9 วิธีรักษาไข้หวัดใหญ่ให้หายเร็วด้วยตัวเอง

วิธีรักษาไข้หวัดใหญ่ให้หายเร็วมีหลายวิธี เช่น พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมด้วยวิธีเหล่านี้ จะช่วยป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง และช่วยให้หายได้เร็วขึ้น

ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการอาจคล้ายกับโรคหวัด เช่น มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย แต่มักจะมีอาการที่รุนแรงกว่า เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ ซึ่งโดยทั่วไปอาการมักดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ แต่เด็กเล็ก ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออาจหายได้ช้ากว่า และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าคนทั่วไป

วิธีรักษาไข้หวัดใหญ่ให้หายเร็ว

วิธีรักษาไข้หวัดใหญ่ให้หายเร็วที่ควรรู้

โดยทั่วไป ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคอ้วน โรคหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับและไต โรคมะเร็ง โรคทางพันธุกรรม และภูมิคุ้มกันบกพร่อง สามารถดูแลตัวเองที่บ้านด้วยวิธีรักษาไข้หวัดใหญ่ให้หายเร็วต่าง ๆ ดังนี้ 

1. หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ควรหยุดเรียน หยุดงาน และพักผ่อนอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายดีหรือไม่มีไข้แล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ยกเว้นกรณีที่ต้องไปโรงพยาบาลหรือมีธุระจำเป็น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ไปสู่คนอื่น 

หากจำเป็นต้องออกไปนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งไวรัสไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และการสัมผัสมือหรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย

2. พักผ่อนมาก ๆ

การพักผ่อนอย่างเพียงพอเป็นวิธีรักษาไข้หวัดใหญ่ให้หายเร็วได้ดีที่สุด เพราะจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากความอ่อนเพลีย และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี จึงช่วยให้ฟื้นตัวจากอาการป่วยได้เร็ว ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ควรเข้านอนให้เร็วกว่าเวลาเข้านอนปกติ และในระหว่างวันอาจงีบหลับเพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น 

ผู้ป่วยควรแยกห้องนอนจากคนอื่น ๆ ในบ้าน และนอนในห้องที่มีอากาศถ่ายเท ไม่ควรอยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศจนเย็นจนเกินไปหรือเปิดพัดลมโดนตัวโดยตรง ห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น แต่ไม่ควรห่มผ้าหนาหรือใส่เสื้อหลายชั้น เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายจะระบายความร้อนไม่ได้ หากมีอาการคัดจมูก ควรใช้หมอนอีกใบหนุนเสริมใต้ศีรษะ เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้นและนอนหลับได้บายขึ้น

3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การดื่มน้ำอย่างเพียงพอเป็นอีกวิธีรักษาไข้หวัดใหญ่ให้หายเร็ว และช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำจากการเสียเหงื่อเมื่อมีไข้ โดยหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น ซึ่งอาจทำให้เจ็บคอมากขึ้น ควรดื่มน้ำเปล่าอุณหภูมิห้อง น้ำอุ่นผสมน้ำผึ้ง ซุป หรือชาสมุนไพรอุ่น ๆ เช่น ชาขิง ซึ่งจะช่วยให้ชุ่มคอ และลดเสมหะ 

4. กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ

การใช้น้ำเกลือกลั้วคอจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ช่วยกำจัดเสมหะ และลดอาการบวมภายในลำคอ โดยผสมเกลือ 1/4–1/2 ช้อนชากับน้ำอุ่นปริมาณ 240 มิลลิลิตร ซึ่งน้ำอุ่นจะช่วยให้เกลือละลายได้ดีและบรรเาอาการเจ็บคอได้ดีกว่าการใช้น้ำเย็น จากนั้นอมน้ำเกลือไว้ กลั้วให้ทั่วช่องปาก แล้วบ้วนทิ้ง 

5. ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยชำระล้างสิ่งสกปรก เชื้อโรค และน้ำมูกเหนียวข้นที่ค้างอยู่ในโพรงจมูก จึงช่วยลดอาการคัดจมูกและช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น โดยอาจใช้น้ำเกลือสำหรับล้างจมูกสำเร็จรูปที่มีขายทั่วไป เพื่อความสะดวกและความสะอาดของน้ำเกลือ และล้างจมูกจนกว่าจะรู้สึกว่าจมูกโล่ง ไม่มีน้ำมูกค้างในจมูก

6. อาบน้ำอุ่น

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มักมีอาการหนาวสั่นและมีไข้ จึงไม่ควรอาบน้ำเย็น การอาบน้ำอุ่นจะช่วยให้รู้สึกสบายตัว ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ควรเช็กอุณหภูมิของน้ำไม่ให้ร้อนจนเกินไปจนลวกผิว และหากอาบในอ่างอาบน้ำ ไม่ควรแช่น้ำนานจนน้ำเย็น เพราะอาจทำให้หนาวสั่นและไข้ขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม หากมีไข้สูงควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำ ให้เช็ดตัวบ่อย ๆ เพื่อลดไข้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อาจมีอาการชักจากไข้สูง โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ไม่ใช้น้ำเย็นจัดเช็ดตัว 

7. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

หากรู้สึกไม่อยากอาหาร อาจรับประทานอาหารอ่อนที่รสไม่จัดและรับประทานง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปไก่ ไข่ตุ๋น หากอาการดีขึ้นและสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นผักผลไม้ที่มีวิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

8. เพิ่มความชุ่มชื้นในบ้าน

หากผู้ป่วยพักในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ อากาศที่แห้งและเย็นอาจทำให้รู้สึกโพรงจมูกแห้ง คอแห้ง และคันคอมากขึ้นได้ การใช้เครื่องทำความชื้นจะช่วยเพิ่มระดับความชื้นในอากาศด้วยไอน้ำ ซึ่งเป็นวิธีรักษาไข้หวัดใหญ่ให้หายเร็ว โดยช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในโพรงจมูกและลำคอ ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองต่าง ๆ ที่เกิดจากสภาพอากาศแห้ง

9. ใช้ยาที่หาซื้อได้เอง

ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาที่หาซื้อได้เองเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ในเบื้องต้น เช่น ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย มีไข้ ไอ และมีน้ำมูก โดยใช้ยาตามที่ระบุบนฉลากหรือตามคำแนะนำของเภสัชกร เช่น

  • ยาหยดหรือยาพ่นจมูก ทำให้หลอดเลือดในเยื่อบุจมูกหดตัว ทำให้อาการบวมในเยื่อบุจมูกลดลง และช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก แต่ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
  • ยาขี้ผึ้งบรรเทาอาการคัดจมูกที่มีส่วนผสมของเมนทอล การบูร และน้ำมันยูคาลิปตัส โดยทายาที่ลำคอและหน้าอก การสูดดมไอระเหยจากยาจะช่วยให้รู้สึกหายใจสะดวกขึ้น โดยไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • สเปรย์พ่นคอและยาอมแก้เจ็บคอ แต่ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปีรับประทานยาอมเพราะอาจสำลักได้
  • ยาแก้ปวดและลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน โดยไม่ควรให้เด็กที่ติดเชื้อไวรัสที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี รับประทานยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการเรย์ (Reye's Syndrome) ซึ่งทำให้ตับและสมองอักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ยาอื่น ๆ เช่น ยาลดน้ำมูกสำหรับผู้ที่มีน้ำมูกมากและคัดจมูก ยาแก้ไอสำหรับผู้ที่มีอาการคันคอและไอแห้ง และยาละลายเสมหะ สำหรับผู้ที่มีเสมหะเหนียวข้น

หากดูแลตัวเองด้วยวิธีรักษาไข้หวัดใหญ่ให้หายเร็วข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่น เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก อ่อนเพลียและปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง เวียนศีรษะอย่างต่อเนื่อง และชัก ควรไปพบแพทย์ทันที แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันอาการรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย