ยาต้านฮีสตามีนหรือยาแก้แพ้ ชนิด รูปแบบ และวิธีใช้ให้ปลอดภัย

ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อยาแก้แพ้ เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการแพ้ชนิดไม่รุนแรงอย่างผื่นคัน ลมพิษ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันตา หรือน้ำตาไหล ส่วนใหญ่แล้ว ยาต้านฮีสตามีนสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

ยาต้านฮีสตามีนสามารถใช้บรรเทาอาการแพ้รูปแบบต่าง ๆ เช่น แพ้อากาศ แพ้จากการสัมผัส แพ้สารเคมี และอาการแพ้แบบอื่น ๆ ยาต้านฮีสตามีนจะเข้าไปยับยั้งการหลั่งของฮิสตามีนที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานไวเกินกว่าปกติ ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮิสตามีนออกมาเมื่อร่างกายสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ อย่างฝุ่น เชื้อรา เกสรดอกไม้ หรือน้ำหอม

ยาแก้แพ้มีหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถเลือกใช้ตามตำแหน่งของอาการที่พบ สำหรับยาแก้แพ้ในรูปแบบยากินยังแบ่งออกเป็นอีก 2 ชนิด คือ ชนิดที่ทำให้ง่วงและชนิดที่ไม่ทำให้ง่วง ยาทั้งสองชนิดก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันจึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับอาการ แม้ว่ายาแก้แพ้จะเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็อาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงได้เช่นกัน สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคภูมิแพ้ ข้อมูลเกี่ยวกับยาแก้แพ้ในบทความนี้อาจช่วยคุณได้

ยาต้านฮีสตามีนหรือยาแก้แพ้ ชนิด รูปแบบ และวิธีใช้ให้ปลอดภัย

ยาต้านฮีสตามีนใช้รักษาอาการอะไรได้บ้าง?

อาการแพ้ชนิดไม่รุนแรงสามารถใช้ยาต้านฮีสตามีนเพื่อบรรเทาได้ เช่น

  • ผื่นแดง คัน ลมพิษ
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม
  • ตาแดง คันตา น้ำตาไหล
  • ไอ เจ็บคอ คอแห้ง
  • อาการบวมตามผิวหนัง เปลือกตา

ยาต้านฮีสตามีนจึงสามารถใช้บรรเทาอาการของโรคภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ อย่างแพ้อากาศ โรคไข้ละอองฟาง แพ้อาหาร ลมพิษเรื้อรัง อาการแพ้จากแมลงและสัตว์มีพิษกัดต่อย ทั้งนี้อาการแพ้อาหารและการถูกแมลงและสัตว์มีพิษกัดต่อยอาจเสี่ยงต่ออาการแพ้รุนแรงที่เป็นอันตรายได้มากกว่าอาการแพ้แบบอื่นจึงควรระมัดระวังและเฝ้าสังเกตอาการเสมอ

นอกจากนี้ยาต้านฮีสตามีนบางตัวอาจใช้เพื่อบรรเทาอาการจากโรคหวัดและโรคไข้หวัดใหญ่ แต่สามารถใช้บรรเทาได้เฉพาะบางอาการที่เกิดจากการอาการแพ้หรือการหลั่งฮิสตามีนเท่านั้น

ชนิดของยาต้านฮีสตามีน

ยาต้านฮีสตามีนแบ่งออกเป็น 2 ชนิดดังนี้

1. ยาต้านฮีสตามีนชนิดง่วงซึม

ยาต้านฮีสตามีนชนิดนี้มักมีผลข้างเคียงเป็นอาการง่วงซึมหลังใช้ เนื่องจากยาชนิดนี้ออกฤทธิ์ทั่วร่างกายรวมถึงสมองจึงทำให้รู้สึกง่วงหลังใช้ แต่ยาต้านฮีสตามีนชนิดนี้ก็มีข้อดีอื่น ๆ เช่น ช่วยในการนอนหลับ บรรเทาความเครียด และยังช่วยแก้อาการเมารถได้อีกด้วย ฤทธิ์ของยาต้านฮีสตามีนชนิดง่วงซึมสามารถคงอยู่ได้ประมาณ 12 ชั่วโมง

ตัวอย่างยาในกลุ่มยาต้านฮีสตามีนชนิดทำให้ง่วงซึม เช่น ยาคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ยาไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) ยาไฮดรอไซซีน (Hydroxyzine) ยาบรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) รวมถึงยาออกซาโทไมด์ (Oxatomide) และยาคีโตติเฟน (Ketotifen) ซึ่งต้องใช้ติดต่อกัน 2 สัปดาห์จึงอาจช่วยป้องกันอาการแพ้ได้

อย่างไรก็ตามอาการง่วงซึมจากการใช้ยากลุ่มนี้อาจส่งผลต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรหรือต้องขับขี่ยานพาหนะเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ อาจพบผลข้างเคียงอื่น ๆ อย่างปากแห้ง ตาแห้ง ตาพร่า เห็นภาพซ้อน ปวดท้อง และท้องผูก

2. ยาต้านฮิสตามินชนิดไม่ง่วง

ยาแก้แพ้ชนิดนี้เป็นยาแก้แพ้ที่มักไม่ทำให้ง่วง เพราะฤทธิ์ของยาผ่านเข้าไปในสมองไม่ได้หรืออาจผ่านเข้าไปได้น้อยกว่ายาชนิดแรก ผู้ใช้บางคนจึงอาจพบอาการง่วงซึมหลังใช้ได้ ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงสามารถใช้บรรเทาอาการแพ้ได้ไม่ต่างจากยาชนิดแรก แต่ไม่มีคุณสมบัติช่วยในการนอนหลับ บรรเทาความเครียด หรือแก้อาการเมารถแบบยาชนิดแรก 

ยาแก้แพ้กลุ่มนี้สามารถออกฤทธิ์ได้ราว 12‒24 ชั่วโมงตามปริมาณของยา และการใช้ยาแก้แพ้ในกลุ่มนี้สามารถพบผลข้างเคียงได้เช่นกัน อย่างง่วงซึม อ่อนเพลีย ปวดท้อง ไอ เจ็บคอ ปวดหัว และคลื่นไส้

ตัวอย่างยาต้านฮีสตามินชนิดไม่ง่วง เช่น ยาเซทิริซีน (Cetirizine) ยาเลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) ยาลอราทาดีน (Loratadine) ยาเดสลอราทาดีน (Desloratadine) และยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine)

รูปแบบของยาต้านฮีสตามีน

นอกจากยากินที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกายแล้ว เราสามารถเลือกใช้ยาต้านฮีสตามีนในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการแพ้แบบเฉพาะจุด เช่น

  • ยาต้านฮีสตามีนรูปแบบครีม เจล และโลชั่นสำหรับอาการลมพิษ ผื่นแดงคัน ผิวหนังอักเสบ และอาการบวมบริเวณผิวหนัง
  • ยาต้านฮีสตามีนรูปแบบยาหยอดตาสำหรับอาการคันตา ระคายเคืองตา ตาแดง และน้ำตาไหล
  • ยาต้านฮีสตามีนรูปแบบสเปรย์ฉีดโพรงจมูกสำหรับอาการคัดจมูก คันในโพรงจมูก และน้ำมูกไหล

ยาต้านฮีสตามีนชนิดไหนดีที่สุด?

คำถามนี้เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับยาต้านฮีสตามีน ซึ่งในปัจจุบันนั้นไม่มีคำตอบที่แน่ชัด เนื่องจากยาต้านฮีสตามีนอาจออกฤทธิ์ในร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกันไป แม้ว่าจะเป็นยาในกลุ่มเดียวกัน อีกทั้งผู้ใช้บางส่วนไม่พบความแตกต่างเกี่ยวกับการออกฤทธิ์บรรเทาอาการแพ้

ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ยาต้านฮีสตามีนที่ใช้แล้วสามารถบรรเทาอาการแพ้และมีผลข้างเคียงที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันน้อยที่สุด หรืออาจเลือกใช้ตามจุดประสงค์ อย่างเลือกใช้ยาต้านฮีสตามีนชนิดทำให้ง่วงซึม เมื่อไปเที่ยวที่อาจช่วยทั้งบรรเทาอาการแพ้และช่วยบรรเทาอาการเมารถ แต่สำหรับคนที่ทำงานที่ต้องตื่นตัวตลอดเวลาก็อาจเลือกใช้ยาต้านฮีสตามีนแบบไม่ง่วงแทน

วิธีใช้ยาต้านฮีสตามีนอย่างปลอดภัย

แม้ว่ายาต้านฮีสตามีนจะเป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปและผลข้างเคียงที่พบมักไม่เป็นอันตราย แต่วิธีต่อไปนี้อาจช่วยให้ใช้ยาชนิดนี้ได้ปลอดภัยมากขึ้น

  1. บอกแพทย์และเภสัชกรก่อนซื้อหรือรับยาถึงอาการที่พบ โรคประจำตัว ยาที่ใช้ ประวัติแพ้ยา และอาหารเสริมและสมุนไพรที่กำลังใช้ หากเป็นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรก็ควรแจ้งด้วยเช่นกัน
  2. อ่านฉลากยาก่อนใช้และใช้ยาตามที่แพทย์และเภสัชกรเสมอ เพราะยาแก้แพ้มีหลายชนิดและหลายขนาดจึงควรใช้ตามคำแนะนำที่ถูกต้อง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ควรถามแพทย์หรือเภสัชกร
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้แพ้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาต้านเศร้า ยาโรคกระเพาะ และยารักษาอาการอาหารไม่ย่อย เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียง นอกจากนี้ ยาแก้ไอและยาแก้หวัดบางยี่ห้อมีส่วนผสมของยาต้านฮีสตามีนอยู่ก่อน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาซ้ำซ้อนกันเพราะอาจเสี่ยงต่อการได้รับยาเกินขนาด
  4. ยาต้านฮีสตามีนสามารถใช้ต่อเนื่องได้อย่างปลอดภัย เมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสม

ยาต้านฮีสตามีนสามารถบรรเทาอาการแพ้ชนิดไม่รุนแรงเท่านั้น แต่หากพบสัญญาณของอาการแพ้รุนแรงหรือแอนาฟิแลกซิส (Anaphylaxis) ที่มักเกิดจากการแพ้อาหาร แพ้ยา หรือถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น อาการบวมบริเวณริมฝีปาก ใบหน้า และลำคอ ปวดท้องรุนแรง เวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่ออก เสียงหายใจแหบหวีด หรือชัก เป็นต้น ผู้ป่วยควรไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้