ท้องผูกขณะตั้งครรภ์ สาเหตุและการรักษาที่คุณแม่ควรรู้

ท้องผูกขณะตั้งครรภ์เป็นปัญหาที่ทำให้ว่าที่คุณแม่รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว แถมยังอาจส่งผลถึงอารมณ์และความรู้สึก คุณแม่จึงควรทราบถึงสาเหตุและวิธีช่วยบรรเทาอาการเพื่อการดูแลตัวเองในระหว่างตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย

ท้องผูก ตั้งครรภ์

ท้องผูกขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

อาการท้องผูกเกิดขึ้นได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อยที่ประสบกับปัญหานี้ สาเหตุเกิดจากการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อลำไส้ ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวและย่อยอาหารได้ช้าลงจนเกิดอาการท้องผูกตาม

นอกจากนี้ การเจริญเติบโตของทารกก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีอาการท้องผูกได้ เพราะเมื่อมดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้นอาจจะส่งผลให้เกิดแรงดันบริเวณทวารหนักจนกระทบต่อระบบขับถ่าย อีกทั้งการรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กก็อาจทำให้มีผลข้างเคียงเป็นอาการท้องผูกได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อรับประทานในปริมาณมาก

ท้องผูกขณะตั้งครรภ์อันตรายหรือไม่ ?

อาการท้องผูกในขณะตั้งครรภ์มักไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพโดยรวมของว่าที่คุณแม่หรือทารกในครรภ์ ทว่าบางครั้งอาการท้องผูกก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายได้ หากมีอาการท้องผูกร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปวดท้อง ท้องผูกสลับกับท้องเสียอย่างต่อเนื่อง ถ่ายเป็นมูกหรือเลือด เป็นต้น

นอกจากนี้ การขับถ่ายที่ลำบากมากขึ้นจากอาการท้องผูกยังอาจทำให้เกิดริดสีดวงทวาร อาจมีเลือดออก และทำให้คุณแม่เกิดความรู้สึกเจ็บบริเวณทวารหนักได้ แต่ส่วนใหญ่มักดีขึ้นและหายได้เองหลังคลอดบุตร ทว่าหากมีอาการเจ็บปวดรุนแรงผิดปกติหรือมีเลือดออกทางทวารหนักมาก หรือออกไม่หยุด ควรรีบไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูกน้อยในครรภ์

แม้ว่าอาการท้องผูกของคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะไม่อันตรายร้ายแรง แต่อาจทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดจากการไม่ถ่ายและอาการท้องอืด ส่งผลให้หงุดหงิด ไม่สบายตัว และน่ารำคาญ ซึ่งการขับถ่ายได้ง่าย อุจจาระไม่แข็งย่อมดีต่อสุขภาพของคุณแม่มากกว่า

ท้องผูกขณะตั้งครรภ์ดูแลรักษาได้อย่างไร ?

อาการท้องผูกที่เกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์อาจบรรเทาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการรับประทานเช่นเดียวกับอาการท้องผูกในคนทั่วไป โดยปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ให้มากขึ้น

    การเพิ่มอาหารที่มีไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารในมื้ออาหารจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่ายและช่วยให้อาการท้องผูกดีขึ้นได้ ควรรับประทานไฟเบอร์ที่มาจากผัก ผลไม้ หรือธัญพืชไม่ขัดสีให้ได้อย่างน้อย 25‒30 กรัมต่อวัน เช่น ลูกพรุน ฝรั่ง ผักโขม อัลมอนด์ เป็นต้น

  • ดื่มน้ำให้มาก เพื่อลดอาการท้องผูก

    นอกจากการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ การดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะช่วยให้ไฟเบอร์ทำงานได้มากขึ้นและส่งผลดีต่อการขับของเสียออกจากร่างกาย อีกทั้งยังช่วยให้คุณแม่ได้รับน้ำเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอีกด้วย

    เพราะร่างกายของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์นั้นต้องการของเหลวมากขึ้น เพื่อช่วยการไหลเวียนโลหิตของทั้งตัวคุณแม่เองและลูกน้อย รวมถึงช่วยสร้างน้ำคร่ำที่หล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ โดยคุณแม่ควรได้รับของเหลวประมาณ 10‒12 แก้วต่อวัน หรือราว 2,400‒2,800 มิลลิลิตร

