5 เมนูอาหารว่างสำหรับคนท้องที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์

การเลือกรับประทานอาหารในช่วงตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญ คุณแม่จึงควรใส่ใจรายละเอียดในทุกมื้อ ตั้งแต่อาหารมื้อหลักไปจนถึงอาหารว่างสำหรับคนท้อง ในบทความนี้ได้รวบรวมรายชื่ออาหารว่างสำหรับคนท้องที่ทั้งอร่อยและดีต่อสุขภาพครรภ์ เพื่อเป็นไอเดียในการรับประทานให้กับคุณแม่

คุณแม่ควรใส่ใจเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเป็นพิเศษในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากอาหารที่รับประทานจะส่งผลต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยในด้านปริมาณ คุณแม่ควรเพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารในแต่ละวันขึ้นเล็กน้อย หรือประมาณ 340 กิโลแคลอรี่ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 450 กิโลแคลอรี่ในช่วงไตรมาสที่ 3

4 เมนูอาหารว่างสำหรับคนท้องที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์

ส่วนในด้านสารอาหาร คุณแม่ควรได้รับอย่างเพียงพอ โดยสารอาหารที่จำเป็นหลัก ๆ จะประกอบไปด้วย กรดโฟลิค (Folic Acid) โปรตีน แคลเซียม ใยอาหาร วิตามินดี วิตามินเอ วิตามินซี ธาตุเหล็ก และแคลเซียม ซึ่งนอกจากจะพบในอาหารจานหลักทั่วไปแล้ว ยังสามารถพบได้ในอาหารว่างอีกหลายชนิด ซึ่งคุณแม่สามารถดูตัวอย่างได้จากในบทความนี้

5 เมนูอาหารว่างสำหรับคนท้อง

คุณแม่ที่กำลังมองหาอาหารว่างสำหรับคนท้องอยู่ อาจลองนำเมนูต่อไปนี้ไปเป็นไอเดียในการรับประทานอาหารว่างในช่วงตั้งครรภ์ 

แอปเปิล

ในช่วงตั้งครรภ์ที่ร่างกายกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ปัญหาหนึ่งที่คุณแม่หลายคนมักพบก็คือ อาการท้องผูก 

หนึ่งในวิธีที่อาจช่วยบรรเทาอาการนี้ได้คือ การรับประทานอาหารหรือผักผลไม้ที่มีใยอาหารสูง เนื่องจากใยอาหารจะช่วยให้อุจจาระของคุณแม่นิ่มและถูกขับออกไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งตัวอย่างผลไม้ในกลุ่มนี้ที่หารับประทานได้ง่ายก็คือ แอปเปิล โดยในแอปเปิลขนาดกลาง 1 ผลจะให้ใยอาหารอยู่ที่ประมาณ 4 กรัม กับพลังงานอีกเพียงประมาณ 95 กิโลแคลอรี่

โยเกิร์ต

โยเกิร์ตเป็นแหล่งของสารอาหาร 2 ชนิดที่มีประโยชน์ต่อลูกน้อยในครรภ์คือ แคลเซียม และโปรตีน โดยในโยเกิร์ตรสธรรมชาติประมาณ 100 กรัม ปริมาณแคลเซียมจะอยู่ที่ประมาณ 127 มิลลิกรัม ส่วนโปรตีนจะอยู่ที่ประมาณ 3–4 กรัม ทั้งนี้ ปริมาณแคลเซียมและโปรตีนอาจแตกต่างกันไปตามสูตรและยี่ห้อของโยเกิร์ต

โดยแคลเซียมจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก ฟัน หัวใจ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท ส่วนโปรตีนจะเป็นส่วนสำคัญต่อกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกาย เซลล์ และกระบวนการผลิตเลือด 

ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ คุณแม่ควรเลือกโยเกิร์ตสูตรน้ำตาลต่ำ เพื่อควบคุมแคลอรี่ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

ถั่วแระญี่ปุ่น

ถั่วแระญี่ปุ่นถือเป็นพืชที่ให้โปรตีน ใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินเค และสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการตั้งครรภ์อย่างกรดโฟลิค โดยถั่วแระญี่ปุ่น 100 กรัมจะให้กรดโฟลิคในปริมาณ 311 ไมโครกรัม

กรดโฟลิคเป็นสารอาหารที่คุณแม่ทุกคนควรทำความรู้จักและหามารับประทาน เนื่องจากมีความสำคัญต่อกระบวนการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติในกลุ่มหลอดประสาทไม่ปิด (Neural Tube Defect) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติทางสมองและไขสันหลังในทารกได้อีกด้วย โดยปริมาณที่แนะนำจะอยู่ที่ประมาณ 490–550 ไมโครกรัม/วัน

ถั่วลิสง

ถั่วลิสงถือเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ให้กรดโฟลิคสูงและสามารถหารับประทานได้ง่าย อีกทั้งยังอุดมไปด้วยโปรตีน ใยอาหาร และแร่ธาตุหลากชนิด

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่มีประวัติแพ้ถั่วลิสงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานพืชชนิดนี้ เนื่องจากในกรณีรุนแรง อาการแพ้อาจนำไปสู่ภาวะแอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) ซึ่งเป็นภาวะแพ้ขั้นรุนแรงที่อาจส่งผลให้ผู้ที่แพ้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

มะม่วง

มะม่วงเป็นผลไม้ที่ให้สารอาหารสำคัญต่อทั้งคุณแม่และทารกหลายชนิด ทั้งใยอาหาร วิตามินเอ และวิตามินซี 

โดยวิตามินเอจะเป็นส่วนสำคัญต่อกระบวนการเจริญเติบโตของทารกในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นกระดูก การมองเห็น และอวัยวะต่าง ๆ ส่วนวิตามินซีจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคอลลาเจน กระบวนการดูดซึมธาตุเหล็กของคุณแม่ ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ใช้ในการผลิตเลือดเพื่อช่วยลำเลียงออกซิเจนไปให้ทารกในครรภ์ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์ได้

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรกำหนดปริมาณการรับประทานวิตามินเอให้พอดี เนื่องจากการรับประทานวิตามินเอที่มากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกพิการตั้งแต่กำเนิดได้ โดยปริมาณวิตามินเอที่แนะนำสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะอยู่ที่ประมาณ 650–800 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งในมะม่วงดิบ 1 ผลจะให้วิตามินเอที่ประมาณ 113 ไมโครกรัม

นอกจากนี้ มะม่วงยังถือเป็นผลไม้ที่ให้น้ำตาลค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น ๆ ดังนั้น คุณแม่จึงควรเลือกรับประทานมะม่วงในปริมาณที่ให้พอเหมาะเพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาล

ทั้งนี้ ก่อนรับประทานอาหารว่างสำหรับคนท้องหรืออาหารใด ๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรคำนึงถึงนอกจากด้านสารอาหารคือ คุณแม่ควรตรวจสอบความสะอาดและวันหมดอายุของอาหารก่อนทุกครั้ง และสำหรับคุณแม่ที่มีประวัติแพ้อาหารหรือมีโรคประจำตัวอยู่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาหารที่สามารถรับประทานได้ก่อน เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์