คอนแทคเลนส์ เรื่องควรรู้เพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัย

คอนแทคเลนส์ (Contact Lens) เป็นผลิตภัณฑ์แก้ปัญหาสายตายอดนิยมของคนในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาสายตาแล้ว หลายคนยังนิยมใส่คอนแทคเลนส์เพื่อวัตถุประสงค์ด้านความสวยงามอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ใช้คอนแทคเลนส์ควรรู้หลักในการใช้ที่ถูกต้องและควรรักษาความสะอาดอย่างมาก เพราะการใช้อย่างไม่ระมัดระวังอาจทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อดวงตา

คอนแทคเลนส์เป็นที่ช่วยแก้ไขปัญหาสายตาต่าง ๆ เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้งาน แต่สำหรับคอนแทคเลนส์ที่ใส่เพื่อความสวยงามอาจสามารถหาซื้อได้เองโดยไม่ต้องปรึกษาแพทย์ อย่างไรก็ตาม ควรเลือกใช้คอนแทคเลนส์ที่ได้มาตรฐาน เพราะการใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่ได้มาตรฐานอาจก่อให้เกิดอันตรายกับดวงตา เช่น การติดเชื้อ ซึ่งอาจรุนแรงจนทำให้ตาบอดได้

คอนแทคเลนส์

ประเภทของคอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์คือเลนส์ที่ทำจากพลาสติกอ่อนนุ่ม ไฮโดรเจล หรือซิลิโคนขนาดบางและเล็ก โดยปกติแล้วคอนแทคเลนส์มีขนาดประมาณตาดำของคนทั่วไป ยกเว้นแต่คอนแทคเลนส์แฟชั่นซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อความสวยงามด้วย จึงอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้ผู้สวมใส่มีดวงตาที่โตมากขึ้น โดยคอนแทคเลนส์อาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

1. คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft Contact Lenses) 

คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มเป็นคอนแทคเลนส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น ใช้ง่าย ออกซิเจนสามารถผ่านเข้าไปยังกระจกตาได้ อีกทั้งยังผลิตจากพลาสติกชนิดพิเศษที่มีลักษณะนิ่ม บิดงอได้ และมีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำสูง อย่างไรก็ตาม คอนแทคเลนส์ชนิดนี้อาจฉีกขาดได้ง่าย และอาจทำให้ระคายเคืองตาง่ายกว่าปกติ

โดยคอนแทคเลนส์แบบนิ่มจะใช้เพื่อแก้ปัญหาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง อีกทั้งยังใช้ในผู้สูงอายุที่มีภาวะสายตายาวตามอายุ รวมถึงผู้ป่วยที่มีผิวกระจกตาขรุขระ เนื่องจากกระจกตาเป็นแผล ซึ่งคอนแทคเลนส์แบบนิ่มก็ยังแบ่งออกเป็นอีก 3 ประเภทย่อย ๆ ได้แก่

  • คอนแทคเลนส์รายวัน (Daily Wear Lenses) เป็นคอนแทคเลนส์ที่สามารถใส่ได้ระหว่างวัน และถอดออกในตอนเย็น โดยไม่ควรใส่นอนหรือใส่ติดต่อกันเกิน 8–10 ชั่วโมง ซึ่งอายุการใช้งานอาจมีทั้งแบบอายุการใช้งานหลายเดือนหรือเป็นปี 
  • คอนแทคเลนส์ชนิดใส่ระยะยาว (Extended Wear Lenses) เป็นคอนแทคเลนส์ที่อาจใส่ติดต่อกันได้หลายวันโดยไม่ต้องถอดออกมาทำความสะอาด แต่ไม่แนะนำให้ใส่นอน และควรทำความสะอาดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • คอนแทคเลนส์แบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable Lenses) เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดที่สามารถใช้แล้วทิ้งได้ทันทีโดยไม่ต้องทำความสะอาดโดยมีทั้งแบบรายวัน รายสัปดาห์ และราย 2 สัปดาห์

2. คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Hard Contact Lenses) 

คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งหรือคอนแทคเลนส์ชนิดแข็งที่ก๊าซสามารถซึมผ่านได้ (RGP Lenses) เป็นคอนแทคเลนส์ที่ผลิตจากพลาสติกชนิดพิเศษที่ออกซิเจนสามารถผ่านตัวเลนส์ไปยังกระจกตาได้มาก อีกทั้งยังทำให้มองเห็นได้ชัดเจนกว่าสำหรับบางค่าสายตา และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ดวงตาได้อีกด้วย 

คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของผู้ที่มีปัญหาสายตา แต่ไม่สามารถใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มได้ เนื่องจากสวมใส่แล้วไม่สบายตาหรือมีปัญหาเรื่องตาแห้ง อีกทั้งยังสามารถถอดนำมาทำความสะอาดได้ใช้ได้นาน มีความคงทนต่อรอยขูดขีดหรือคราบสกปรกที่เกาะบนคอนแทคเลนส์ อย่างไรก็ตาม การสวมใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนี้อาจต้องใช้เวลาสักพักในการปรับสายตาให้คุ้นชินกับการใช้งาน

3. คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษ (Specialized Contact Lenses) 

คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษเป็นคอนแทคเลนส์ชนิดที่ผลิตขึ้นโดยเฉพาะเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป เช่น

  • คอนแทคเลนส์แบบไฮบริด (Hybrid Contact Lenses) เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษที่มีทั้งแบบชนิดนิ่มและชนิดแข็งอยู่ด้วยกัน สามารถแก้ปัญหาสายตาต่าง ๆ ได้ เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง กระจกตาผิดปกติ และผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องกระจกตา 
  • คอนแทคเลนส์หลายระดับ (Multifocal Contact Lenses) เป็นคอนแทคเลนส์ที่มีทั้งแบบแข็งและนิ่ม ซึ่งภายในเลนส์จะมีค่าสายตาหลายระดับเพื่อให้เหมาะต่อการใช้งาน นิยมใช้ในผู้ที่มีปัญหาสายตายาวตามวัย 
  • คอนแทคเลนส์สี (Tinted Contact Lenses) แบ่งออกได้ตามการใช้งาน เช่น คอนแทคเลนส์แฟชั่น อย่างคอนแทคเลนส์บิ๊กอาย นอกจากนี้ ยังมีคอนแทคเลนส์ที่ช่วยกรองแสงยูวี และคอนแทคเลนส์ที่ช่วยแก้ปัญหาตาบอดสี ซึ่งต้องได้รับการปรึกษาจากจักษุแพทย์ก่อนใช้งาน

ประโยชน์ของคอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์สายตามีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น แก้ไขปัญหาสายตา ช่วยให้ผู้ใส่สามารถมองเห็นได้ชัดทั้งในระยะใกล้ ระยะไกล และมีทัศนวิสัยที่ดีกว่าการสวมใส่แว่น นอกจากนี้ ผู้ที่ใส่แว่นสายตามักมีการมองเห็นด้านข้าง (Peripheral Vision) ไม่ค่อยดีนัก ดังนั้น การใส่คอนแทคเลนส์อาจช่วยกระตุ้นให้การมองเห็นด้านข้าง และทำให้การมองเห็นด้านข้างชัดขึ้น 

นอกจากนี้ คอนแทคเลนส์ยังเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกสวมใส่แว่นตา อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนบุคลิกของผู้ใส่ให้ดูดีและมีความมั่นใจมากขึ้นได้ โดยเฉพาะการใช้คอนแทคเลนส์แฟชั่น เช่น คอนแทคเลนส์สี คอนแทคเลนส์บิ๊กอาย 

อันตรายจากการใช้คอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์เป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์และปลอดภัยต่อการใช้งาน แต่การใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่สะอาดอาจก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่ร้ายแรงได้ เช่น

ปัญหาจากคอนแทคเลนส์ 

การเลือกคอนแทคเลนส์ที่ที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไปกับตาดำอาจส่งผลกับกระจกตาและการมองเห็น โดยคอนแทคเลนส์ที่เล็กเกินไปอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตาและก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่กระจกตาภายหลัง ส่วนคอนแทคเลนส์ที่ใหญ่เกินไป อาจทำให้คอนแทคเลนส์เคลื่อนออกจากกระจกตาได้ง่าย ทำให้เสี่ยงต่อการหลุดหรือการมองเห็นไม่ชัดเจน

นอกจากนี้ การดูแลคอนแทคเลนส์ไม่ดีก็อาจทำให้คอนแทคเลนส์กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายที่กระจกตา และอาจทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดอีกด้วย และหากเก็บรักษาไม่ดี ก็อาจทำให้คอนแทคเลนส์เสียหายจนไม่สามารถใช้ได้

ปัญหาที่เยื่อบุตาและกระจกตา 

ปัญหาที่เยื่อบุตาและกระจกตาสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น คอนแทคเลนส์ไม่สะอาด หรือคอนแทคเลนส์ที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน แพ้ส่วนประกอบของคอนแทคเลนส์ โดยอันตรายจากการใช้คอนแทคเลนส์ที่มักพบได้มีดังนี้

