงวัยก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลงและเพิ่มระยะห่างมากขึ้น ยิ่งถ้าเกิดการโต้ตอบกันด้วยอารมณ์ที่ไม่เข้าใจหรือลงโทษอย่างรุนแรงก็อาจทำให้เกิดบาดแผลในใจ หากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลต่อการเรียน เกิดพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้น หรือนำไปสู่การใช้ยาเสพติด

แต่ในทางกลับกันหากมีวิธีการสื่อสารที่เหมาะกับพฤติกรรมและช่วงวัยก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดียิ่งขึ้น ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจในความคิดและความรู้สึกของกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

สื่อสารกับวัยรุ่นอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

การสื่อสารกับคนช่วงวัยนี้ไม่เพียงแค่ให้ข้อมูล แต่ควรบอกถึงเจตนาและเลือกวิธีการสื่อสารอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลดีต่อความสัมพันธ์มากขึ้น โดยเทคนิคในการสื่อสารกับเด็กวัยรุ่นมีดังนี้

  • ไม่ใช้อารมณ์ในการสื่อสาร

    แม้ว่าการควบคุมอารมณ์ขณะพูดคุยเรื่องบางเรื่องอาจเป็นสิ่งที่ยาก แต่การใช้อารมณ์นั้นมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและประสิทธิภาพในการสื่อสารเป็นอย่างมาก โดยเด็กบางคนอาจรู้สึกเศร้าหรือสะเทือนใจ แต่บางคนอาจโต้ตอบด้วยอารมณ์ที่รุนแรงและก้าวร้าว สุดท้ายแล้ว ปัญหานั้นก็อาจไม่ได้ข้อสรุปหรือถูกแก้ไข

  • พูดให้สั้นและได้ใจความ

    การโดนบ่นเป็นเวลานานหรือการพูดเรื่องต่าง ๆ ซ้ำไปซ้ำมา อาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่อยากฟังและปิดกั้น เพราะวัยรุ่นมักไม่ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ แม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นสำคัญที่พ่อแม่อยากย้ำ เพื่อให้ลูกเข้าใจ แต่หากต้องการให้เด็กเข้าใจจุดประสงค์ของการพูดคุย พ่อแม่ควรพูดให้กระชับ ตรงประเด็น และไม่ยืดเยื้อ

  • เปลี่ยนการสอนเป็นการพูดคุย

    โดยส่วนใหญ่ การพร่ำสอนหรือป้อนข้อมูลให้กับวัยรุ่นเพียงทางเดียวอาจทำให้เด็กรู้สึกเบื่อและพยายามที่จะไม่รับรู้ แต่การพูดคุยนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดของทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจในมุมมอง ความคิด และปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่าการสอนแบบเดิม

  • อย่าเริ่มต้นด้วยการกล่าวหา

    การเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการกล่าวหาอาจเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดีนัก เพราะตัวเด็กเองอาจรู้สึกอึดอัดจากการถูกกล่าวหา แม้ว่าตนเองไม่ได้ทำก็ตาม

  • ใช้หลัก I message

    I message เป็นการสื่อสารผ่านมุมมองของตัวผู้พูดมากกว่าการพูดถึงพฤติกรรมของผู้สนทนา เช่น แม่รู้สึกเป็นห่วงเกี่ยวกับผลการเรียนของลูก แทนการพูดว่า ทำไมผลการเรียนของลูกไม่ดี

  • เคารพความคิดเห็นของลูก

    วัยรุ่นเป็นวัยที่มีอิสระ มีความคิด และความต้องการเป็นของตนเอง แม้ว่าบางทีอาจขัดต่อแนวทางหรือแนวคิดที่พ่อแม่อยากให้เป็น แต่การคัดค้านหรือห้ามความคิด รวมถึงความไม่เชื่อใจในคำพูดอาจส่งผลให้เด็กไม่กล้าแสดงออกถึงความต้องการที่แท้จริง ผู้ปกครองจึงควรพยายามทำความเข้าใจในมุมมองของลูก

