โรค 4s หรือ SSSS โรคที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม

โรค 4s ย่อมาจาก Staphylococcal Scalded Skin Syndrome (SSSS) เป็นโรคผิวหนังติดเชื้อที่มีความรุนแรง มักพบในทารกหรือเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี และจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะผู้ป่วยโรค 4s เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มากมาย

ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผิวของลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเด็กมีอาการคล้ายกับโรค 4s เพื่อให้ลูกน้อยได้รับการรักษาที่ถูกวิธี และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในภายหลัง

โรค 4s หรือ SSSS โรคที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม

โรค 4s มีสาเหตุมาจากอะไร

โรค 4s เป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังจากแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ซึ่งปกติจะพบแบคทีเรียนี้ตามจมูก รักแร้ เชิงกรานหรืออวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความผิดปกติร้ายแรง หรืออาจก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังไม่รุนแรง  

โดยเด็กอาจได้รับเชื้อแบคทีเรียมาจากสัมผัส เช่น ผู้ใหญ่เพิ่งสัมผัสกับผู้ป่วยโรค 4s แล้วมาสัมผัสตัวเด็ก การใช้ผ้าขนหนูหรือของเล่นร่วมกับผู้ป่วย เมื่อผิวหนังเกิดการติดเชื้อ เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะปล่อยสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดหรืออวัยวะส่วนต่าง ๆ 

สารพิษดังกล่าวจะควบรวมกับเซลล์โปรตีนของผิวชั้นนอกและแสดงอาการของโรคให้เห็นอย่างชัดเจนตามผิวหนัง เนื่องจากร่างกายเด็กยังไม่ค่อยมีภูมิต้านทาน ทำให้ไม่สามารถกำจัดแบคทีเรียออกจากร่างกายหรือป้องกันการติดเชื้อได้ดีเท่าผู้ใหญ่ จึงเป็นเหตุว่าทำไมโรค 4s มักพบในเด็กเล็กได้มากกว่าวัยอื่น

สัญญาณของโรค 4s ที่ควรใส่ใจ

เด็กที่ป่วยด้วยโรค 4s จะเริ่มแสดงอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ เกิดผื่นแดงลักษณะเป็นรอยย่นหรือตุ่มน้ำบริเวณใบหน้า คอ รักแร้หรือเชิงกราน ก่อนจะเกิดเป็นแผลพุพองภายในเวลา 1–2 วัน และแผลอาจแตกจนทำให้ผิวชื้นหรือผิวลอกเป็นแผ่น มีลักษณะคล้ายแผลไฟไหม้ รวมทั้งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • เป็นไข้หนาวสั่น
  • ร้องกวน งอแง
  • เด็กมีท่าทางอ่อนเพลีย
  • ตาแดง
  • เกิดภาวะขาดน้ำ
  • ปวดบริเวณที่ติดเชื้อหรือกดแล้วเจ็บ 
  • เกิดแผลรอบสะดือหรือผิวบริเวณที่สัมผัสกับผ้าอ้อม หากเป็นเด็กเล็กอาจเกิดแผลตามลำตัว แขน หรือขา
  • รู้สึกอุ่นบริเวณที่เกิดรอยแดง ผิวลอกเมื่อถูหรือกดเบา ๆ 

โรค 4s รักษาได้ไหม

ทารกหรือเด็กเล็กที่ป่วยด้วยโรค 4s จำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากแพทย์จะต้องฉีดยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย อย่างยาคลอกซาซิลลิน (Cloxacillin) แต่แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยากลุ่มสเตียรอยด์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและไต

นอกจากนี้ อาจต้องใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดไข้ ทาวาสลีนเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และให้ดื่มน้ำปริมาณมากเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำในระหว่างการรักษา ทั้งนี้ ลูกน้อยที่ป่วยด้วยโรค 4s จะมีอาการดีขึ้นภายใน 24–48 ชั่วโมงหลังรับการรักษาและจะหายดีในระยะเวลา 5–7 วัน

ในกรณีที่เด็กป่วยด้วยโรค 4s แล้วไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะปอดอักเสบ ภาวะเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) หรือภาวะช็อกจากการติดเชื้อ (Septic Shock) ซึ่งอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองสามารถลดความเสี่ยงของโรค 4s ในเด็กได้โดยการตัดเล็บของลูกให้สั้นอยู่เสมอเพื่อป้องกันการสะสมเชื้อโรค อาบน้ำและรักษาความสะอาดของร่างกายลูก ทำความสะอาดผ้าขนหนูและผ้าปูที่นอนด้วยน้ำร้อน ไม่ใช้ผ้าขนหนูหรือสิ่งของส่วนตัวของลูกร่วมกับคนอื่น หากลูกมีแผลเปิดควรทำความสะอาดบาดแผลและปิดแผลให้สนิทอยู่เสมอ และควรให้คนที่อยู่ใกล้ชิดลูกล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสเด็ก