แอปเปิ้ล กินดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงหรือ

แอปเปิ้ล นับเป็นผลไม้อีกชนิดที่ผู้คนทุกวัยนิยมรับประทานอย่างแพร่หลาย นอกจากจะนำมาแปรรูปได้หลากหลาย หารับประทานได้ง่าย รสชาติอร่อยแล้ว ยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ที่เชื่อว่าดีต่อร่างกายหลายอย่าง ไม่ว่าจะช่วยดูแลอาการท้องร่วงหรือท้องผูก ลดขนาดก้อนนิ่ว ป้องกันโรคมะเร็ง หรืออุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุงร่างกาย อีกทั้งยังปรากฏงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณของแอปเปิ้ลในการรักษาปัญหาสุขภาพหลายมุมมอง เพื่อพิสูจน์ว่าแอปเปิ้ลมีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่

แอปเปิ้ล

แอปเปิ้ลมีสรรพคุณทางยาจริงหรือไม่

คุณประโยชน์เกี่ยวกับแอปเปิ้ลได้รับการกล่าวอ้างหลายประการ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความเชื่อที่พูดต่อกันมา แต่ยังปรากฏงานวิจัยทางการแพทย์ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของแอปเปิ้ลอันส่งผลต่อสุขภาพหลายประเด็น โดยแต่ละประเด็นนั้นก็มีผลการทดลองที่แตกต่างกัน ดังนี้

ป้องกันปัญหาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

โรคหัวใจและหลอดเลือดเกี่ยวเนื่องกับภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว เนื่องจากเกิดการสะสมคราบพลัคตามผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบและเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลงหรือหยุดการไหลเวียนของโลหิตในกรณีที่เกิดลิ่มเลือด โดยเหตุดังกล่าวอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดสมองตีบตัน การรับประทานแอปเปิ้ลอาจช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากแอปเปิ้ลมีสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของหลอดเลือดและลดความดันโลหิต คือสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีชนิดหนึ่ง พบได้ในพืชและผลไม้หลายอย่าง เช่น ชาเขียว เบอร์รี่ คะน้าฝรั่งหรือผักเคล หัวหอม รวมทั้งแอปเปิ้ล โดยสารฟลาโวนอยด์ที่พบในแอปเปิ้ลนั้นเป็นฟลาโวนอยด์ชนิดเควอซิทิน (Quercetin) ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหอบ มะเร็งบางชนิด และโรคหลอดเลือดหัวใจ ข้อสันนิษฐานนี้ได้รับการพิสูจน์จากการทดลองคุณสมบัติของฟลาโวนอยด์ในแอปเปิ้ลกับไนเตรทในผักปวยเล้ง เพื่อดูว่าสารอาหารทั้ง 2 อย่าง ส่งผลต่อระดับไนตริกออกไซด์อันช่วยบำรุงหลอดเลือดสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีหรือไม่ พบว่าฟลาโวนอยด์และไนเตรทที่ได้จากการรับประทานแอปเปิ้ลหรือผักปวยเล้งนั้นเพิ่มระดับไนตริกออกไซด์ในร่างกายได้เป็นอย่างดี เสริมสร้างการทำงานของหลอดเลือด และระดับความดันโลหิตลดลง ซึ่งอาจส่งผลดีต่อสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจ ทั้งนี้ ผลการทดลองยังสอดคล้องกับงานทบทวนวิจัยที่ศึกษาประเด็นนี้ โดยพบว่าประสิทธิภาพของฟลาโวนอยด์ในแอปเปิ้ล โกโก้ และชา ช่วยบำรุงการทำงานของหลอดเลือดและลดความดันโลหิต อย่างไรก็ตาม ยังต้องศึกษาปริมาณสารฟลาโวนอยด์ที่ส่งผลให้ร่างกายได้รับประโยชน์ดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มเติม

แม้งานวิจัยหลายชิ้นจะแสดงว่าฟลาโวนอยด์ในแอปเปิ้ลมีฤทธิ์บำรุงหลอดเลือดและลดความดันโลหิตหรือไขมันไม่ดีในร่างกาย อันช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่งานวิจัยบางชิ้นกลับแสดงผลตรงกันข้าม งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ได้ศึกษาความเกี่ยวข้องของการบริโภคเคทาชินกับการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง โดยรวบรวมข้อมูลจากผู้ชายอายุ 65-84 จำนวน 806 ราย ตั้งแต่ปี 1985 และทำการศึกษาต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี พบว่าสารเคทาชินที่ได้จากการบริโภคแอปเปิ้ล ชาดำ หรือช็อกโกแลต อาจลดความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด แต่ไม่ได้ส่งผลต่อโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งนี้ การได้รับเคทาชินจากแหล่งอาหารที่ต่างชนิดกัน ก็อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยงานวิจัยอีกชิ้นที่ทำการศึกษาการบริโภคสารดังกล่าวกับอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในกลุ่มสตรีวัยทอง พบว่าการได้รับสารเคทาชินจากแอปเปิ้ลและไวน์เกี่ยวเนื่องกับอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ในขณะที่สารเคทาชินในชาเขียวไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว ความเชื่อเกี่ยวกับสารฟลาโวนอยด์อาจต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย กล่าวคือ คุณประโยชน์ในการป้องกันปัญหาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดนั้นอาจขึ้นอยู่กับแหล่งอาหารที่ได้รับฟลาโวนอยด์ พฤติกรรมการกิน หรือลักษณะการใช้ชีวิต