  • ตาแห้ง (Dry eyes) เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน หรือเป็นผู้ที่มีน้ำตาน้อย โดยอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ระคายเคืองตา แสบตา ตาไวต่อแสง
  • โรคภูมิแพ้ (Allergies) ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้คอนแทคเลนส์หรือสารที่ใช้กับคอนแทคเลนส์ โดยอาการที่มักพบได้คือ ตาแดง แสบตา และมีอาการคันตา
  • เยื่อบุตาอักเสบจากการใช้คอนแทคเลนส์ (Giant Papillary Conjunctivitis) อาจมีสาเหตุเกิดจากการแพ้คอนแทคเลนส์หรือสารที่ใช้ในการดูแลคอนแทคเลนส์ อาการที่มักพบคือจะมีตุ่มขึ้นบริเวณด้านหลังของเปลือกตา ระคายเคืองตา และตาแดง
  • เยื่อบุตาอักเสบเนื่องจากสารเคมี (Toxic Conjunctivitis) อาจเกิดจากการแพ้สารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์คอนแทคเลนส์ เมื่อผู้ใช้สัมผัสกับสารดังกล่าว อาจทำให้เกิดอาการอักเสบที่ผิวกระจกตา หรือกระจกตาถลอก  
  • แผลอักเสบที่กระจกตา (Superficial Punctate Keratitis) เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากอาการตาแห้งขณะใส่คอนแทคเลนส์ และอาจส่งผลให้เกิดแผลเล็ก ๆ บริเวณด้านล่างกระจกตา ซึ่งแผลอักเสบนี้อาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น รู้สึกเจ็บเวลาสวมคอนแทคเลนส์ คอนแทคเลนส์ฉีกขาด 
  • อาการเลนส์คับแน่น (Tight Lenses Syndrome) มักพบในผู้ที่สวมใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันนาน ซึ่งอาจทำให้คอนแทคเลนส์ติดแน่นกับกระจกตา และอาจทำให้กะพริบตาได้น้อยลง กระจกตาบวมน้ำ มองเห็นชัดเฉพาะด้านข้าง เปลือกตาอักเสบ หรือมีเส้นเลือดเล็ก ๆ เกิดขึ้นที่บริเวณตา 
  • กระจกตาขาดออกซิเจน (Corneal hypoxia) ผู้ที่สวมใส่คอนแทคเลนส์ชนิดใส่ระยะยาวอาจทำให้ออกซิเจนบริเวณกระจกตาลดลง ซึ่งอาจทำให้กระจกตาเป็นแผล มีเลือดออกในกระจกตา และอาจสูญเสียการมองเห็นได้ 
  • กระจกตาอักเสบเนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย (Microbial Keratitis) พบได้บ่อยให้ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม หรือผู้ที่ชอบใส่คอนแทคเลนส์ขณะนอนหลับ โดยอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตกค้างอยู่ภายในคอนแทคเลนส์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บตา ตาแฉะ ตาแดง ตาไม่สู้แสง และระคายเคือง 

นอกจากนี้ การใส่คอนแทคเลนส์โดยไม่ระมัดระวังยังทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสอันตราย เช่น เริม และเชื้อไวรัสอะดีโน (Adenovirus) แต่อาจเกิดขึ้นได้น้อยหากไม่ใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์

ถึงแม้ว่าคอนแทคเลนส์อาจเป็นทางเลือกที่สะดวก แต่ก็อาจไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น

  • ผู้ที่มีอาการตาแห้ง และกระจกตาผิดปกติ
  • ผู้ป่วยโรคผิวหนังที่มีอาการบริเวณหนังตา เปลือกตา
  • ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ที่มีอาการตาโปน เพราะตาโปนจะทำให้คอนแทคเลนส์หลุดออกมาได้ง่าย
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ค่อยดี เพราะอาจมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำตาได้
  • ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่มีโอกาสเสี่ยงในการแพ้พลาสติกที่ใช้ทำคอนแทคเลนส์ หรือน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการหยิบจับคอนแทคเลนส์ เนื่องจากอาการป่วย เช่น โรคมือสั่นจากสมอง หรือโรคผิวหนังบริเวณนิ้วหรือเล็บ

วิธีการใช้คอนแทคเลนส์ให้ถูกต้องและปลอดภัย

คอนแทคเลนส์เป็นอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสกับดวงตาโดยตรง ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีความบอบบางมาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสวมใส่คอนแทคเลนส์ให้ถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่กระจกตา และอาจนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงได้ โดยวิธีการใช้คอนแทคเลนส์ที่ถูกต้องและปลอดภัยมีดังนี้

