ตั้งครรภ์กับภาวะโลหิตจาง เรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรรู้

โลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์เป็นภาวะที่คนท้องหลายคนต้องเผชิญ เนื่องจากเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตราย แต่คุณแม่ควรศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุและวิธีป้องกันโลหิตจาง เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของตนเองและลูกในท้อง

ตั้งครรภ์ (1)

โลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์เกิดจากอะไร ?

เมื่อตั้งครรภ์ ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อพัฒนาการของทารก รวมไปถึงระบบเลือดที่พยายามสร้างเม็ดเลือดแดงมากขึ้น แต่หากร่างกายมีแร่ธาตุหรือสารประกอบอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอ คุณแม่อาจเกิดภาวะโลหิตจางได้ โดยมักมีสาเหตุมาจากการขาดแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อการสร้างเลือด ดังต่อไปนี้

  • โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เกิดจากการได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งคนท้องจะต้องได้รับแร่ธาตุชนิดนี้มากกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 2 เท่า เพื่อใช้ในการผลิตเม็ดเลือดแดงให้มากขึ้นและขนส่งออกซิเจนไปยังทารกในครรภ์
  • โลหิตจางจากการขาดโฟเลต การขาดกรดโฟลิกหรือโฟเลตส่งผลให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงในร่างกายลดลงจนเกิดภาวะโลหิตจาง ทั้งยังอาจทำให้ทารกเสี่ยงเกิดความพิการแต่กำเนิด เนื่องจากโฟเลตเป็นสารอาหารสำคัญต่อการเสริมสร้างระบบประสาทของทารก
  • โลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 วิตามินบี 12 มีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง การได้รับสารอาหารชนิดนี้ไม่เพียงพอในระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อีกทั้งอาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะพิการแต่กำเนิดหรือคลอดก่อนกำหนด โดยภาวะโลหิตจางชนิดนี้มักพบในคนท้องที่รับประทานเนื้อสัตว์ ไข่ หรือผลิตภัณฑ์จากนมไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ ภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น การสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมากในระหว่างตั้งครรภ์เนื่องจากสาเหตุบางอย่าง หรือในระหว่างคลอดบุตร ซึ่งในกรณีเหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางที่รุนแรงและเป็นอันตรายได้

โลหิตจางขณะตั้งครรภ์ มีอาการอย่างไรบ้าง ?

ในช่วงแรกเริ่ม ภาวะโลหิตจางมักไม่มีสัญญาณเตือน คนท้องจึงอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่หากอาการเริ่มรุนแรงขึ้น คุณแม่อาจสังเกตถึงความผิดปกติดังต่อไปนี้

  • ผิวซีดผิดปกติ
  • หายใจถี่
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • วิงเวียนศีรษะ ไม่มีสมาธิ
  • รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียผิดปกติ
  • มือเท้าเย็น หรือมีอาการชา

ทั้งนี้ หากมีอาการดังข้างต้น คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์ได้

โลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ส่งผลอย่างไรกับแม่และทารก ?

ผลกระทบของภาวะโลหิตจางในระหว่างตั้งครรภ์จะรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับชนิดของโลหิตจางที่เป็น โดยภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยงเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์มีดังต่อไปนี้

  • คลอดก่อนกำหนด
  • น้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์
  • ภาวะโลหิตจางในเด็ก
  • พัฒนาการของเด็กล่าช้า
  • เกิดความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง

ในกรณีที่มีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง คุณแม่อาจต้องเข้ารับการให้เลือด หรือหากเป็นโรคโลหิตจางจากพันธุกรรมก็อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งในกรณีนี้ คุณแม่จะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัย

โลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ รักษาอย่างไร ?

ตั้งแต่ในการฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะตรวจวัดระดับเม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบินในเลือดว่าอยู่ในระดับที่ผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากการมีปริมาณส่วนประกอบของเลือดดังกล่าวต่ำกว่าเกณฑ์สามารถบ่งบอกถึงภาวะโลหิตจาง จากนั้นแพทย์อาจใช้การตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป

หากตรวจพบว่าเป็นโรคโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะให้รับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือด โดยกำหนดปริมาณยาที่เหมาะสมต่อคุณแม่แต่ละคนมากที่สุด แต่ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรงอาจต้องได้รับการให้เลือดเพื่อเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงในร่างกาย

โลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ป้องกันได้อย่างไร ?

วิธีป้องกันภาวะโลหิตจางที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์คือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารอย่างครบถ้วน โดยในแต่ละวันคุณแม่ควรได้รับสารอาหาร ที่ช่วยในการสร้างเลือดอย่างธาตุเหล็กอย่างน้อยวันละ 27 มิลลิกรัม และกรดโฟลิคอย่างน้อยวันละ 400 ไมโครกรัม

นอกจากนี้ เพื่อให้ได้รับแร่ธาตุและวิตามินเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยวางแผนในการรับประทานอาหารและวิตามินเสริมอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานอาหารเจหรือเป็นมังสวิรัติที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 12 ซึ่งพบได้มากในเนื้อสัตว์ ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม โดยจำเป็นต้องได้รับอย่างเพียงพอทั้งในขณะตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อยในระยะยาว