นอกจากนี้ กากใยหรือไฟเบอร์ของแอปเปิ้ลอาจเสริมสร้างสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจได้มากขึ้น ดังปรากฏในงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 23 ราย รับประทานแอปเปิ้ลแบบต่าง ๆ ได้แก่ แอปเปิ้ลเต็มผล กากแอปเปิ้ล น้ำแอปเปิ้ลใส และน้ำแอปเปิ้ลเข้มข้น โดยต้องบริโภคแอปเปิ้ลแต่ละรูปแบบวันละ 5 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าผู้ที่บริโภคแอปเปิ้ลทั้งผล กากแอปเปิ้ล หรือน้ำแอปเปิ้ลเข้มข้น มีระดับความเข้มข้นของไขมันไม่ดีลดลง โดยกากแอปเปิ้ลลดความเข้มข้นของไขมันไม่ดีมากถึงร้อยละ 7.9 ต่างจากผู้ที่ดื่มน้ำแอปเปิ้ลแบบใสที่มีระดับความเข้มข้นของไขมันไม่ดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานแอปเปิ้ลทั้งผลหรือกากแอปเปิ้ล อาจกล่าวได้ว่าไฟเบอร์ที่ได้รับจากการรับประทานแอปเปิ้ลเต็มผล กากแอปเปิ้ล หรือน้ำแอปเปิ้ลที่มีตะกอนนั้นช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ถึงอย่างนั้น ไม่ว่าจะรับประทานแอปเปิ้ลรูปแบบใด ก็ไม่ได้ส่งผลต่อระดับไขมันดี น้ำหนักตัว สัดส่วนระหว่างเอวและสะโพก หรือความดันโลหิต

ต้านอนุมูลอิสระ

หากร่างกายได้รับสารอนุมูลอิสระเข้าไป อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ได้ ผู้ที่ได้รับสารอนุมูลอิสระปริมาณมากอาจทำให้เซลล์ภายในร่างกายถูกทำลาย โดยเชื่อว่าเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอันเกิดจากความเสื่อมตามอายุบางโรค ทั้งนี้ สารอนุมูลอิสระในร่างกายจะเพิ่มขึ้นตามอายุ อันนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และเซลล์ถูกทำลาย แอปเปิ้ลมีโพลีฟีนอล ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและบำรุงสุขภาพ หลายคนเชื่อว่าโพลีฟีนอลช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น ควบคุมน้ำหนัก หรือดูแลอาการป่วยโรคเบาหวานและระบบประสาท โดยเฉพาะเปลือกแอปเปิ้ลที่อุดมไปด้วยโพลีฟีนอลซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระ งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้เปรียบเทียบคุณค่าของสารต้านอนุมูลอิสระจากส่วนต่าง ๆ ของแอปเปิ้ล ประกอบด้วย เปลือก เนื้อแอปเปิ้ล และเนื้อรวมเปลือกแอปเปิ้ล ของแอปเปิ้ล 4 ชนิด ได้แก่ Rome Beauty, Idared, Cortland และ Golden Deliciouse พบว่าเปลือกแอปเปิ้ลทั้ง 4 ชนิดอุดมไปด้วยสารฟีนอลและฟลาโวนอยด์มากที่สุด และมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าเนื้อแอปเปิ้ล  อีกทั้งช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งตับไม่ให้เจริญได้มากเมื่อเทียบกับส่วนประกอบอื่นของผลแอปเปิ้ล

