6 อาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยา รู้ไว้ปลอดภัยกว่า

รู้หรือไม่ อาหารบางชนิดไม่ควรกินร่วมกับยา เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยอาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยามีหลายชนิด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมถึงนม ทั้งนี้ หากคุณรู้ว่าอาหารชนิดใดบ้างที่สามารถทำปฏิกิริยากับยาได้ คุณก็จะสามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างเหมาะสม

อาหารบางชนิดเมื่อกินร่วมกับยาแล้ว อาจส่งผลต่อเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายตัวยาในร่างกาย ทำให้ยาออกฤทธิ์ในร่างกายน้อยเกินไป จนไม่สามารถบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจทำให้ยาออกฤทธิ์ในร่างกายนานเกินไป และทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงตามมา ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการกินอาหารบางชนิดร่วมกับยา เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และมีเลือดออก 

อาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยา

ปลอดภัยไว้ก่อน! เช็ก 6 อาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยา

อาหารที่อาจทำปฏิกิริยากับยา จนทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ มีดังนี้

1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ และสุรา มักถูกระบุไว้บนฉลากหรือเอกสารกำกับยาว่าไม่ควรดื่มในขณะที่กำลังใช้ยา เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและตับได้ โดยเฉพาะการเกิดอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน

ตัวอย่างยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ยาแก้ปวดอย่างยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า หรือยาคลายกังวล ยิ่งไปกว่านั้น การเสพติดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายของตับและเกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารด้วย

2. ผลิตภัณฑ์จากนม 

นมและผลิตภัณฑ์จากนมอย่างไอศครีม โยเกิร์ต หรือชีส เป็นอาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคไทรอยด์ ยารักษาโรคกระดูกพรุน รวมถึงธาตุเหล็ก เพราะผลิตภัณฑ์จากนมเหล่านี้จะลดการดูดซึมตัวยาในร่างกาย และส่งผลให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ โดยควรหลีกเลี่ยงการกินผลิตภัณฑ์จากนมก่อนการใช้ยา 2 ชั่วโมง และหลังจากการใช้ยา 6 ชั่วโมงด้วย

3. ผักที่มีวิตามินเคสูง 

ผักที่มีวิตามินเคสูง เช่น คะน้า ผักโขม บร็อคโคลี ผักเคล กะหล่ำดาว แครอท และผักชีฝรั่ง เป็นอาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างยาวาฟาริน (Warfarin) โดยหากร่างกายได้รับผักเหล่านี้ในปริมาณมากในขณะที่ใช้ยาวาฟาริน อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด และอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

4. อาหารที่มีสารไทรามีนสูง 

อาหารที่มีสารไทรามีน (Tyramine) สูงเป็นอาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยาต้านเศร้ากลุ่มเอ็มเอโอไอ (MAOI) เช่น ยาไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid) ยาฟีเนลซีน (Phenelzine) ยาเซเลกิลีน (Selegiline) และยาทรานิลซัยโปรมีน (Tranylcypromine) เพราะสารไทรามีนอาจออกฤทธิ์ร่วมกับยาทำให้เกิดผลข้างเคียงคือความดันโลหิตสูงได้ 

ตัวอย่างอาหารที่มักมีสารไทรามีนสูง ได้แก่ อาหารหมักดองอย่างผักกาดดองหรือกิมจิ อาหารแปรรูปอย่างไส้กรอก ชีสบ่มที่มีอายุมาก รวมถึงซีอิ๊วด้วย

5. น้ำผลไม้บางชนิด

น้ำผลไม้บางชนิด โดยเฉพาะน้ำเกรปฟรุต เป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในขณะที่กำลังใช้ยาหลายชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาแก้แพ้ ยาลดคอเรสเตอรอล ยาลดความดันโลหิต ยากันชัก รวมถึงยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เพราะหากดื่มน้ำเกรปฟรุตในปริมาณมากขณะที่กำลังใช้ยา อาจเพิ่มหรือลดประสิทธิภาพของตัวยา ส่งผลให้ยาออกฤทธิ์อย่างไม่เหมาะสม และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายตามมาได้

นอกจากนี้ น้ำผลไม้ชนิดอื่น ๆ อย่างน้ำส้ม น้ำส้มโอ หรือน้ำแครนเบอร์รี่ ก็อาจต้องระมัดระวังในการกินร่วมกับยา หรืออาจสอบถามแพทย์ก่อน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อร่างกาย

6. ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

ชา กาแฟ และเครื่อมดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อกำลังใช้ยาหลายชนิดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ไข้ ยารักษาโรคภูมิแพ้ ยารักษาโรคกระดูกพรุน ยารักษาโรคไทรอยด์ ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ ยาต้านอาการซึมเศร้า รวมถึงยารักษาโรคจิตเภทด้วย

เพราะเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนจะส่งผลต่อการดูดซึมของตัวยาในร่างกาย และทำให้ตัวยาเพิ่มขึ้นหรือลดลง จนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ในบางกรณีตัวยาก็อาจส่งผลในการลดประสิทธิภาพของคาเฟอีนที่ดื่มเข้าไปเช่นเดียวกัน

อาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยาอาจมีอีกหลายชนิด ดังนั้น หากคุณกำลังใช้ยาตัวใดก็ตามอยู่ ควรศึกษาข้อควรระวังในการใช้ยาอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ทราบว่ามีสิ่งใดที่ต้องหลีกเลี่ยงในระหว่างการใช้ยาบ้าง และช่วยให้สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้

นอกจากนี้ วิธีการกินยาให้ปลอดภัยที่สุดคือการกินยากับน้ำเปล่า และควรเว้นช่วงในการกินยาทั้งก่อนและหลังมื้ออาหารประมาณ 2–3 ชั่วโมง ทั้งนี้ ยามีทั้งชนิดที่ระบุควรกินพร้อมอาหารทันทีและไม่ควรกินพร้อมอาหาร จึงควรอ่านฉลากหรือปรึกษาแพทย์อย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น