แก้อาการติดมือถือด้วย 4 เทคนิคง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้

ในสังคมยุคนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มือถือหรือสมาร์ทโฟนนั้นมีอิทธิพลต่อชีวิตคนทั่วไปไม่น้อย เพราะช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นด้วยการค้นหาข้อมูลหรือติดต่อกันผ่านเครือข่ายออนไลน์ต่าง ๆ แต่การใช้มือถือบ่อยจนเกินความพอดีอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเรียน การทำงาน หรือความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างได้เช่นกัน

ยิ่งถ้าต้องหยิบมือถือขึ้นมาเล่นอยู่ตลอดเวลา หมกมุ่นอยู่กับการเช็คข้อความหรือข้อมูลแม้ไม่มีเรื่องด่วน หรือรู้สึกระวนกระวายใจ เครียด คลื่นไส้ และมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เมื่อไม่ได้เล่นมือถือ คุณอาจเข้าข่ายป่วยเป็นโนโมโฟเบียหรืออาการขาดมือถือไม่ได้ ซึ่งจัดเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง

2035 ติดมือถือ rs

ดังนั้น หากกำลังประสบปัญหาต่าง ๆ จากการใช้มือถือ และอยากใช้มือให้น้อยลง แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ลองมาทำตามคำแนะนำในบทความนี้ แล้วจะรู้ว่าวิธีเอาชนะอาการติดมือถือไม่ได้ยากอย่างที่คิด !

โรคติดมือถือ หรือโนโมโฟเบีย

โนโมโฟเบีย (Nomophobia) เป็นอาการหวาดกลัวเมื่อต้องดำรงชีวิตอยู่โดยไม่มีมือถือหรือไม่ได้ใช้มือถือ ไม่ว่าจะเป็นการลืมพกมือถือติดตัว มือถือแบตหมด หรือการอยู่บริเวณที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จะทำให้ผู้ที่มีภาวะนี้รู้สึกกระวนกระวายใจ หงุดหงิด เครียด มีเหงื่อออก ตัวสั่น หรือคลื่นไส้

ทั้งนี้ พฤติกรรมติดมือถืออาจส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง หรือการใช้ชีวิตประจำวันด้านต่าง ๆ และการใช้มือถือบ่อยจนเกินไป รวมถึงการวางท่าทางที่ไม่เหมาะสมขณะใช้มือถือ

อย่างการก้มหน้าเพ่งจอใกล้ ๆ เป็นเวลานาน หรืออยู่ในท่าที่ถือและใช้มือถือนาน ๆ อาจก่อให้เกิดโรคหรืออาการป่วยหลายอย่างตามมาได้ เช่น นิ้วล็อค ปวดเกร็งบริเวณคอ บ่า ไหล่ จอประสาทตาเสื่อม หมอนรองกระดูกที่คอเสื่อมก่อนวัย เส้นประสาทสันหลังบริเวณคอถูกกดทับจนเป็นเหตุให้เกิดอาการชาที่แขน มือไม่มีแรง หรือเดินเซ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ที่นั่งหรือนอนเล่นมือถือเป็นเวลานานยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน และการเดินเล่นมือถือหรือเล่นมือถือระหว่างเดินทาง อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือได้รับอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สินอีกด้วย

แก้อาการติดมือถือได้อย่างไร ?

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากลดการใช้มือถือของตัวเอง คำแนะนำง่าย ๆ เพียงไม่กี่ข้อต่อไปนี้ อาจช่วยแก้อาการติดมือถือได้

จำกัดเวลาในการใช้มือถือ

ในขั้นแรก ควรจดบันทึกระยะเวลาในการใช้มือถือของแต่ละกิจกรรม โดยอาจแบ่งออกเป็นระยะเวลาที่ใช้ในการคุยโทรศัพท์ การตอบข้อความ การใช้สื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือการใช้ฟังก์ชั่นอื่น ๆ ในมือถือ แล้วคำนวณว่าภายใน 1 สัปดาห์ ได้ใช้เวลาไปกับแต่ละกิจกรรมนานเท่าไร จากนั้นลองค่อย ๆ ลดเวลาในการใช้มือถือในแต่ละกิจกรรมลงอย่างช้า ๆ