อย่างไรก็ดี ผู้ที่ต้องการรับประทานแอปเปิ้ลเพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ไม่ว่าจะช่วยลดคอเลสเตอรอลหรือป้องกันมะเร็งนั้น ไม่ควรหวังพึ่งประโยชน์จากการรับประทานแอปเปิ้ลเพียงอย่างเดียว แต่ควรสร้างสุขลักษณะที่ดีในการดำเนินชีวิตควบคู่กับการเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ในกรณีที่ประสบปัญหาสุขภาพ เนื่องจากการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้แอปเปิ้ลเป็นสารป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าแอปเปิ้ลมีสารอาหารที่ช่วยเรื่องดังกล่าวจริง แต่ต้องค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อเจาะจงว่าสารอาหารจากธรรมชาติตัวใดที่ป้องกันเซลล์มะเร็ง รวมทั้งระบุระยะเวลาและปริมาณการบริโภคที่ช่วยให้ได้รับสรรพคุณทางยาจริง ทั้งนี้ ยังไม่มีงานวิจัยประเด็นดังกล่าวที่เกี่ยวกับคนมากนัก โดยผลการทบทวนงานวิจัยอีกชิ้นแสดงให้เห็นว่าสารอาหารหรือสารสกัดแอปเปิ้ลมีฤทธิ์ป้องกันมะเร็งและต้านอนุมูลอิสระสำหรับการวิจัยในหลอดทดลอง และผลิตภัณฑ์จากแอปเปิ้ลช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนัง เต้านม หรือลำไส้ในการทดลองกับสัตว์ จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าการรับประทานแอปเปิ้ลจะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพดังกล่าวในคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รักษาความดันโลหิต  

สารฟลาโวนอยด์ในแอปเปิ้ลส่งผลดีต่อความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด ฮอร์โมนเลปติน ภาวะอ้วน และอาการอักเสบในร่างกาย งานวิจัยหนึ่งได้ทำการทดลองเกี่ยวกับประสิทธิภาพการรักษาความดันโลหิตด้วยยาควบคู่กับการรับประทานอาหารฟลาโวนอยด์สูงที่มีต่ออาการป่วย โดยให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอายุ 20-55 ปี จำนวน 79 ราย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่กินยาแคปโตพริล กลุ่มที่กินยาแคปโตพริลร่วมกับฟลาโวนอยด์ กลุ่มที่กินยาเทลมิซาร์เทน และกลุ่มที่กินเทลมิซาร์เทนร่วมกับฟลาโวนอยด์ เป็นเวลา 6 เดือน พบว่ากลุ่มที่รับประทานยาร่วมกับอาหารสารฟลาโวนอยด์สูงจากแอปเปิ้ลแดงอบแห้ง ดาร์คช็อกโกแลต และชาเขียวมีระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ลดลงร้อยละ 30.6 เมื่อเทียบกับผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วยยาความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น เปลือกแอปเปิ้ลยังอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของหลอดเลือดในร่างกาย อันเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง งานวิจัยที่ผ่านมาได้ศึกษาประเด็นดังกล่าว โดยนำสารสกัดฟลาโวนอยด์จากแอปเปิ้ลมาทดสอบกับเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดมนุษย์ในหลอดทดลอง พบว่าสารฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์ต้านกระบวนการที่ก่อให้เกิดการบีบตัวของหลอดเลือด ช่วยควบคุมความดันโลหิต อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้จำเป็นต้องทำการศึกษากับสัตว์หรือคนเพิ่มเติมต่อไป

แม้จะปรากฏงานวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของผักผลไม้ที่ช่วยลดความดันโลหิต แต่ผลวิจัยเหล่านั้นก็ได้จากการทดลองระยะสั้น และมีงานวิจัยที่ศึกษาประเด็นดังกล่าวในระยะยาวไม่มากนัก ผู้ที่ต้องการได้รับประโยชน์ของแอปเปิ้ลสำหรับดูแลปัญหาสุขภาพ จึงควรรับประทานแอปเปิ้ลแต่พอดี เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ช่วยรักษาปัญหาสุขภาพดังกล่าวในระยะเวลาและปริมาณที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ควรเลือกรับประทานผักผลไม้ให้หลากหลาย เนื่องจากยังมีสารอาหารอื่นที่ช่วยในเรื่องเสริมสร้างการทำงานของหลอดเลือดซึ่งรวมไปถึงโพแทสเซียม งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาเปรียบเทียบระดับโพแทสเซียมที่ส่งผลต่อการทำงานของหลอดเลือด พบว่าการบริโภคกล้วยและมันฝรั่งซึ่งมีโพแทสเซียมสูงภายใน 1 สัปดาห์ช่วยเพิ่มปริมาณการไหลเวียนเลือดเมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำกว่าอย่างแอปเปิ้ลหรือข้าว ถึงอย่างนั้น ผลการทดลองดังกล่าวไม่ปรากฏความแตกต่างของความดันโลหิตที่ชัดเจนจากการบริโภคอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงและอาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ อาจกล่าวได้ว่าการรับประทานแอปเปิ้ลหรือพืชผลไม้อื่น ๆ เพื่อหวังสรรพคุณทางยานั้น จำเป็นต้องรับประทานแต่พอเหมาะ เนื่องจากยังไม่ปรากฏผลรับรองทางการแพทย์ อีกทั้งสารอาหารบางอย่างที่ได้รับมากเกินไปอาจส่งผลต่อภาวะสุขภาพบางประการได้

