3 การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นที่ผู้ปกครองควรใส่ใจ

การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น (Adolescent Development) คือพัฒนาการเมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย ความคิด ความรู้สึก จิตใจ และพฤติกรรมเมื่อเข้าสังคม ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยที่สำคัญ และควรได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากผู้ปกครองอย่างเหมาะสม

เด็กแต่ละคนจะเข้าสู่วัยรุ่นไม่พร้อมกัน โดยทั่วไป เด็กผู้หญิงจะเข้าสู่วัยรุ่นเมื่ออายุประมาณ 8–13 ปี และเด็กผู้ชายจะเข้าสู่วัยรุ่นเมื่ออายุประมาณ 9–14 ปี วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการอิสระและมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายด้านอาจเป็นเรื่องยากที่เด็กจะรับมือได้ด้วยตัวเอง ผู้ปกครองจึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลลูกที่เข้าสู่วัยรุ่นให้เติบโตขึ้นอย่างมีความสุขและมีสุขภาพแข็งแรง

การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น

3 การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นที่ควรรู้

การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นทางร่างกายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเพศ ดังนี้

วัยรุ่นชาย
การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นทางร่างกายของผู้ชาย ได้แก่

  • ตัวสูงขึ้น มีกล้ามเนื้อ ไหล่กว้าง ร่างกายแข็งแรงขึ้น 
  • เสียงแตก ซึ่งทำให้มีเสียงทุ้มขึ้น
  • มีขนตามร่างกาย เช่น หนวดเครา ขนรักแร้ ขนหน้าแข้ง และขนบริเวณอวัยวะเพศ
  • มีสิวขึ้นตามใบหน้า คอ หน้าอก และหลัง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  • อวัยวะเพศมีขนาดใหญ่ขึ้น องคชาตแข็งตัว ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการมีอารมณ์ทางเพศหรือไม่ก็ได้ และมีฝันเปียก ซึ่งเป็นการหลั่งอสุจิออกมาขณะหลับ
  • มีเหงื่อมากขึ้น และอาจทำให้เกิดกลิ่นตัว

วัยรุ่นหญิง
ผู้หญิงอาจพบการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นทางร่างกาย เช่น

  • ตัวสูงขึ้น มีส่วนโค้งส่วนเว้าชัดเจนกว่าผู้ชาย หน้าอกขยายใหญ่ และสะโพกผายขึ้น 
  • มีสิวขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเช่นเดียวกับวัยรุ่นชาย
  • มีตกขาว และเริ่มมีประจำเดือน บางคนอาจมีอาการปวดประจำเดือน และอาการอื่น ๆ ในช่วงรอบเดือน ซึ่งเป็นสัญญาณของการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
  • มีขนขึ้นตามร่างกาย เช่น ขนรักแร้ และขนบริเวณอวัยวะเพศ

นอกจากนี้ วัยรุ่นทั้งชายและหญิงอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับอาหารที่รับประทาน หากรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง อาจทำให้อ้วนได้ง่าย รวมถึงมีพฤติกรรมจะนอนดึกและตื่นสายมากขึ้นกว่าวัยเด็ก

2. การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและอารมณ์

ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปและพัฒนาการของสมอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นในทางความคิด การตัดสินใจ การวางแผน การแก้ปัญหา วัยรุ่นจะมีความคิดซับซ้อนขึ้น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็พร้อมสำหรับเรียนรู้ และปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อสิ่งรอบตัว เช่น เพื่อน การเรียน โซเชียลมีเดีย ได้เร็ว

นอกจากนี้ วัยรุ่นจะมีอารมณ์ร้อน อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ คาดเดาได้ยาก บางครั้งอาจหุนหันพลันแล่น หงุดหงิดง่าย บางคนมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่บางคนอาจรู้สึกเศร้า หดหู่ เครียด และกังวลจากเรื่องต่าง ๆ เช่น เปรียบเทียบรูปลักษณ์ของตัวเองกับเพื่อน หรือการถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริงและในโลกออนไลน์

ซึ่งอาจนำไปสู่โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และความผิดปกติเกี่ยวกับการกิน

3. การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นในด้านสังคมที่เห็นได้ชัดคือวัยรุ่นจะเริ่มรักความเป็นส่วนตัวมากขึ้น พูดคุยและทำกิจกรรมต่าง ๆ กับพ่อแม่หรือผู้ปกครองน้อยลง ในแต่ละวันจะใช้เวลาไปกับการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเวลานาน และอยู่กับเพื่อนมากขึ้น มักปรึกษาเพื่อนเมื่อมีปัญหา เพราะคิดว่าผู้ปกครองไม่เข้าใจ หรือผู้ปกครองชอบดุด่า เพื่อนและสื่อออนไลน์จึงมีอิทธิพลมากต่อวัยรุ่น

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นทางสังคมในด้านอื่น ๆ อาจได้แก่ มีความสนใจเรื่องเพศ สงสัยในอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง เริ่มมีความรัก และอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์

วัยรุ่นที่คบเพื่อนไม่ดีหรือเห็นพฤติกรรมไม่ดีจากโซเชียลมีเดีย อาจทำพฤติกรรมเสี่ยง เช่น โดดเรียน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เล่นการพนัน สูบบุหรี่ และใช้สารเสพติด

การดูแลลูกให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น

ผู้ปกครองสามารถดูแลลูกที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

การสื่อสารกับลูกวัยรุ่น

ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตและสอบถามว่าลูกมีเรื่องไม่สบายใจหรือเครียดหรือไม่ เช่น เรื่องเรียน เรื่องเพื่อน และเรื่องความรัก หากลูกมีเรื่องที่สงสัยหรือมีปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น ควรรับฟังความคิดเห็นของลูกด้วยความเต็มใจและใจเย็น ไม่บังคับหรือคาดคั้นให้ลูกเล่า ตั้งใจฟัง และให้ความคิดเห็นโดยพยายามเข้าใจมุมมองของลูก

พูดคุยเรื่องการใช้เวลาของวัยรุ่น

ควรกำหนดเวลาที่คนในครอบครัวจะได้พูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทำอาหารและรับประทานอาหารเย็นพร้อมกัน ช่วยกันทำงานบ้านหรือไปออกกำลังกายด้วยกันในวันหยุด

ทั้งนี้ ให้เวลาลูกอยู่คนเดียวหรือไปเที่ยวกับเพื่อนบ้าง โดยให้ลูกบอกสถานที่ที่จะไป และเวลาที่จะกลับก่อนที่ลูกจะออกจากบ้าน และควรเคารพพื้นที่ส่วนตัว ไม่เข้าไปค้นห้องนอนลูก หรือเปิดดูการใช้โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ของลูกโดยไม่ได้รับอนุญาต

สนับสนุนให้ทำกิจกรรมที่ชอบ

วัยรุ่นแต่ละคนมีความสนใจต่างกัน ผู้ปกครองควรสนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ เช่น เข้าชมรมที่โรงเรียน เรียนพิเศษในสิ่งที่สนใจเพิ่มเติม โดยอาจเป็นด้านวิชาการหรือด้านอื่น ๆ เช่น ดนตรี กีฬา ร้องเพลง เต้น หรือทำอาหาร และคอยชื่นชมเมื่อลูกทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี

ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

ผู้ปกครองควรดูแลให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ และกำหนดเวลาการเล่นเกม และการใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเด็กที่ติดเกมหรือติดมือถือ ซึ่งมักจะนอนดึก และอาจส่งผลกระทบต่อการเรียนและสุขภาพร่างกาย

พูดคุยเรื่องพฤติกรรมเสี่ยง

ผู้ปกครองควรพูดคุยกับลูกวัยรุ่นเรื่องเพศศึกษาอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องต่าง ๆ เช่น

นอกจากนี้ ควรสอนให้ลูกรู้จักคบเพื่อนที่ดี ไม่พากันไปทำกิจกรรมมั่วสุม เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด และการกลั่นแกล้งคนอื่น

แม้วัยรุ่นจะรักอิสระ และเลือกที่จะอยู่คนเดียวหรืออยู่กับเพื่อนมากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครอง แต่วัยรุ่นก็ยังเป็นเด็กที่เพิ่งจะก้าวเข้าสู่ช่วงวัยที่โตขึ้น และต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่ไม่อาจรับมือได้ด้วยตัวเอง ผู้ปกครองจึงควรสอดส่องดูแลพฤติกรรม เพื่อให้ลูกสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นได้อย่างดีและมีความสุข

หากพบว่าการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นล่าช้าหรือเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ หรือวัยรุ่นมีอาการผิดปกติ เช่น อารมณ์รุนแรง โมโหร้าย ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น ซึมเศร้า เก็บตัว และใช้สารเสพติด ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา