7 สีลิ้นบอกโรค

การสังเกตสีลิ้นอาจช่วยบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกาย โดยสีลิ้นอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่สาเหตุของอาการ เช่น การสูบบุหรี่ สุขอนามัยภายในช่องปากไม่ดี การติดเชื้อภายในช่องปาก นอกจากนี้ การสังเกตสีลิ้นอาจบ่งบอกถึงสัญญาณของอาการที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น ภาวะขาดแคลนออกซิเจนในเลือด 

ลิ้นเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยในการเคี้ยวและกลืนอาหาร ช่วยรับรสชาติ อีกทั้งยังช่วยในการพูดหรือการออกเสียงให้ชัดเจน โดยสีลิ้นปกติหรือลิ้นสุขภาพดีมักมีสีชมพูเข้มหรืออ่อน หากสีลิ้นเปลี่ยนเป็นสีอื่น ๆ เช่น สีขาว สีแดง สีน้ำเงิน อาจหมายถึงปัญหาสุขภาพบางอย่าง ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับลิ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

สีลิ้นบอกโรค

ความหมายของสีลิ้นแต่ละสี

สีลิ้นอาจเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากอาหารหรือเครื่องดื่มที่กินเข้าไป โดยปุ่มลิ้น (Papillae) ที่กระจายอยู่ทั่วลิ้นอาจดูดซึมสีของอาหารหรือเครื่องดื่มที่กินเข้าไป ซึ่งอาจส่งผลให้สีลิ้นเปลี่ยนไป เช่น การดื่มกาแฟอาจทำให้ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล

โดยสีลิ้นที่เปลี่ยนไปเนื่องจากการกินอาหารหรือเครื่องดื่มมักเกิดขึ้นชั่วคราว และอาจหายไปได้ด้วยการดื่มน้ำหรือทำความสะอาดช่องปากเพื่อขจัดคราบอาหารและสีที่ติดอยู่ให้หลุดไป อย่างไรก็ตาม หากทำความสะอาดแล้วแต่สีลิ้นยังคงอยู่ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง โดยสีลิ้นแต่ละสีอาจมีความหมายต่างกัน เช่น

1. ลิ้นสีขาว

สีลิ้นอาจเปลี่ยนเป็นสีขาวทั่วทั้งลิ้น เป็นเส้น หรือเป็นฝ้าสีขาวบนลิ้น โดยส่วนใหญ่แล้ว ลิ้นเป็นฝ้าสีขาวมักเป็นอาการของการมีแบคทีเรีย คราบอาหาร หรือเซลล์ที่ตายแล้วเกาะอยู่บนลิ้น นอกจากนี้ ลิ้นสีขาวอาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่าง เช่น การติดเชื้อราในปาก โรคไลเคน พลานัสในปาก ซิฟิลิส ไข้ไทฟอยด์ และกรดไหลย้อน 

ทั้งนี้ หากลิ้นมีสีขาวอาจเป็นรอยโรคฝ้าขาว (Leukoplakia) ซึ่งนอกจากจะเกิดจากการระคายเคืองที่ลิ้นแล้ว ยังอาจเป็นสัญญาณก่อนเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย

2. ลิ้นสีเหลือง

คราบสีเหลืองบนลิ้นมักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของแบคทีเรีย เนื่องจากการไม่ดูแลรักษาความสะอาดภายในช่องปากหรือการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ลิ้นสีเหลืองอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ปากแห้ง โรคสะเก็ดเงิน ดีซ่าน และการใช้ยาบางชนิด เช่น ธาตุเหล็ก ยาคุมกำเนิด ยาที่ใช้ในการทำเคมีบำบัด โดยสาเหตุเหล่านี้อาจทำให้สีลิ้นเปลี่ยนเป็นสีอื่นนอกจากสีเหลือง เช่น ลิ้นสีส้ม ลิ้นสีเขียว

3. ลิ้นสีแดง

หากสีลิ้นเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือมีคราบสีแดงปรากฏขึ้นบนลิ้น อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการขาดวิตามินบี หรืออาการของลิ้นลายแผนที่ อย่างไรก็ตาม หากมีลิ้นสีแดงร่วมกับอาการบวม ลิ้นเป็นปุ่มขรุขระ อาจเป็นสัญญาณของอาการที่อาจเป็นอันตราย เช่น การแพ้อาหารหรือแพ้ยา ไข้อีดำอีแดง มะเร็งลิ้น และโรคคาวาซากิ 

4. ลิ้นสีดำ

ลิ้นสีดำเป็นสีลิ้นที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการมีสุขอนามัยภายในช่องปากไม่ดี การสูบบุหรี่ การฉายรังสี และยาบางชนิด เช่น ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth Subsalicylate) ยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) ยาเพนิซิลลิน (Penicillin)

โดยผู้ที่มีลิ้นสีดำมักมีขนเกิดขึ้นบนลิ้นร่วมด้วย โดยลิ้นเป็นขนอาจเกิดจากการสะสมตัวของคราบอาหารและคราบเคราตินบนลิ้น โดยเคราตินเป็นโปรตีนที่พบได้ในผม ผิวหนัง และเล็บ ซึ่งอาจส่งผลให้ลิ้นเป็นขนและมีสีดำ

5. ลิ้นสีเทา

ลิ้นสีเทาอาจเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร หรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Eczema) นอกจากนี้ ลิ้นสีเทาอาจเกิดขึ้นในผู้ที่มีลิ้นลายแผนที่ โดยคราบสีเทาหรือสีขาวอาจปรากฏขึ้นบริเวณขอบของรอยหรือจุดแดงบนลิ้นได้

6. ลิ้นสีม่วง

ลิ้นสีม่วงเป็นสีลิ้นที่พบได้น้อย โดยคราบสีม่วงบนลิ้นอาจเป็นอาการบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ร่างกายขาดวิตามินบี 2 การไหลเวียนเลือดไม่ดี โรคหัวใจ และโรคคาวาซากิ

7. ลิ้นสีน้ำเงิน

หากสีลิ้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน อาจเป็นอาการของการมีออกซิเจนภายในเลือดต่ำ โดยอาการนี้อาจส่งผลให้เล็บ ผิวหนัง ริมฝีปาก หรือลิ้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การสำลักอาหาร โรคหัวใจ โรคปอด โรคทางเดินหายใจ 

ทั้งนี้ หากมีลิ้นสีน้ำเงินเกิดขึ้น ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ไอ มึนศีรษะ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต

วิธีการดูแลตนเองเมื่อสีลิ้นเปลี่ยนไป

สาเหตุส่วนใหญ่ที่อาจส่งผลให้สีลิ้นเปลี่ยนไปมักเกิดจากการมีสุขอนามัยภายในช่องปากที่ไม่ดี ดังนั้น การรักษาความสะอาดภายในช่องปากอาจช่วยให้สีลิ้นกลับมาเป็นปกติได้ โดยวิธีการดูแลช่องปากให้สะอาดสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • ใช้แปรงสีฟันทำความสะอาดลิ้นทุกวัน โดยเริ่มจากการแลบลิ้น และใช้แปรงทำความสะอาดให้ทั่วลิ้นจากด้านในออกสู่ด้านนอก การแปรงลิ้นอาจช่วยให้คราบอาหารและคราบแบคทีเรียที่เกาะอยู่หลุดออกจากลิ้นได้
  • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์วันละ 1 ครั้ง
  • ใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดตามซอกฟันวันละ 1 ครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการใช้ยาสูบ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • ไปพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือนเพื่อตรวจฟัน และตรวจปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในช่องปาก

ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์หากสีลิ้นยังคงไม่กลับมาเป็นสีปกติหลังจากการดูแลสุขอนามัยภายในช่องปาก หรือลิ้นมีขนาดหรือรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแพทย์อาจวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาตามความเหมาะสมต่อไป