Cardiac Tamponade

ความหมาย Cardiac Tamponade

Cardiac Tamponade หรือภาวะบีบรัดหัวใจ เป็นภาวะที่เกิดจากการสะสมของเลือดหรือน้ำภายในถุงเยื่อหุ้มหัวใจ ส่งผลให้แรงดันในหัวใจของผู้ป่วยสูงขึ้น ทำให้หัวใจไม่สามารถขยายหรือทำงานได้อย่างปกติ และขัดขวางการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่การล้มเหลวของอวัยวะภายใน ช็อค และการเสียชีวิตได้

ภาวะ Cardiac Tamponade เป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต และต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องสังเกตอาการของผู้ป่วยขณะเข้ารับการรักษาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาการอาจทรุดลงอย่างรวดเร็ว

2472-Cardiac-Tamponade

อาการของ Cardiac Tamponade

ผู้ป่วยที่มีภาวะ Cardiac Tamponade อาจแสดงสัญญาณออกเป็นอาการต่าง ๆ เช่น ฟังเสียงหัวใจได้แผ่วเบา มีภาวะความดันสูงในหลอดเลือดดำที่คอ ตัวเขียว และยังมีอาการอื่น ๆ เช่น

  • วิตกกังวล กระวนกระวาย หรือเซื่องซึม
  • ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ 
  • มีอาการอ่อนแรง ความรู้สึกตัวลดลง
  • มีปัญหาในการหายใจ หายใจเร็ว หรือไม่สามารถหายใจเข้าลึก ๆ ได้
  • รู้สึกเจ็บแปลบบริเวณหน้าอกจนส่งผลให้คอ ไหล่ ท้อง และหลังมีอาการร่วมด้วย โดยอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ หรือไอ
  • รู้สึกอึดอัด แต่จะรู้สึกดีขึ้นเมื่อนั่งตัวตรงหรือโน้มตัวไปข้างหน้า
  • ท้องหรือขามีอาการบวม 
  • มีอาการดีซ่าน ผิวซีดหรือเป็นสีม่วง 
  • คลำชีพจรไม่พบ โดยจะเกิดกับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
  • ความดันเลือดต่ำ 

สาเหตุของ Cardiac Tamponade

อาการแสดงของภาวะบีบรัดหัวใจจะเกิดขึ้นเมื่อมีน้ำหรือเลือดสะสมในเยื่อหุ้มหัวใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส มีบาดแผลบริเวณหัวใจ หรือได้รับบาดเจ็บจากการกระแทกด้วยของไม่มีคมบริเวณหน้าอก 
  • การผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ทำการฉายรังสีบริเวณหน้าอก การผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หรือการใส่สายสวนบริเวณส่วนกลางหลอดเลือดดำหรือหัวใจเมื่อไม่นาน
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งปอดระยะสุดท้าย หรือมีเนื้องอกบริเวณหัวใจ
  • กลุ่มโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ
  • การใช้ยา เช่น ยาไฮดราลาซีน (Hydralazine) ยาไอโซไนอาซิด (Isoniazid) หรือยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) เป็นต้น
  • การติดเชื้อ เช่น การเชื้อเอชไอวี (HIV) วัณโรค โรคเชื้อรา เป็นต้น
  • ภาวะขาดไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติกะทันหัน
  • ภาวะไตวาย

การวินิจฉัย Cardiac Tamponade

ในเบื้องต้น แพทย์สามารถสังเกตเห็นอาการสำคัญของภาวะบีบรัดหัวใจได้ โดยผู้ป่วยมักจะมีความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นแผ่ว มีภาวะความดันในหลอดเลือดดำที่คอ หัวใจเต้นเร็วขึ้นพร้อมกับเสียงหัวใจเบาลง หลังจากนั้น แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นเพื่อช่วยวินิจฉัยภาวะบีบรัดหัวใจ เช่น 

  • การทำเอ็กโคหัวใจ (Echocardiogram)
  • การสวนหัวใจข้างขวา 
  • การเอกซเรย์หน้าอก 
  • การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography) 
  • การตรวจวินิจฉัยโรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ด้วยเครื่อง Magnetic Resonance Angiogram (MRA) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิตที่เกิดจากภาวะบีบรัดหัวใจ

การรักษา Cardiac Tamponade

ภาวะ Cardiac Tamponade เป็นภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการรักษาจะเน้นไปที่การลดแรงดันรอบบริเวณหัวใจและรักษาอาการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยแพทย์จะทำการเจาะดูดเอาของเหลวออกจากช่องเยื่อหุ้มหัวใจ หรือบางรายอาจต้องผ่าตัดเปิดช่องทรวงอกเพื่อถ่ายเทเลือดหรือเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกหากผู้ป่วยมีบาดแผลทะลุเข้าไปในทรวงอก และอาจทำการตัดเยื่อบุหัวใจเพื่อลดแรงดันภายในหัวใจ 

ในขณะทำการรักษา ผู้ป่วยอาจได้รับออกซิเจน สารน้ำ หรือยาชนิดต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มความดันโลหิต หากผู้ป่วยมีอาการคงที่แล้ว แพทย์อาจมีการตรวจด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของภาวะ Cardiac Tamponade และทำการรักษาในขั้นต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนของ Cardiac Tamponade

ผู้ที่มีภาวะ Cardiac Tamponade อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอด เส้นเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด เกิดความเสียหายบริเวณเส้นเลือด การติดเชื้อ เกิดอาการช็อค หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อนอันตรายอื่น ๆ ที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้ 

การป้องกัน Cardiac Tamponade

เนื่องจากภาวะ Cardiac Tamponade เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงยากต่อการป้องกัน แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยการเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งอาจจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่ภาวะบีบรัดหัวใจได้ อย่างไรก็ตาม การรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงของตนเองอาจช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างรวดเร็ว