5 ยาแก้แพ้ที่หาซื้อได้เอง และใช้ได้ผล

ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการแพ้ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม คันตา ตาแดง น้ำตาไหล และผื่นขึ้น ซึ่งเกิดจากโรคภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้ขึ้นตา ภูมิแพ้ผิวหนัง ลมพิษ แพ้อาหาร แพ้แมลง และบรรเทาอาการจากโรคหวัด ซึ่งช่วยให้ผู้ที่มีอาการสามารถใช้ชีวิตประจำวันและนอนหลับได้ดีขึ้น

ยาแก้แพ้จะช่วยยับยั้งการหลั่งสารฮิสตามีน ซึ่งร่างกายปล่อยออกมาหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น อาหาร ฝุ่น ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ และพิษจากแมลง ซึ่งยาแก้แพ้แบ่งเป็น 2 ชนิด คือยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วงและไม่ทำให้ง่วง การใช้ยาแก้แพ้อย่างเหมาะสมจะช่วยควบคุมและบรรเทาอาการแพ้ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ยาแก้แพ้

รู้จักยาแก้แพ้ที่หาซื้อได้เอง

ยาแก้แพ้ที่หาซื้อได้เองมักเป็นยาชนิดรับประทาน ซึ่งยาแต่ละตัวมีวิธีการรับประทานและผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. คลาริทิน (Clarityne) ชนิดเม็ด 5 เม็ด/แผง

Clarityne

คลาริทินมีตัวยาลอราทาดีน (Loratadine) 10 มิลลิกรัม/เม็ด ใช้บรรเทาอาการแพ้ของระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไหล จาม คันจมูก คันตา และแสบตา เนื่องจากโรคภูมิแพ้ และใช้บรรเทาอาการลมพิษเรื้อรัง และอาการแพ้ทางผิวหนังอื่น ๆ ได้ด้วย แต่ไม่ควรใช้ยานี้ลดน้ำมูกจากโรคหวัด

ขนาดและวิธีใช้ที่แนะนำสำหรับยาคลาริทีนคือ ผู้ใหญ่และเด็กอายุเกิน 12 ปี รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 14 วัน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกับยาซิสซาไพรด์ (Cisapride)

คลาริทินเป็นยาแก้แพ้ที่สามารถออกฤทธิ์นานสูงสุด 24 ชั่วโมง และอยู่ในกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วง อย่างไรก็ดี ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง ควรระมัดระวังและทดสอบก่อนว่ารับประทานยานี้แล้วไม่ง่วง 

2. คลอเฟ (Chlophe) 10 เม็ด/แผง

Chlophe

ยาแก้แพ้คลอเฟใช้บรรเทาอาการภูมิแพ้ต่างๆ เช่น แพ้อากาศ แพ้ฝุ่นละออง แพ้อาหาร และลมพิษ รวมทั้งช่วยลดน้ำมูกในผู้ที่เป็นหวัด ใน 1 เม็ดประกอบด้วยตัวยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) 2 มิลลิกรัม

ยานี้ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยรับประทานทุก 4–6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ ขนาดที่แนะนำให้รับประทานตามฉลากยาคือ ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1–2 เม็ด และไม่ควรรับประทานเกินวันละ 12 เม็ด เด็กอายุตั้งแต่ 6–12 ปี รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด และไม่ควรกินเกินวันละ 6 เม็ด

คลอเฟจัดเป็นยาแก้แพ้ที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม จึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานกับเครื่องจักรขณะที่ใช้ยานี้

3. ซีร์เทค (Zyrtec) 10 เม็ด/แผง

Zyrtec

ซีร์เทคเป็นยาแก้แพ้ที่ประกอบด้วยตัวยาเซทิริซีน ไดไฮโดรคลอไรด์ (Cetirizine Dihydrochloride) 10 มิลลิกรัม/เม็ด ใช้เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ จากการแพ้ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล คันคอ จาม ตาแดง คันตา น้ำตาไหล จากโรคเยื่อจมูกอักเสบ หรือไข้ละอองฟาง และยังใช้บรรเทาอาการทางผิวหนัง เช่น คัน ลมพิษจากการแพ้ และแมลงกัดต่อย

ยาซีร์เทคชนิดเม็ดใช้สำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่อายุ 6 ปีขึ้นไป ขนาดที่แนะนำให้ใช้คือ เด็กอายุ 6–12 ปี รับประทานครั้งละ ½ เม็ด (5 มิลลิกรัม) วันละ 2 ครั้ง เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่รับประทานวันละ 1 เม็ด

แม้ยาซีร์เทคจะจัดอยู่ในกลุ่มยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง แต่ผู้ใช้ยาบางรายอาจมีอาการง่วงซึมได้ คนที่รับประทานยานี้แล้วมีอาการง่วงซึม ควรงดขับขี่ยานพาหนะและงดทำงานกับเครื่องจักร 

4. อัลเลอร์นิค (Allernix) ชนิดเม็ด 10 เม็ด/แผง

Allernix

อัลเลอร์นิคเป็นยาแก้แพ้ที่มีตัวยาหลักคือ ลอราทาดีน 10 มิลลิกรัม/เม็ด ใช้รักษาอาการแพ้ในระบบทางเดินหายใจ เช่น คันจมูก จาม น้ำมูกไหล คันตา แสบตาจากโรคภูมิแพ้ ช่วยบรรเทาอาการลมพิษเรื้อรัง และอาการแพ้ทางผิวหนังอื่น ๆ ยานี้ควรใช้เฉพาะรักษาอาการจากโรคภูมิแพ้ ไม่ใช้เพื่อลดน้ำมูกในโรคหวัด

อัลเลอร์นิคเป็นยาแก้แพ้ที่ออกฤทธิ์ได้นาน และอยู่ในกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วง แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการง่วงซึมได้ ยานี้สามารถใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยรับประทานวันละ 1 เม็ด ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยาอัลเลอร์นิคร่วมกับยาซิสซาไพรด์ (Cisapride)  หากรับประทานยาอัลเลอร์นิคต่อเนื่องกันเกิน 14 วัน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร 

5. เทลฟาสต์ (Telfast) 10 เม็ด/แผง

Telfast

ยาแก้แพ้เทลฟาสต์ประกอบด้วยตัวยาสำคัญคือ เฟกโซเฟนาดีน ไฮโดรคลอไรด์ (Fexofenadine Hydrochloride) 180 มิลลิกรัม/เม็ด ใช้บรรเทาอาการแพ้จากโรคภูมิแพ้ ช่วยลดอาการน้ำมูกไหล จาม คัดจมูก คันตา น้ำตาไหล ตาแดง คันในจมูก เพดานปาก และคอ รวมถึงลมพิษเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุ

ยาเทลฟาสต์ออกฤทธิ์ได้เร็วและมีประสิทธิภาพควบคุมอาการแพ้ได้ยาวนาน 24 ชั่วโมง เหมาะสำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง เทลฟาสต์จัดอยู่ในกลุ่มยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง แต่บางรายอาจเกิดอาการง่วงซึมได้

นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยาลดกรด ซึ่งมีส่วนผสมของอลูมิเนียม หรือแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบ ให้รับประทานยาลดกรดก่อนหรือหลังการรับประทานยานี้เป็นเวลา 2–3 ชั่วโมง เนื่องจากการรับประทานยาพร้อมกันจะลดประสิทธิภาพการดูดซึมของตัวยาเฟกโซเฟนาดีน

ยาแก้แพ้มีหลายชนิด ซึ่งมีข้อบ่งใช้และผลข้างเคียงต่างกัน จึงควรปรึกษาเภสัชกรและใช้ยาแก้แพ้ตามที่ระบุบนฉลากหรือตามที่เภสัชกรแนะนำ โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์ กำลังให้นมบุตร เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหืด โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ และลมชัก รวมทั้งผู้ที่ใช้ยาอื่นอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยาแก้แพ้เสมอ 

การใช้ยาแก้แพ้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ปัสสาวะลำบาก และง่วงซึม โดยเฉพาะยาแก้แพ้ในกลุ่มที่ทำให้ง่วง จึงไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับการใช้ยาแก้แพ้ เพราะอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมมากขึ้น หากมีอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ไม่สามารถใช้ยาแก้แพ้ทั่วไปในการรักษาได้ กรณีที่มียาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ชนิดพกพา ควรฉีดให้ผู้มีอาการแพ้รุนแรงทันที และไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

นอกจากการใช้ยาแก้แพ้ ควรดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัส สูดดม หรือรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ ใช้เครื่องฟอกอากาศ และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อชะล้างสารก่อภูมิแพ้ หากใช้ยาแก้แพ้ที่หาซื้อได้เองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาเพิ่มเติม