โรคไหลตายในเด็ก

ความหมาย โรคไหลตายในเด็ก

SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือโรคไหลตายในเด็ก เกิดขึ้นเมื่อเด็กทารกเสียชีวิตอย่างไม่คาดคิดและกะทันหันทั้งที่ดูมีสุขภาพดี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในขณะที่เด็กนอนหลับอยู่ และเด็กมักไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนใด ๆ ก่อนการเสียชีวิต สาเหตุของโรคนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มักเกิดกับเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี และในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันหรือรักษาโรคนี้ได้

อาการของ SIDS

เด็กทารกที่ป่วยเป็นโรคนี้มักเสียชีวิตอย่างฉับพลันในขณะที่นอนหลับอยู่ โดยก่อนการเสียชีวิตเด็กมักไม่มีอาการป่วย หรือแสดงความผิดปกติใด ๆ ออกมา อีกทั้งยังดูมีสุขภาพแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดี และร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน  

2029 SIDS rs

สาเหตุของ SIDS

แม้จะยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคไหลตายในเด็กหรือ SIDS แต่คาดว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ ดังนี้

  • อายุ ส่วนใหญ่โรคนี้เกิดในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี โดยมักเป็นเด็กที่มีอายุระหว่าง 2-4 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอมากที่สุด
  • เพศ เด็กผู้ชายมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจาก SIDS มากกว่าเด็กผู้หญิง
  • ความผิดปกติทางสมอง สมองส่วนที่ควบคุมการหายใจและภาวะตื่นตัวขณะนอนหลับของเด็กบางรายอาจยังไม่พร้อมทำงานเป็นปกติ รวมทั้งเด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำเนื่องจากการคลอดก่อนกำหนดหรือเด็กแฝดก็อาจมีสมองที่ทำงานได้ไม่สมบูรณ์เช่นกัน ซึ่งส่งผลให้ควบคุมการหายใจหรืออัตราการเต้นของหัวใจได้ไม่ดีนัก
  • การติดเชื้อในทางเดินหายใจ ก่อนการเสียชีวิต ทารกส่วนใหญ่มักเป็นหวัด ซึ่งอาการป่วยดังกล่าวอาจทำให้เด็กมีปัญหาในการหายใจ
  • พฤติกรรมหรือสภาพแวดล้อมในการนอน เด็กทารกอาจนอนตะแคงหรือนอนคว่ำ ซึ่งอาจทำให้หายใจได้ลำบาก รวมทั้งหากในเปลเด็กมีสิ่งของที่นุ่ม อย่างผ้าห่ม ฟูกที่นอน หรือเตียงนอนน้ำ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากเด็กทารกนอนคว่ำหน้าอยู่บนสิ่งเหล่านั้น นอกจากนี้ เปลนอนที่เก่าและไม่ปลอดภัย หรือการนอนร่วมเตียงกับพ่อแม่ พี่น้อง หรือสัตว์เลี้ยง อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้เช่นกัน         
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตของแม่เด็ก หากแม่ของเด็กตั้งครรภ์ขณะมีอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือฝากครรภ์อย่างไม่เหมาะสม รวมทั้งสูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ตั้งครรภ์หรือหลังจากคลอดบุตร อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กเผชิญกับโรคนี้ได้
  • สภาพอากาศ เด็กมักเสียชีวิตในช่วงฤดูหนาวหรือเมื่ออยู่ในที่ที่มีสภาพอากาศหนาว เนื่องจากพ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กมักห่มผ้าหรือใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ให้กับเด็ก ซึ่งอาจทำให้ร่างกายของเด็กเกิดความร้อนมากเกินไป
  • พันธุกรรม เด็กอาจมีความเสี่ยงสูงในการเสียชีวิตจาก SIDS หากคนในครอบครัว ญาติ พี่น้อง เคยเสียชีวิตจากโรคนี้มาก่อน  
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น เด็กไม่ได้ดื่มนมจากเต้านมของแม่ ไม่ได้อมจุกหลอกขณะนอนหลับ หรืออาศัยอยู่กับคนที่สูบบุหรี่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้โรคไหลตายในเด็กอาจเกิดขึ้นได้กับทารกทุกราย แต่หากหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงข้างต้นก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของเด็กได้

การวินิจฉัย SIDS

แม้ไม่มีวิธีการวินิจฉัยโรค SIDS แต่หลังจากเด็กเสียชีวิตแล้ว อาจมีการสอบสวนพ่อแม่ คนในบ้าน หรือผู้ดูแลเด็ก โดยสอบถามเกี่ยวกับประวัติสุขภาพของเด็ก รวมทั้งตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานจากที่เกิดเหตุ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุการเสียชีวิตที่เป็นไปได้ และอาจมีการชันสูตรพลิกศพในห้องปฏิบัติการด้วย เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิต โดยร้อยละ 15-20 ของสาเหตุการเสียชีวิตนั้นอาจมาจากความผิดปกติทางสมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง หัวใจ ปอด หรือการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้อาจนำไปใช้เป็นเพียงข้อสนับสนุนเท่านั้น เนื่องจากข้อมูลอาจไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะนำไปสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจาก SIDS ได้