  • เลือกใช้คอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมต่อดวงตา โดยควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจวัดสายตาก่อนใช้ นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจดูลักษณะน้ำตา สภาพลูกตา อาชีพ และสอบถามเกี่ยวกับกิจกรรมของผู้ใช้ เพื่อช่วยแนะนำคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมที่สุดได้
  • ล้างมือให้สะอาด และเช็ดมือให้แห้งก่อนการใส่คอนแทคเลนส์ทุกครั้ง
  • ควรใส่คอนแทคเลนส์ด้วยปลายนิ้วชี้ และควรสังเกตคอนแทคเลนส์ก่อนใส่ เพื่อป้องกันการใส่คอนแทคเลนส์ผิดด้าน โดยวิธีการสังเกตด้านคอนแทคเลนส์ที่ถูกต้อง คือ จะมีลักษณะคล้ายตัวยู (U) แต่ถ้าหากผิดด้าน รูปทรงของคอนแทคเลนส์จะมีลักษณะแหลม
  • ไม่ใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง
  • ไม่ควรสวมคอนแทคเลนส์สลับข้างกัน หรือใส่คอนแทคเลนส์ขณะว่ายน้ำ
  • ไม่ควรนอนหลับขณะที่ยังสวมคอนแทคเลนส์อยู่ เพราะอาจทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงที่ดวงตาได้ไม่เต็มที่
  • ไม่ควรให้ปลายของขวดน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์สัมผัสกับสิ่งอื่น ๆ เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนได้
  • สวมแว่นกันแดดทุกครั้งที่ใส่คอนแทคเลนส์ เพื่อลดอาการแสบตา เนื่องจากขณะสวมคอนแทคเลนส์จะทำให้ดวงตาไวต่อแสง
  • ดูแลดวงตาให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอด้วยการหยอดน้ำตาเทียม เพื่อป้องกันอาการตาแห้ง 

นอกจากนี้ ควรสวมคอนแทคเลนส์ในระยะเวลาตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น หากรู้สึกระคายเคืองตาขณะใช้งาน ให้ถอดคอนแทคเลนส์ออกในทันที และหยุดการใส่คอนแทคเลนส์ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

การดูแลรักษาคอนแทคเลนส์และดวงตาให้ถูกต้อง

นอกจากการใช้คอนแทคเลนส์ให้ถูกต้องแล้ว การดูแลรักษาดวงตาและคอนแทคเลนส์ก็สำคัญเช่นกัน เพราะอาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ดวงตาได้ โดยวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้องมีดังนี้

การดูแลรักษาคอนแทคเลนส์

การดูแลรักษาคอนแทคเลนส์อย่างถูกวิธีอาจทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • ห้ามใช้น้ำ น้ำเกลือ หรือน้ำตาเทียมในการล้างคอนแทคเลนส์โดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ห้ามใช้น้ำลายเพื่อล้างคอนแทคเลนส์หรือทำให้คอนแทคเลนส์ชุ่มชื้น เพราะน้ำลายมักเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และอาจปนเปื้อนคอนแทคเลนส์ได้
  • ควรใส่คอนแทคเลนส์ก่อนแต่งหน้าบริเวณดวงตา
  • ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจช่วยยืดอายุการใช้งานของคอนแทคเลนส์และป้องกันการติดเชื้อที่ดวงตาได้
  • ในขณะทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ ควรถูคอนแทคเลนส์ด้วยปลายนิ้วเบา ๆ เพื่อขจัดเชื้อ หรือสิ่งแปลกปลอม 
  • ควรเปลี่ยนตลับคอนแทคเลนส์อย่างน้อยทุก 3 เดือน และควรล้างตลับใส่คอนแทคเลนส์ก่อนใช้ จากนั้นตากให้แห้งเพื่อทำการฆ่าเชื้อ 
  • หลีกเลี่ยงการแบ่งน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ใส่ขวดอื่น ๆ เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • ห้ามใช้น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ที่หมดอายุ เก่าเก็บ หรือเปิดทิ้งไว้เป็นเวลานานแล้ว 

การดูแลรักษาดวงตา

การดูแลดวงตาป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำควบคู่กับการดูแลคอนแทคเลนส์ โดยการดูแลดวงตา อาจทำได้ดังนี้

  • งดสูบบุหรี่ เพราะผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาจากการใส่คอนแทคเลนส์มากกว่าคนปกติ
  • หลีกเลี่ยงการใช้คอนแทคเลนส์แฟชั่นที่ซื้อจากร้านที่ไม่มีมาตรฐาน และไม่มีการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา เพราะคอนแทคเลนส์ที่ไม่ได้มาตรฐานอาจเป็นอันตรายจนทำให้ตาบอดได้
  • ควรตรวจตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ทั้งนี้ ควรรีบถอดคอนแทคเลนส์ออกแล้วรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที หากรู้สึกมองไม่ชัดหรือมองไม่เห็น เห็นแสงวูบวาบ มีอาการเจ็บตา ดวงตาติดเชื้อ ตาบวม หรือมีอาการแดงผิดปกติ