ความหมาย แสบตา
แสบตา (Eye Burning) คือ การระคายเคือง แสบ คันบริเวณดวงตา ซึ่งอาจมีผลจากสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ภูมิแพ้ หรือการติดเชื้อที่ดวงตา อาการแสบตามักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือส่งผลกระทบรุนแรง แต่หากมีการติดเชื้อหรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในเวลาอันเหมาะสม ก็อาจเป็นอันตรายจนทำให้เกิดความเสียหายต่อดวงตาหรือสูญเสียการมองเห็นได้
อาการแสบตา
อาการแสบตามักเกิดขึ้นร่วมกับอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ตาแดงเรื่อ ๆ หรือตาแดงมาก
- เปลือกตาบวม
- ตาแฉะ
- มีขี้ตาสีเหลืองหรือเขียว
- มีคราบน้ำเหลืองบริเวณโคนขนตาหรือหัวตา
- ไวต่อแสงหรือแพ้แสง
- ลืมตาลำบากในตอนเช้าเนื่องจากดวงตาชื้นแฉะ
- ในกรณีที่รุนแรง อาจมีรอยแผลหรือรอยขีดข่วนบนกระจกตา ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
อาการสำคัญที่ควรไปพบแพทย์
- เปลือกตาบวมอักเสบมากขึ้น
- ขี้ตาเป็นสีเขียว ซึ่งอาจเป็นผลจากเชื้อแบคทีเรีย
- เจ็บมากหรือดวงตาไวต่อแสงมากขึ้น
- ความสามารถในการมองเห็นลดลง เห็นภาพมัว
- หากอาการตาแดงไม่หายหรือดีขึ้นภายใน 3-5 วัน
สาเหตุของอาการแสบตา
ความผิดปกติของดวงตาอาจไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนที่ชัดเจน คนส่วนใหญ่จึงมักคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การมองเห็นภาพชัดน้อยลง จึงควรเข้ารับการตรวจและรักษาทันทีเมื่อเกิดความผิดปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุจาก
การติดเชื้อ สาเหตุส่วนใหญ่ของการแสบตา คันหรือดวงตาชื้นแฉะมักเกิดจากการติดเชื้อจากสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้:
- แบคทีเรีย
- ไวรัส เช่น ไวรัสจากโรคเริม (Herpes Simplex Virus: HSV)
- เชื้อราหรือพยาธิ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุจากการใช้คอนแทคเลนส์
- ภูมิแพ้ เช่น ภูมิแพ้ตามฤดูกาลหรือไข้ละอองฟาง
- ความผิดปกติของดวงตา ซึ่งอาจเป็นผลจากอาการตาแห้ง (Dry Eye) หรือโรคต้อเนื้อ (Pterygium)
- การใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่ถูกวิธี เช่น ไม่รักษาความสะอาด ใส่คอนแทคเลนส์นานเกินไป หรือใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น
- ใช้น้ำยาหยอดตาหมดอายุ
- ใช้เครื่องสำอางตกแต่งดวงตาร่วมกับผู้อื่น
สาเหตุหลักของการติดเชื้อบริเวณดวงตาคือเยื่อบุตาอักเสบหรือที่เรียกว่า ตาแดง เกิดจากการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุตา ซึ่งเป็นเยื่อบาง ๆ หุ้มเปลือกตาและดวงตา ส่งผลต่อเส้นเลือดฝอยบริเวณเยื่อบุตา จึงทำให้ดวงตามีลักษณะเป็นสีแดงเรื่อ ๆ การติดเชื้ออาจส่งผลให้เกิดอาการคันหรือน้ำตาไหลรุนแรง ซึ่งเป็นปัจจัยของการเกิดคราบน้ำเหลืองหรือขี้ตาบริเวณหัวตาและขนตา เยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรียสามารถติดต่อกันได้ นอกจากนั้น ยังมีสาเหตุที่เกิดจากสารเคมี อาการแพ้ หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ดวงตา แต่สาเหตุที่เกิดขี้นในเด็กทารกมักมีผลจากอาการท่อน้ำตาอุดตัน (Blocked Tear Duct)
- การบาดเจ็บ อาการแสบตาอาจเกิดขึ้นจากการได้รับอุบัติเหตุระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเล่นกีฬา การใช้สารเคมีในที่ทำงาน หรือการใส่และถอดคอนแทคเลนส์ เป็นต้น
- สิ่งแปลกปลอม อาการแสบคันหรือเคืองตามักเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา เช่น ทราย ละอองเกสรดอกไม้ แมลง หรือเครื่องเทศชนิดผง ซึ่งอาจขีดข่วนกระจกตาหรือทำให้เกิดการระคายเคืองและเจ็บปวดได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการขยี้ตาเพื่อลดความเสี่ยงในการสร้างความเสียหายให้กับดวงตา
การวินิจฉัยอาการแสบตา
ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับ:
- ลักษณะอาการที่เกิดขึ้น
- ระยะเวลา และ/หรืออาการที่รุนแรงขึ้น
- ประวัติการบาดเจ็บบริเวณดวงตาหรือการใส่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากแพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ เพิ่มเติม
แพทย์อาจวินิจฉัยอาการโดย:
- ใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจตาชนิดลำแสงแคบ หรือ Slit Lamp ซึ่งช่วยขยายภาพหรือความผิดปกติที่จอประสาทตา
