สาเหตุของน้ำตาลในเลือดสูงที่คุณอาจไม่เคยรู้

พฤติกรรมการติดหวานกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ติดการเติมน้ำตาลไปในอาหาร ติดน้ำอัดลม หรือน้ำหวานมาก ๆ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนส่งผลเสียต่อร่างกาย 

นอกจากนี้ น้ำตาลในเลือดสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นภาวะความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพจนเกิดน้ำตาลสะสมในเลือดปริมาณมาก

เบาหวาน1

น้ำตาลในเลือดสูงเกิดจากอะไรได้บ้าง

สาเหตุที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นไม่ได้เกิดจากการรับประทานหวานเพียงอย่างเดียว แต่เกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร พฤติกรรมการใช้ชีวิต และความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ดังนี้

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

ในปัจจุบันคนมักเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล และเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในการปรุง แต่ความจริงแล้ว การรับประทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาลสามารถส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ 

หากเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดให้พลังงาน ได้แก่ ฟรุกโตส มอลทิทอล ซอร์บิทอล และไซลิทอล จัดเป็นคาร์โบไฮเดรต แม้ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ได้น้อยกว่าน้ำตาลปกติ แต่จะถูกดูดซึมให้อยู่ในรูปของกลูโคสในภายหลัง ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ดังนั้น ก่อนรับประทานควรดูให้มั่นใจก่อนว่าเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดให้พลังงานหรือไม่ และควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของระดับน้ำตาลในเลือดสูง เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตที่จะแปรสภาพเป็นน้ำตาล หากยิ่งดื่มมาก น้ำตาลในเลือดก็จะยิ่งสูง และส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเบาหวานโดยตรง และเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคเบาหวานอีกด้วย 

โดยไวน์แดง 1 แก้ว ปริมาณ 148 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 1.2 กรัม ขณะที่เบียร์มีปริมาณคาร์โบไฮเดรต 12.64 กรัม หากถูกย่อยสลายเป็นกลูโคส จะทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้มากเลยทีเดียว

อาหารที่มีไขมันสูง

ของทอด หรืออาหารมัน ๆ ทั้งหลายที่เป็นของโปรดของใครหลายคนส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อภาวะไขมันในเลือดสูง ยังส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ช้าอีกด้วย

ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์จะเข้าไปชะลอกระบวนการดูดซึมกลูโคสเข้าในเซลล์ อาหารจานด่วน (Fast Food) เช่น เฟรนช์ฟรายด์ หรือพิซซ่าที่มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณสูง จึงทำให้เกิดปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้

เครื่องดื่มเกลือแร่

เครื่องดื่มเกลือแร่เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่คนมักนึกถึงเวลารู้สึกเหนื่อย หรือเมื่อเจออากาศร้อน เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีน้ำตาลสูง โดยเครื่องดื่มเกลือแร่ 1 ขวด ในปริมาณ 250 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 7 กรัม หรือ 1.7 ช้อนชา แม้ดื่มแล้วอาจทำให้รู้สึกสดชื่น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น เครื่องดื่มเหล่านี้ยังมีแคลอรี่สูงอีกด้วย หากดื่มบ่อย ๆ อาจทำให้น้ำหนักขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ยาสเตียรอยด์

ยาสเตียรอยด์บางชนิดส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ที่ใช้ในการรักษาอาการผื่นคัน อาการข้ออักเสบ และโรคหอบหืด หากรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นผิดปกติ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกด้วย

รอบเดือนของผู้หญิง

ความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในร่างกายผู้หญิงช่วงก่อนมีประจำเดือน ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ และอารมณ์แปรปรวน แต่ทำให้เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลินลดลง ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเท่าที่ควร จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

ความเครียด

สาเหตุที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดคือความเครียด เพราะเมื่ออยู่ในภาวะเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา ฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นร่างกายให้ปล่อยพลังงานออกมาในรูปของน้ำตาล ดังนั้น ยิ่งเครียดมากเท่าไหร่ ระดับน้ำตาลในเลือดก็ยิ่งสูงขึ้น

การนอนหลับไม่เพียงพอ

โทษของการพักผ่อนไม่เพียงพอนั้นมีมากมาย รวมทั้งกระทบระดับน้ำตาลในเลือดด้วย โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่นอนหลับน้อยกว่าวันละ 4 ชั่วโมงมีความไวต่ออินซูลินลดลง 14–21% จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นอกจากนี้การพักผ่อนไม่เพียงพอยังส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลมากขึ้นจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตอีกด้วย

สาเหตุอื่น

นอกจากสาเหตุข้างต้น น้ำตาลในเลือดสูงอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น

  • โรคประจำตัวและการติดเชื้อ
  • การได้รับบาดเจ็บและการเข้ารับการผ่าตัด
  • การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง
  • การเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ไม่ออกกำลังกาย
  • การได้รับฮอร์โมนอินซูลินหรือรับประทานยาเบาหวานไม่เพียงพอ และการไม่ควบคุมอาหารตามคำแนะนำของแพทย์

ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานเท่านั้น แต่คนปกติทั่วไปก็ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในระยะยาวด้วย ฉะนั้น หากไม่อยากเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะดีที่สุด