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

    คุณแม่ที่ออกกำลังกายน้อยจะยิ่งเสี่ยงต่ออาการท้องผูกได้ ดังนั้น แม้จะตั้งครรภ์ก็ควรหมั่นออกกำลังกายเบา ๆ ด้วยการเดิน ว่ายน้ำ โยคะ หรือออกกำลังกายตามความเหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20‒30 นาที เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบลำไส้

  • ปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้อาหารเสริมธาตุเหล็ก

    เนื่องจากการรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องผูกได้ ในคุณแม่ที่มีอาการท้องผูกมาก การปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนปริมาณยาธาตุเหล็ก และเน้นการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดอาการท้องผูกได้

    อย่างไรก็ตาม แพทย์มักสั่งจ่ายยาธาตุเหล็กให้คุณแม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณธาตุเหล็กที่คุณแม่ต้องการในแต่ละวัน เพื่อจัดสรรปริมาณอาหารร่วมกับยาที่มีธาตุเหล็กได้อย่างเหมาะสมและช่วยลดอาการท้องผูก ร่วมกับสอบถามวิธีหลีกเลี่ยงและบรรเทาอาการท้องผูกจากการใช้ยาเสริมธาตุเหล็กและการตั้งครรภ์

  • เพิ่มอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics)

    โพรไบโอติกส์ คือ จุลินทรีย์มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่ภายในร่างกายมนุษย์ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นชี้ว่าโพรไบโอติกส์ส่งผลดีต่อการทำงานของลำไส้และการขับถ่าย ซึ่งอาจช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก และอาการปวดท้องด้วยการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้

    โพรไบโอติกส์ที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพลำไส้มีหลายชนิด อย่าง Bifidobacterium Lactis (B. Lactis) และ Lactobacillus Casei (L. Casei) โดยโพรไบโอติกส์พบได้ในอาหารหมักดอง อย่างโยเกิร์ตและกิมจิ รวมไปถึงอาหารเสริมโพรไบโอติกส์รูปแบบต่าง ๆ

    การได้รับโพรไบโอติกส์ขณะตั้งครรภ์นั้นค่อนข้างปลอดภัยและอาจบรรเทาอาการท้องผูกขณะตั้งครรภ์ได้ เพื่อความปลอดภัย คุณแม่ควรเลือกอาหารหมักดองที่สะอาด หากต้องการใช้อาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็น วิธีใช้ที่ถูกต้อง และความเสี่ยงก่อนเสมอ

  • ใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์

    หากท้องผูกยังไม่บรรเทาด้วยวิธีการต่าง ๆ ข้างต้น คุณแม่อาจใช้ยาบางชนิดที่มีขายทั่วไปตามร้านขายยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องผูก เช่น ผงไฟเบอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยในการทำงานของระบบลำไส้และทำให้อาการท้องผูกลดลง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย

ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรสังเกตการขับถ่ายของตนเองเป็นประจำ ไม่ควรปล่อยให้ท้องผูกเป็นเวลานาน เพราะอุจจาระจะยิ่งแข็ง และเป็นปัญหามากขึ้น โดยคุณแม่ควรขับถ่ายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพอื่นที่อาจตามมา  หากคุณแม่ขับถ่ายน้อยกว่านั้น หรืออุจจาระแข็งมาก ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล

วิธีรักษาอาการท้องผูกที่ควรหลีกเลี่ยงขณะตั้งครรภ์

แพทย์มักไม่แนะนำให้สตรีมีครรภ์ใช้ยาระบายบางชนิดเพื่อรักษาอาการท้องผูก เนื่องจากยาบางชนิดอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำหรือเกิดการหดตัวของมดลูกและส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

นอกจากนี้ ควรระมัดระวังการรักษาอาการท้องผูกขณะตั้งครรภ์ด้วยน้ำมันมิเนอรัลที่ช่วยหล่อลื่นอุจจาระ เพราะอาจส่งผลทำให้ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุได้ลดลง ซึ่งอาจเป็นผลเสียต่อทั้งแม่และเด็ก แต่หากอาการท้องผูกไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงแม้ลองทำตามวิธีต่าง ๆ ดังข้างต้นแล้ว ควรไปรับการรักษาจากแพทย์ โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาระบายที่มีฤทธิ์เพิ่มปริมาณไฟเบอร์ หรือทำให้อุจจาระนิ่ม เพื่อช่วยให้คุณแม่ถ่ายได้ง่ายขึ้น