โดยเริ่มจากกิจกรรมที่สำคัญน้อยที่สุด เช่น ตามปกติอาจใช้เวลาในการเล่นเกมมือถือประมาณ 10 ชั่วโมง/สัปดาห์ ก็ให้ลดเวลาลงเหลือเพียง 9 ชั่วโมง/สัปดาห์ และค่อย ๆ ลดเวลาการเล่นเกมลงไปอีกในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป เป็นต้น

นอกจากนี้ การแจ้งเตือนจากแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ อย่างไลน์หรือเฟซบุ๊ก อาจเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้หยิบมือถือขึ้นมาใช้บ่อยขึ้น ดังนั้น ในเวลาที่ต้องการใช้สมาธิ อย่างตอนเรียน ทำงาน ขับรถ หรือเวลาที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ผู้ใช้ควรปิดการแจ้งเตือนต่าง ๆ ในมือถือ หรือลบแอพพลิเคชั่นที่มักทำให้เสียสมาธิและไม่จำเป็นต้องใช้ในช่วงเวลานั้นทิ้งไป อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่าวิธีดังกล่าวนั้นยุ่งยากเกินไป ให้ลองเปลี่ยนมาเป็นการเปิดใช้งานโหมดเครื่องบิน หรือปิดมือถือไปแทน

พูดคุยกับคนรอบข้างให้มากขึ้น

มือถือเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสื่อสารกับคนอื่นได้ง่ายขึ้น บางคนจึงเสพติดการพูดคุยกับเพื่อนผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ในมือถือ จนกลายเป็นคนติดมือถือโดยไม่รู้ตัว แม้การคุยกับเพื่อนในสังคมออนไลน์จะช่วยคลายความเหงาเมื่อต้องอยู่คนเดียว แต่การใช้มือถือตลอดเวลาขณะที่คนรอบข้างกำลังพูดคุยด้วยนั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนัก ดังนั้น ควรงดใช้มือถือระหว่างพูดคุยกับคนอื่น เพราะนอกจากจะช่วยลดอาการติดมือถือได้แล้ว การหันมาใส่ใจคนรอบข้างมากขึ้นยังส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ด้วย

ปรับความคิด

เมื่อได้รับข้อความจากบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อน ลูกน้อง หรือเจ้านาย บางคนมักติดนิสัยเปิดข้อความอ่านทันที เพราะคิดว่าข้อความนั้นอาจเป็นข้อมูลสำคัญหรือเรื่องฉุกเฉินที่ไม่สามารถปล่อยทิ้งไว้ได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว ข้อความที่ถูกส่งมาอาจไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร เพราะหากเป็นเรื่องด่วนจริง อีกฝ่ายน่าจะเลือกโทรหาเพื่อพูดคุยในทันทีมากกว่าเพียงส่งข้อความมาเท่านั้น

ทำกิจกรรมอื่นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

อาจลองทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของตนเองออกจากการใช้มือถือ เช่น ดูหนัง เล่นกีฬา หรือนั่งสมาธิ เป็นต้น แม้แต่ละกิจกรรมจะใช้เวลาเพียงไม่นาน แต่ก็ถือเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการใช้มือถือให้น้อยลง

แม้มือถือจะถูกพัฒนาให้ล้ำสมัยขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด และช่วยให้การใช้ชีวิตหลาย ๆ ด้านสะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่เทคโนโลยีดังกล่าวก็เป็นเหมือนดาบ 2 คม ที่อาจย้อนกลับมาทำร้ายสุขภาพและชีวิตของเราได้เช่นกัน ผู้บริโภคจึงควรลองทบทวนพฤติกรรมการใช้มือถือของตัวเอง หากสิ่งที่เป็นอยู่ทำให้คุณรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต นี่อาจเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่า มือถือได้รุกล้ำความเป็นส่วนตัวมากจนเกินไป และถึงเวลาแล้วที่คุณต้องใช้มันให้น้อยลง