- ใช้สารเรืองแสง (Fluorescent Dye) ก่อนการตรวจตาด้วยกล้อง Slit Lamp เพื่อให้มองเห็นบริเวณที่เกิดอาการได้ชัดเจนขึ้น
- เก็บตัวอย่างขี้ตาหรือน้ำตาในการตรวจหาเชื้อเพิ่มเติม
- ตรวจบริเวณเปลือกตา เยื่อบุตา กระจกตารวมถึงปฏิกิริยาในการตอบสนองต่อแสง ขนาดรูม่านตา การเคลื่อนไหวของดวงตา และความสามารถในการมองเห็น
การรักษาอาการแสบตา
การรักษาอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยสามารถใช้วิธีการรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้น หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
การรักษาด้วยตนเอง
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
- ประคบเย็นบนดวงตาเพื่อลดอาการคัน
- ประคบร้อนบนดวงตาเพื่อลดการจับตัวกันเป็นก้อนของคราบน้ำเหลือง
- ใช้สำลีจุ่มแชมพูเด็กเพื่อเช็ดทำความสะอาดคราบน้ำเหลืองบริเวณเปลือกตา
- หยอดน้ำตาเทียมวันละ 4-6 ครั้งเพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง แสบ คัน และระคายเคือง
- หากผู้ป่วยมีโรคภูมิแพ้ให้หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองจากต้นไม้ ขนสัตว์ และเครื่องสำอาง
- ผู้ที่มีอาการตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัส ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาข้างที่ไม่มีการอักเสบ เนื่องจากอาจทำให้การอักเสบลุกลามได้
การรักษาโดยการแพทย์
การรักษาอาการมักขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งแพทย์อาจใช้วิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- แพทย์อาจจ่ายยาต้านภูมิแพ้ (Antihistamine) ให้กับผู้มีอาการแพ้ร่วมด้วย
- ยาหยอดตากลุ่มสารหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา (Lubricant) มักใช้เพื่อรักษาอาการตาแห้ง
- การติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณดวงตามักรักษาด้วยยาหยอดตากลุ่มปฏิชีวินะ (Antibiotic) หรือแบบเม็ดสำหรับกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาหยอดตาได้
- ใช้ยาหยอดตากลุ่มต้านไวรัส (Antiviral) หรือขี้ผึ้งทาตาสำหรับการติดเชื้อจากไวรัส เช่น โรคเริม ส่วนใหญ่อาการติดเชื้อจากไวรัสมักบรรเทาได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์
- ใช้ยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและคัน ทั้งยังรักษารอยแผลที่เกิดจากการติดเชื้อที่รุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นได้
- กรณีมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและปลอดภัย
การปฏิบัติตามคำชี้แจงของแพทย์จะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจหายเป็นปกติได้ในเวลา 1-2 สัปดาห์เว้นแต่ในกรณีที่มีอาการเรื้อรังหรือตาแห้งร่วมด้วย
การป้องกันอาการแสบตา
การป้องกันและรักษาดวงตาคือ วิธีการที่ช่วยไม่ให้เกิดปัญหาในการมองเห็นหรือการสูญเสียการมองเห็นได้ ซึ่งมีวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอหลังจากสัมผัสดวงตา
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งต่าง ๆ ร่วมกับผู้มีดวงตาติดเชื้อ เช่น ชุดเครื่องนอน คอนแทคเลนส์ แว่นตาหรือแว่นกันแดด ผ้าเช็ดตัว และแปรงแต่งหน้า เป็นต้น
- หากมีการติดเชื้อ ควรล้างมือภายหลังการสัมผัสดวงตาที่ติดเชื้อ หรือบริเวณอื่น ๆ บนใบหน้าเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
- สวมแว่นนิรภัยหรือแว่นตาป้องกันขณะเล่นกีฬาหรือทำงานในบริเวณที่มีสารเคมีหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ
- ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการแสบตา คัน น้ำตาไหล หรือมีขี้ตาผิดปกติ
สำหรับผู้ใส่คอนแทคเลนส์ ควรปฏิบัติตามวิธีการดังต่อไปนี้
- ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่และถอดคอนแทคเลนส์
- ไม่ควรไว้เล็บยาว เนื่องจากอาจขีดข่วนคอนแทคเลนส์ขณะใส่และถอดได้
- ล้างตลับคอนแทคเลนส์ให้สะอาดภายหลังการใช้งานทุกครั้ง
- ล้างคอนแทคเลนส์ด้วยสารละลายฆ่าเชื้อเป็นประจำทุกวัน
- ไม่ใช้น้ำยาหยอดตาหรือน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์หมดอายุ
- สำหรับคอนแทคเลนส์ชนิดใช้แล้วทิ้ง (Disposable Contact Lens) ให้ปฏิบัติตามวิธีการใช้งานหรือคำแนะนำจากแพทย์