เสริมสร้างระบบประสาท

พาร์กินสันคือปัญหาสุขภาพเกี่ยวเนื่องกับระบบประสาทที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยอาจเริ่มมือสั่นและเกิดอาการมากขึ้น รวมทั้งเกิดอาการข้อติดแข็งหรือเคลื่อนไหวได้ช้าร่วมด้วย งานวิจัยชิ้นหนึ่งต้องการพิสูจน์ว่าการบริโภคอาหารฟลาโวนอยด์สูงจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคดังกล่าวได้หรือไม่ โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นโรคพาร์กินสันจำนวน 805 ราย ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตและประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆ รวมทั้งเก็บข้อมูลการบริโภคของผู้ป่วยตั้งแต่ปี 1986 เพื่อนำมาวิเคราะห์ พบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองเพศชายที่ได้รับสารฟลาโวนอยด์ในปริมาณสูงเสี่ยงเกิดโรคพาร์กินสันน้อยกว่าผู้ที่รับสารฟลาโวนอยด์ต่ำ คิดเป็นร้อยละ 40 อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจสรุปได้ว่าการรับประทานอาหารที่มีฟลาโวนอยด์สูงอย่างแอปเปิ้ล ชา เบอร์รี่ ไวน์แดง หรือส้ม จะช่วยป้องกันการป่วยเป็นโรคดังกล่าวได้ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างระดับสารฟลาโวนอยด์ที่ได้รับกับความเสี่ยงการเกิดโรคพาร์กินสันไม่ปรากฏกับผู้เข้าร่วมการทดลองเพศหญิง

อย่างไรก็ดี สารฟลาโวนอยด์อาจไม่ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างที่กล่าวอ้างกันมา โดยงานวิจัยอีกชิ้นได้ศึกษาเปรียบเทียบสรรพคุณของสารฟลาโวนอยด์จากแอปเปิ้ลและสารไนเตรทจากผักปวยเล้ง พบว่าแอปเปิ้ลและผักปวยเล้งช่วยเพิ่มระดับไนเตรทที่พบตามน้ำลายหรือปัสสาวะ แต่ไม่ปรากฏผลชี้ชัดว่าสารอาหารจากพืชทั้งสองอย่างบำรุงหรือทำลายกระบวนการการเรียนรู้และอารมณ์ของผู้บริโภค

กินแอปเปิ้ลอย่างไรให้ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ

แอปเปิ้ลเป็นผลไม้ที่รับประทานได้ทุกเพศทุกวัย โดยจะรับประทานแอปเปิ้ลทั้งผลหรือดื่มเป็นน้ำแอปเปิ้ลก็ได้ ส่วนสารโพลีฟีนอลจากแอปเปิ้ลอาจปลอดภัยต่อร่างกายในกรณีที่บริโภคหรือใช้ทาผิวในระยะสั้น ที่สำคัญ ควรเลี่ยงรับประทานเมล็ด เนื่องจากเมล็ดแอปเปิ้ลมีไซยาไนด์ซึ่งเป็นยาพิษ หากรับประทานเมล็ดแอปเปิ้ลเข้าไปในปริมาณมาก อาจได้รับไซยาไนด์ที่ปล่อยออกมาในกระเพาะอาหารเมื่อเกิดการย่อย โดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมจากสหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับแอปเปิ้ลให้เป็นผลไม้ที่ปนเปื้อนสารพิษมากที่สุด ผู้ที่ต้องการรับประทานแอปเปิ้ลจึงควรล้างแอปเปิ้ลให้สะอาดก่อนนำมาบริโภค ทั้งนี้ ผู้ที่ประสบภาวะสุขภาพบางอย่างควรระวังการรับประทานแอปเปิ้ล ดังนี้

  • สตรีมีครรภ์หรือผู้ที่ให้นมบุตรรับประทานแอปเปิ้ลได้ แต่ควรเลี่ยงรับประทานแอปเปิ้ลเพื่อหวังผลทางยา เนื่องจากยังไม่ปรากฏข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยในการรับประทานแอปเปิ้ลจำนวนมากสำหรับรักษาปัญหาสุขภาพ
  • ผู้ที่เกิดอาการแพ้อาหารบางอย่างควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานแอปเปิ้ล เนื่องจากอาจเกิดอาการแพ้ได้ โดยปรึกษาแพทย์ในกรณีที่แพ้แอพปริคอต อัลมอนด์ ลูกพลัม พีช ลูกแพร์ หรือสตรอว์เบอร์รี่
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรสังเกตระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งจำกัดปริมาณการบริโภคแอปเปิ้ลและน้ำแอปเปิ้ล เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้