  • พูดให้เกียรติ

    ด้วยความใกล้ชิดของความเป็นครอบครัว อาจทำให้เกิดความรู้สึกเคยชินในการแสดงออกด้วยการใช้คำสั่งหรือการสอนมากกว่าการพูดคุยแม้ว่าจะเป็นเรื่องทั่วไป ซึ่งการสื่อสารแบบนี้อาจส่งผลต่อความรู้สึกของเด็กมากกว่าการสร้างความเข้าใจ โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้ลองพูดคุยกับลูกให้เหมือนกับพูดคุยกับคนอื่น ๆ ที่แสดงถึงการให้เกียรติกัน ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรืออารมณ์ที่แสดงออกมา

  • รับฟังและเรียนรู้อย่างเปิดใจ

    บางครอบครัวอาจมีระยะห่างของความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างมาก การพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกันอาจเป็นเรื่องยาก แต่การถามไถ่ถึงเรื่องทั่วไปหรือสิ่งที่เขาสนใจอยู่บ่อย ๆ อาจทำให้เด็กเปิดใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังอาจช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น

  • ให้เวลาในการทบทวน

    เรื่องบางเรื่องอาจเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อตัววัยรุ่น การคาดคั้นหรือเร่งรัดเอาคำตอบอาจสร้างแรงกดดันและไม่ได้การตอบรับจากเด็ก จึงควรให้เวลาในการทบทวนความคิดและการกระทำในเรื่องต่าง ๆ เพื่อนำมาอธิบายในการพูดคุยครั้งถัดไป

  • รอจังหวะที่เหมาะสม

    จังหวะและเวลาในการสนทนาเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้วิธีในการสื่อสาร โดยพ่อแม่อาจเลือกช่วงเวลาที่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีเรื่องกังวลใจหรือความรู้สึกหงุดหงิด และเป็นช่วงเวลาไม่เร่งรีบ ซึ่งอาจช่วยให้การสื่อสารไม่ถูกรบกวนจากอารมณ์ส่วนตัวหรือเวลา

  • ทำกิจกรรมระหว่างการพูดคุย

    ผู้เชี่ยวชาญในการสื่อสารกับวัยรุ่นแนะนำว่า การนั่งพูดคุยจ้องตากัน โดยไม่ขยับไปไหนเป็นบรรยากาศที่ไม่เหมาะกับการสื่อสาร เพราะอาจส่งผลต่ออารมณ์ทั้งสองฝ่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการพูดคุยในลักษณะดังกล่าว โดยอาจจะเปลี่ยนมาเป็นการพูดคุยกันระหว่างเดินเล่น ขับรถ หรือกิจกรรมอื่น เพื่อเลี่ยงการสบตาและช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหว ทำให้ไม่เกิดรู้สึกอึดอัดหรือเครียดจนเกินไป

  • พูดคุยหลังมื้ออาหาร

    ความหิวอาจก่อให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิดโดยไม่รู้ตัว ก่อนการพูดคุยเรื่องราวที่จริงจัง ควรรับประทานอาหารเพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาวะปกติ โดยวิธีนี้สามารถใช้ได้กับทั้งสองฝ่าย แม้ว่าอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็อาจช่วยให้การพูดคุยนั้นราบรื่นขึ้น

นอกจากการสื่อสารแล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่อาจช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปกครองและเด็ก เช่น สนับสนุนในกิจกรรมที่ลูกมีความสนใจ ยอมรับในตัวตนที่เด็กเป็นพร้อมให้คำแนะนำที่ดีอยู่เสมอ อย่าเร่งรัดหรือกดดันมากเกินไป ตั้งกฎอย่างสมเหตุสมผล หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับลูกในด้านต่าง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่มีปัญหาในการสื่อสารกับลูกที่เป็นวัยรุ่น สามารถปรึกษานักจิตวิทยาเด็กหรือคุณครูของเด็กเพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งอาจช่วยให้ความสัมพันธ์นั้นราบรื่นขึ้น