7 อาการน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวานและวิธีป้องกัน

อาการน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวานหรืออาการที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนควรป้องกันไม่ให้เกิด เพราะอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ร้ายแรงขึ้น เช่น การเกิดความเสียหายต่อดวงตา ไต เส้นประสาท หัวใจ และระบบหลอดเลือดส่วนปลายได้หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

อาการน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวานเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ เช่น สูงกว่า 125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรหลังจากมื้ออาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยอาจเป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปจนไม่สมดุลกับระดับอินซูลินในร่างกาย รวมถึงการรับประทานยาบางชนิด การเจ็บป่วยบางอย่าง และความเครียด

สังเกตอาการน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวาน และวิธีป้องกันอย่างเหมาะสม

สัญญาณของการเกิดอาการน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวาน 

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถทราบระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งสังเกตุจากอาการทางร่างกายดังต่อไปนี้

1. มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรหลังจากมื้ออาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หรือมากกว่า 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรหลังจากมื้ออาหาร 2 ชั่วโมง จะถือว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
2. ผลการตรวจวัดระดับ HbA1c หรือการตรวจวัดระดับน้ำตาลในระยะยาวของผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงมากกว่า 6.5% ด้วย
3. รู้สึกเหนื่อยล้าหรือง่วงมากกว่าปกติ
4. รู้สึกหิวหรือกระหายน้ำมากกว่าปกติ
5. ปัสสาวะมากกว่าปกติโดยเฉพาะตอนกลางคืน
6. น้ำหนักลดแม้จะมีพฤติกรรมการกินที่ปกติหรือมากกว่าปกติ
7. ปวดศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงแต่ไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมอาการอย่างเหมาะสม สามารถนำไปสู่การเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis: DKA) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้ด้วย 

อาการที่อาจเป็นสัญญาณของการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด มีดังนี้ 

  • ลมหายใจมีกลิ่นเปรี้ยวผิดปกติ
  • อาเจียน
  • มีภาวะขาดน้ำ
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หายใจลำบากหรือหายใจไม่ออก
  • เกิดความสับสน
  • เกิดภาวะโคม่า

แนวทางการป้องกันการเกิดอาการน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 

  • รับประทานยาหรือฉีดยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรลืมรับประทานยาหรือหยุดใช้ยาเองโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง 
  • หมั่นตรวจสอบและจดบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดของตัวเองทุกวัน
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลในปริมาณมาก 
  • เน้นรับประทานอาหารที่เหมาะสำหรับคนเป็นเบาหวาน เช่น ปลา ไข่ ผักใบเขียว และธัญพืชที่มีใยอาหารสูง 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ 
  • จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม 

อย่างไรก็ตาม อาการน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวานสามารถนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 13.3 มิลลิโมลต่อลิตร มีอาการของภาวะเลือดเป็นกรดเกิดขึ้น รวมถึงมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น ปากแห้ง เกิดความสับสน อาเจียนหรือท้องเสียอย่างต่อเนื่อง มีไข้นานกว่า 24 ชั่วโมง และเกิดอาหารหายใจลำบาก