การรักษา SIDS

เนื่องจากเด็กที่เผชิญโรคนี้มักนอนหลับและเสียชีวิตไปโดยไม่สามารถรักษาได้ทันการณ์ ดังนั้น การรักษาจึงเน้นไปที่การเยียวยาจิตใจของผู้ที่สูญเสียบุตรไป โดยพ่อแม่อาจเข้าร่วมกลุ่มที่มีสมาชิกที่พบเจอกับเหตุการณ์เดียวกันมาก่อนและเข้าร่วมพูดคุยกับสมาชิกในกลุ่ม และอาจปรึกษาคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท เพื่อระบายความรู้สึกและผ่อนคลายความเศร้า อย่างไรก็ตาม แต่ละคนอาจใช้เวลาในการฟื้นฟูสภาพจิตใจต่างกัน จึงไม่ควรเป็นกังวลหากรู้สึกว่าตนเองจมปลักอยู่กับความเศร้ามากเกินไป แต่หากพ่อแม่เด็กต้องการความช่วยเหลือในกรณีที่มีความโศกเศร้าเป็นอย่างมาก อาจปรึกษาจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อเข้ารับคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนของ SIDS

การสูญเสียบุตรอาจทำให้คนเป็นพ่อแม่รู้สึกผิดและเศร้าโศก หรืออาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักสั่นคลอน รวมทั้งอาจเกิดผลกระทบทางอารมณ์ที่ส่งผลต่อบุตรคนอื่น ๆ ภายในครอบครัวตามมาได้

การป้องกัน SIDS

ปัจจุบันไม่มีวิธีป้องกัน SIDS แต่ก็อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ให้เด็กทารกนอนหงาย ไม่ว่าเด็กจะนอนกลางวัน หรือนอนในช่วงเวลากลางคืนก็ตาม    
  • แม่ของเด็กควรเข้ารับการตรวจสุขภาพจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งงดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช้สารเสพติด ทั้งในระหว่างที่ตั้งครรภ์หรือหลังจากคลอดบุตรแล้ว       
  • ไม่สูบบุหรี่ภายในบ้าน และไม่สูบบุหรี่ใกล้เด็ก  
  • สวมถุงนอนหรือชุดนอนที่มีความหนาพอดีให้กับเด็ก เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นแต่ไม่ร้อนจนเกินไป และไม่ควรปกคลุมส่วนศีรษะของเด็กเอาไว้
  • ก่อนวางเด็กลงในเปล ให้นำสิ่งของอย่างตุ๊กตา หมอน ผ้าห่ม และแผ่นรองกันชนออก รวมทั้งไม่ใช้แผ่นรองนอนที่หนา แต่ให้ใช้ฟูกที่แข็งและผ่านการรับรองว่าปลอดภัย และปูผ้าที่มีขนาดพอดีกับเปลคลุมทับฟูกอีก 1 ชั้น     
  • ให้เด็กทารกอมจุกหลอกในขณะที่นอนหลับ โดยอาจให้เด็กดูดนมจากเต้านมได้ถนัดก่อนจึงให้เด็กอมจุกหลอก ทั้งนี้ ไม่ควรใช้จุกหลอกชนิดที่มีสายคล้องรอบคอเด็ก และไม่ควรผูกจุกหลอกติดไว้ที่เสื้อผ้าหรือสิ่งอื่น ๆ      
  • ให้เด็กดื่มนมจากเต้านมอย่างน้อยเป็นเวลา 6 เดือนหลังคลอด เนื่องจากอาจช่วยให้เด็กตื่นตัวกับสิ่งเร้าได้ง่ายในขณะที่นอนหลับ รวมทั้งนมจากแม่อาจช่วยส่งผ่านสารต้านอนุมูลอิสระไปยังทารก ซึ่งอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อได้     
  • นอนอยู่ในห้องเดียวกันกับเด็ก แต่ไม่ควรให้เด็กนอนร่วมเตียงกับผู้ใหญ่ เนื่องจากพ่อแม่ของเด็กอาจเผลอใช้ผ้าห่มคลุมจมูกและปากของลูกในขณะที่นอนหลับอยู่ หรือเด็กอาจไปติดอยู่ในช่องว่างระหว่างหัวเตียงกับฟูกที่นอนจนทำให้หายใจไม่ออกได้ และไม่ควรให้เด็กนอนร่วมกับสัตว์เลี้ยงหรือคนอื่น ๆ      
  • ให้เด็กรับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ เนื่องจากมีงานศึกษาพบว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคไหลตายในเด็กได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์