6 ประโยชน์ของวิตามินอี ที่ไม่ใช่แค่ช่วยบำรุงผิวพรรณ

หากจะพูดถึงประโยชน์ของวิตามินอี หลายคนอาจนึกถึงแค่ประโยชน์ในด้านการช่วยบำรุงผิวพรรณ เนื่องจากเรามักพบเห็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหลายชนิดที่มีวิตามินอีเป็นส่วนประกอบ แต่ในความจริงแล้ว วิตามินอียังมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ อีกมากมายที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

วิตามินอีเป็นวิตามินประเภทละลายในไขมันชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างวิตามินอีได้เอง จึงต้องได้รับจากการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น  ถั่ว เมล็ดพืช จมูกข้าวสาลี และน้ำมันจากพืชอย่างน้ำมันถั่วเหลืองหรือน้ำมันมะกอก รวมถึงในบางกรณีอาจได้รับจากการรับประทานอาหารเสริมวิตามินอีที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาด้วย

6 ประโยชน์ของวิตามินอี ที่ไม่ใช่แค่ช่วยบำรุงผิวพรรณ

ประโยชน์ของวิตามินอีที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

วิตามินอีมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ ดังนี้ 

1. มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระในร่างกายของคนเราเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เซลล์เกิดการอักเสบเสียหาย และอาจนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง การเสริมวิตามินอีที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ จึงอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังเหล่านี้ได้

2. ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

วิตามินอีเป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การได้รับวิตามินอีอย่างเหมาะสมในปริมาณที่ร่างกายต้องการ จะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และอาจส่งผลให้ร่างกายสามารถต่อสู่กับเชื้อโรค แบคทีเรีย หรือไวรัสที่ทำให้การเกิดโรคต่าง ๆ  ได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด หรือภูมิแพ้

3. ช่วยบำรุงผิวพรรณ

น้ำมันบนผิวหนังของคนเรามีวิตามินอีเป็นส่วนประกอบ ซึ่งน้ำมันบนผิวหนังจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง การเติมวิตามินอีให้ผิวหนังจึงจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันบนผิวหนัง และทำให้ผิวหนังสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นได้ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ วิตามินอียังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเซลล์ผิวหนังไม่ให้เสียหาย จึงอาจช่วยในการชะลอริ้วรอยก่อนวัยได้ด้วย

4. ช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือน 

วิตามินอีอาจมีประสิทธิภาพในการช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ เพราะคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระของวิตามินอีอาจช่วยลดการเกิดสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการบีบเกร็งบริเวณท้องน้อยเมื่อมีประจำเดือน 

นอกจากนี้ งานวิจัยในเพศหญิงที่มีอาการปวดท้องประจำเดือน 100 คน ยังพบอีกว่าผู้ที่รับประทานอาหารเสริมวิตามินอีร่วมกับอาหารเสริมโอเมก้า 3 ทุกวันมีอาการปวดท้องประจำเดือนน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทาน

5. ช่วยบรรเทาอาการของโรคเกี่ยวกับตับ 

วิตามินอีอาจช่วยบรรเทาอาการของภาวะไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease: NAFLD) รวมถึงภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดไขมันสะสมในตับได้ โดยการรับประทานอาหารเสริมวิตามินอีจะช่วยลดเอนไซม์ในตับ ลดระดับไขมันในเลือด และส่งผลให้สุขภาพของตับดีขึ้นนั่นเอง

6. อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางระบบประสาท

การรับประทานอาหารเสริมวิตามินอีร่วมกับอาหารเสริมวิตามินอี อาจช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองเล็กน้อย และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมลงได้ รวมถึงอาจช่วยชะลอการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์ในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ระดับเล็กน้อยถึงปานกลางด้วย

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีวิตามินอีสูง เช่น พืชตระกูลถั่ว อาจมีสารอาหารบางอย่างที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคพาร์กินสันได้ แต่ในอาหารเสริมวิตามินอีอาจไม่มีสารอาหารชนิดนี้ การได้รับวิตามินอีจากอาหารเสริมจึงอาจไม่สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคพาร์กินสันได้ 

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของวิตามินอีในการช่วยรักษาหรือป้องกันโรคต่าง ๆ อาจยังไม่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย เพราะงานวิจัยบางชิ้นเป็นงานวิจัยขั้นต้นที่ยังต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก ดังนั้นจึงควรรักษาโรคด้วยวิธีหลักที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์อย่างแพร่หลายก่อนเพื่อความปลอดภัย

ข้อควรรู้ก่อนเสริมวิตามินอีให้แก่ร่างกาย 

โดยทั่วไป การได้รับประโยชน์ของวิตามินอีจากการรับประทานอาหารมักไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย แต่การได้รับวิตามินอีจากการรับประทานอาหารเสริมนั้น หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายตามมาได้  ดังนั้น ผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารเสริมวิตามินอีเพื่อประโยชน์ในการบำรุงสุขภาพ ควรศึกษาข้อควรระวังในรับประทานอย่างถี่ถ้วน

ข้อควรระวังในรับประทานอาหารเสริมวิตามินอี มีดังนี้

  • ปริมาณวิตามินอีที่แนะนำต่อวันสำหรับคนทั่วไปที่มีอายุ 14 ปีขึ้นไป และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์คือประมาณ 14 มิลลิกรัม/วัน ส่วนผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตรควรได้รับประมาณ 19  มิลลิกรัม/วัน
  • แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่ร้ายแรงจากการรับประทานอาหารเสริมวิตามินอีในผู้ที่มีสุขภาพดี แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 1,000 มิลลิกรัม/วัน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกได้
  • หากผู้ที่กำลังรับประทานอาหารเสริมวิตามินอีมีแผนที่จะเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานอาหารเสริมวิตามินอีล่วงหน้า 2 สัปดาห์ เพราะการรับประทานอาหารเสริมวิตามินอีอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกได้
  • ผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น ภาวะขาดวิตามินเค ภาวะเลือดออกผิดปกติ โรคตับ โรคเบาหวาน โรคมะเร็งศีรษะและลำคอ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานอาหารเสริมวิตามินอี
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin) ยาลดไขมันในเลือด เช่น ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) รวมถึงผู้ที่ต้องทำเคมีบำบัดและรังสีรักษา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมวิตามินอี เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อร่างกายได้

เพื่อให้ได้รับประโยชน์ของวิตามินอีอย่างเต็มที่และปลอดภัยต่อร่างกายมากที่สุด ควรรับประทานอาหารเสริมวิตามินอีตามคำแนะนำของแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด และรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีสุขภาพดีการรับประทานอาหารหลัก 5 หมู่อย่างครบถ้วนก็สามารถทำให้ร่างกายได้รับวิตามินอีอย่างเพียงพอแล้ว