น้ำผัก กินดี มีประโยชน์จริงหรือ ?

น้ำผัก เป็นการแปรรูปผักไปเป็นเครื่องดื่มเพื่อให้รับประทานง่าย สะดวก และยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยมีสรรพคุณช่วยส่งเสริมสุขภาพ และอาจป้องกันโรคบางอย่างได้ แต่ก็ควรบริโภคในปริมาณพอดีและคำนึงถึงความปลอดภัยด้านต่าง ๆ เสมอ เพราะอาจเสี่ยงสะสมสารพิษในร่างกาย หรืออาจทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูงได้หากไม่ทันระมัดระวัง

1703 น้ำผัก rs

น้ำผักมีประโยชน์อย่างไร ?

มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้กล่าวถึงสรรพคุณต่าง ๆ ของน้ำผักไว้ ดังนี้

เสริมปริมาณสารอาหาร
การบริโภคน้ำผักอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารมากขึ้น โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ที่บริโภคน้ำผักผลไม้เป็นเวลามากกว่า 14 สัปดาห์ จะมีปริมาณสารอาหารต่าง ๆ ในร่างกายเพิ่มมากขึ้น เช่น เบต้าแคโรทีน ซีลีเนียม โฟเลต วิตามินซี และวิตามินอี เป็นต้น

บำรุงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า การบริโภคน้ำผักผลไม้อาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยช่วยลดความดันและไขมันในเลือด อีกทั้งอาจช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ต้านการอักเสบ และป้องกันภาวะกรดอะมิโนโฮโมซีสทีนในเลือดสูง (Hyperhomocysteinemia) ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจได้รับประโยชน์ในด้านดังกล่าวมากขึ้นหากบริโภคน้ำผักผลไม้หลากหลายชนิด เพราะอาจได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์แตกต่างกันไป เช่น สารโพลีฟีนอล วิตามิน และแร่ธาตุ เป็นต้น

กระตุ้นการเผาผลาญไขมันคอเลสเตอรอล

มีงานวิจัยหนึ่งค้นคว้าเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอล โดยเปรียบเทียบระหว่างน้ำผลไม้สดผสมน้ำผักกวางตุ้งญี่ปุ่น กับน้ำผักทั่วไปที่วางขายตามท้องตลาด หลังการทดลอง 4 สัปดาห์พบว่า น้ำผลไม้สดผสมน้ำผักกวางตุ้งอาจมีประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ โดยอาจลดไขมันชนิดนี้ลงมากกว่าการดื่มน้ำผักทั่วไปเมื่อบริโภคในระยะสั้น

ป้องกันโรคอัลไซเมอร์

งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาคุณสมบัติด้านการลดอัตราเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ด้วยการบริโภคน้ำผักผลไม้ พบว่าผู้ที่บริโภคน้ำผักผลไม้มากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง/สัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่าผู้ที่ดื่มน้ำผักผลไม้เพียงสัปดาห์ละครั้งหรือน้อยกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางส่วนเป็นเพียงการทดลองโดยใช้น้ำผักผสมน้ำผลไม้ จึงทำให้ยากที่จะยืนยันว่าการบริโภคน้ำผักเพียงอย่างเดียวจะมีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนั้น ควรมีการค้นคว้าถึงสรรพคุณของน้ำผักให้ชัดเจน เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้ต่อไปในอนาคต

ดื่มน้ำผักดีกว่าการกินผักหรือไม่ ?

ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันได้ชัดเจนว่าน้ำผักจะให้สารอาหารและคุณประโยชน์เทียบเท่าหรือมากกว่าการบริโภคผัก เพราะถึงแม้น้ำผักอาจมีส่วนช่วยในการเสริมสารอาหารบางชนิดได้ แต่ก็ไม่สามารถทดแทนการกินผักได้ เนื่องจากการแปรรูปจากผักเป็นน้ำผักอาจทำให้สูญเสียกากใยอาหารจากเดิมที่มีไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ผักจะส่งผลดีต่อสุขภาพและให้คุณค่าทางโภชนาการสูงสุดเมื่อบริโภคโดยตรง

ข้อควรระวังในการดื่มน้ำผัก

แม้การดื่มน้ำผักอาจเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่ผู้บริโภคก็ควรดื่มด้วยความระมัดระวัง และตระหนักถึงข้อควรระวังจากการดื่มน้ำผัก ดังต่อไปนี้

  • สารเคมี ผู้บริโภคควรเลือกน้ำผักที่ทำจากผักปลอดสาร เพราะผลิตภัณฑ์น้ำผักบางชนิดอาจผ่านกระบวนการผลิตจากผักที่ปนเปื้อนสารเคมีอย่างสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายในรูปแบบต่าง ๆ โดยผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางรายก็อาจมีอาการเฉียบพลัน เรื้อรัง หรืออาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้
  • สารออกซาเลต (Oxalate) เป็นสารที่พบได้มากในผักใบเขียวต่าง ๆ อย่างผักโขม ซึ่งการบริโภคน้ำผักที่มีสารออกซาเลตในปริมาณมาก อาจทำให้ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตเกิดภาวะไตวายได้
  • ค็อกเทลน้ำผักผลไม้ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำผักผลไม้ในรูปแบบค็อกเทล เพราะเป็นเครื่องดื่มที่แต่งกลิ่นผักผลไม้ มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำเปล่าและมีน้ำผักผลไม้แท้ในปริมาณน้อย รวมทั้งอาจมีส่วนผสมของสารให้ความหวานอื่น ๆ อย่างน้ำเชื่อมข้าวโพดฟรุกโตส ซึ่งน้ำผักผลไม้ในรูปแบบค็อกเทลส่วนใหญ่ให้คุณค่าทางโภชนาการต่ำ คล้ายกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีน้ำตาลและแคลอรี่สูง
  • ความสมดุลของโภชนาการ เนื่องจากน้ำผักไม่มีส่วนประกอบของสารอาหารบางชนิด ร่างกายจึงอาจไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ดังนั้น ผู้ที่บริโภคน้ำผักอาจเลือกเพิ่มการบริโภคเวย์โปรตีน นมอัลมอนด์ อะโวคาโด โยเกิร์ตกรีก หรือเนยถั่วผสมกับน้ำผัก เพื่อเสริมสารอาหารอย่างโปรตีนหรือไขมันที่ร่างกายต้องการในปริมาณที่เพียงพอ
  • ปริมาณน้ำตาล น้ำผักผลไม้สำเร็จรูปตามท้องตลาดทั้งแบบกล่องและขวดมักมีส่วนผสมของน้ำเชื่อมหรือหัวเชื้อผสม อีกทั้งยังมีน้ำตาลสูง จึงควรเลือกบริโภคน้ำผักแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ที่ปราศจากสารปรุงรสอื่น ๆ หรือไม่มีน้ำตาล เพราะการรับประทานน้ำผักที่มีน้ำตาลปริมาณมากอาจทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ ซึ่งหากต้องการเพิ่มรสหวานในน้ำผัก ให้เลือกผสมน้ำผักกับน้ำผลไม้รสหวานในปริมาณน้อยแทน
  • ปฏิกิริยากับยา การบริโภคน้ำผักในระหว่างที่ใช้ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เนื่องจากน้ำผักอาจมีผลต่อประสิทธิภาพหรือการออกฤทธิ์ของยา เช่น การรับประทานน้ำผักที่มีวิตามินเคสูงอย่างคะน้าหรือผักโขม อาจส่งผลให้ยาวาร์ฟารินออกฤทธิ์ผิดไปจากเดิมได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้น้ำผักผลไม้สดมีวิตามินสำคัญและมีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ผักจะมีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุดก็ต่อเมื่อบริโภคเป็นหน่วย และหากต้องการดื่มน้ำผักในปริมาณมากก็ควรปรึกษาแพทย์ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยและกำลังใช้ยารักษาใด ๆ อยู่ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพในภายหลัง