น้ำตา มีประโยชน์กว่าที่คิด

น้ำตาไม่ได้เพียงไหลออกมาเมื่อร้องไห้เสียใจ ดีใจ หรือหวาดกลัวเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาดวงตาให้ชุ่มชื้น ช่วยขจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าตา และมีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจมากมาย มารู้จักกลไกการหลั่งของน้ำตา ประโยชน์ของน้ำตา และเรียนรู้ว่าการหลั่งน้ำตาเกี่ยวข้องกับอารมณ์ต่าง ๆ อย่างไรบ้าง

น้ำตา

ในแต่ละปีร่างกายของคนเราผลิตน้ำตาออกมากว่า 55-110 ลิตร นอกจากน้ำตาที่ไหลออกมาจากความรู้สึกต่าง ๆ แล้ว ดวงตายังผลิตน้ำตาชนิดอื่น ๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ดังนี้

  • น้ำหล่อเลี้ยงตา เป็นน้ำที่อยู่ในดวงตาตลอดเวลา คอยสร้างความหล่อลื่น บำรุงและปกป้องกระจกตา ทั้งยังเป็นเกราะป้องกันดวงตาจากฝุ่นผงต่าง ๆ
  • น้ำตาจากสิ่งเร้าภายนอก จะถูกสร้างขึ้นก็ต่อเมื่อดวงตาต้องการขจัดสารก่อความระคายเคืองที่เป็นอันตราย เช่น วัตถุแปลกปลอม ควัน หรือสารบางชนิดจากหัวหอม น้ำตาชนิดนี้ผลิตออกมาในปริมาณที่มากกว่าน้ำหล่อเลี้ยงตาปกติ และอาจประกอบด้วยสารภูมิต้านทานเพื่อใช้ช่วยต่อสู้กับแบคทีเรีย
  • น้ำตาจากอารมณ์ น้ำตาที่ตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ เช่น เสียใจ ดีใจ หวาดกลัว เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์บางคนคาดว่าน้ำตาจากอารมณ์อาจประกอบด้วยฮอร์โมนและโปรตีนชนิดอื่น ๆ ที่ไม่พบในน้ำหล่อเลี้ยงตาหรือน้ำตาจากสิ่งเร้าภายนอก

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าน้ำตาชนิดใดต่างก็มีองค์ประกอบ 3 ชั้น ดังนี้

  • ชั้นเมือก ชั้นในสุดของน้ำตา ทำหน้าที่ช่วยให้น้ำตาทั้งหมดยึดติดอยู่กับดวงตา
  • ชั้นน้ำ ชั้นกลางของน้ำตา เป็นชั้นที่หนาที่สุด คอยช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นด้วยน้ำ รวมทั้งไล่แบคทีเรียและปกป้องกระจกตา
  • ชั้นน้ำมัน หรือชั้นนอกสุด มีหน้าที่ช่วยให้พื้นผิวของน้ำตาเรียบลื่นไปกับดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ผ่านน้ำหล่อเลี้ยงตาได้อย่างชัดเจน และป้องกันไม่ให้น้ำตาอีก 2 ชั้นถัดไปเกิดการระเหย

ในน้ำตามีอะไร ?

น้ำตาที่มีรสชาติเค็มหรือกร่อยนั้นไม่ใช่น้ำเกลือธรรมดา แต่มีโครงสร้างคล้ายกับน้ำลาย และยังมีองค์ประกอบหลายชนิด เช่น เอนไซม์ ไขมัน สารจากปฏิกิริยาทางชีวเคมีอย่างเมแทบอไลต์ สารเกลือแร่อย่างอิเล็กโทรไลต์ เป็นต้น ส่วนน้ำตาที่เกิดจากอารมณ์หรือการร้องไห้นั้นจะมีสารชนิดใดแตกต่างไปจากน้ำตาอีก 2 ชนิดนั้น ปัจจุบันทางวิทยาศาสตร์ยังคงให้คำตอบไม่ได้ชัดเจน แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนคาดว่ามีฮอร์โมนโปรแลกติน อะดรีโนคอร์ติโคโทรปิกฮอร์โมน และฮอร์โมนความเครียดอย่างลิว เอ็นคีฟาลิน รวมถึงโพแทสเซียมและแมงกานีสในระดับที่สูงกว่าน้ำตาชนิดอื่น

นอกจากนี้ มีข้อสันนิษฐานว่าฮอร์โมนความเครียดที่ถูกปล่อยออกมากับน้ำตาทางอารมณ์อาจช่วยปรับร่างกาย สภาพจิตใจ และสภาวะอารมณ์ให้กลับสู่สมดุลได้ แต่การคาดการณ์ทั้งหมดนี้ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพื่อหาคำตอบว่าน้ำตามีหน้าที่อื่น ๆ นอกเหนือจากการให้ความชุ่มชื้นและปกป้องดวงตาจากแบคทีเรียจริงหรือไม่

ร่างกายสร้างน้ำตาอย่างไร ?

น้ำตาถูกผลิตจากต่อมน้ำตาบริเวณเหนือดวงตาแต่ละข้าง โดยทุกครั้งที่กระพริบตา น้ำตาจะกระจายตัวออกมาทั่วพื้นผิวดวงตา แล้วค่อย ๆ ไหลกลับไปยังหลุมเล็ก ๆ บริเวณมุมเปลือกตาชั้นบนและชั้นล่าง ซึ่งน้ำตาที่ถูกระบายออกไปนี้จะไหลผ่านท่อในเปลือกตาและไหลลงท่อระบายน้ำตาไปยังจมูก เมื่อถึงบริเวณนี้หากไม่ระเหยก็จะถูกดูดซึมกลับไป ทั้งนี้ เด็กทารกบางคนอาจเกิดมามีท่อระบายน้ำตาอุดตัน แต่อาการนี้มักดีขึ้นเองเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนผู้ใหญ่เองก็มีท่อระบายน้ำตาอุดตันได้เช่นกัน สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อที่ตา ตาบวม ตาได้รับบาดเจ็บ หรือมีเนื้องอกบริเวณตา

ร่างกายจะผลิตน้ำตาสำหรับหล่อเลี้ยงดวงตาน้อยลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการตาแห้งในที่สุด โดยเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือเข้าสู่วัยทอง นอกจากนี้ การใส่คอนแทคเลนส์หรือการใช้ยารักษาโรคบางชนิดก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้ตาแห้ง เสี่ยงต่อการเกิดเปลือกตาอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลให้รู้สึกระคายเคืองหรือบวมบริเวณเปลือกตา การหมั่นกระพริบตาหรือรักษาสุขภาพดวงตาให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลาจึงนับเป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับน้ำตาจากสิ่งเร้าภายนอกและน้ำตาจากอารมณ์ที่มีปริมาณมากกว่าน้ำหล่อเลี้ยงตาปกตินั้น ระบบระบายน้ำตาไม่อาจระบายออกได้ทัน ทำให้ไหลล้นออกมาจากดวงตา เปรอะแก้ม หรือบางครั้งยังออกมาทางจมูก เป็นสาเหตุของอาการคัดจมูกหรือมีน้ำมูกที่มักเกิดขึ้นเมื่อร้องไห้

น้ำตาจากอารมณ์นั้นเกิดจากการทำงานร่วมกันของระบบน้ำตาและสมองส่วนลิมบิก (Limbic System) อันมีหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นทางอารมณ์ เมื่อมีความรู้สึกหรืออารมณ์บางอย่าง สมองส่วนนี้จะส่งสัญญาณไปยังส่วนของก้านสมองที่เรียกว่าพอนส์ (Pons) และถ่ายทอดไปยังระบบน้ำตาให้ผลิตน้ำตาขึ้นมา ทว่านักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่อาจเข้าใจกระบวนการสร้างน้ำตาทางอารมณ์ได้อย่างสมบูรณ์ จำเป็นต้องมีงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของระบบทางประสาทและทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการสร้างน้ำตาชนิดนี้

น้ำตาจากอารมณ์หรือการร้องไห้ เกิดจากอะไร ?

นักจิตวิทยาเชื่อว่าน้ำตาที่เกิดขึ้นจากอารมณ์หรือการร้องไห้ของมนุษย์พัฒนามาจากการส่งเสียงร้องของสัตว์ เช่นเดียวกับทารกซึ่งเป็นช่วงวัยที่ยังไม่มีการพัฒนาต่อมน้ำตาขึ้นอย่างสมบูรณ์และไม่สามารถผลิตน้ำตาออกมา แต่ก็ส่งเสียงร้องไห้เพื่อเรียกร้องการดูแลและความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ได้

การได้รับความเจ็บปวดทางกายเป็นสาเหตุหนึ่งของการร้องไห้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่คนส่วนใหญ่จะเริ่มตอบสนองต่อการเจ็บปวดทางกายด้วยการร้องไห้น้อยลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ในขณะเดียวกันอารมณ์ที่ส่งผลให้ร้องไห้ก็หลากหลายขึ้นเช่นกัน จากการเจ็บปวดทางกายไปสู่ความเจ็บปวดจากการต้องสูญเสียสิ่งของหรือบุคคลที่ใกล้ชิดผูกพัน การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความสงสาร ความเจ็บปวดจากการมีชีวิตในสังคม ความอ่อนไหวทางอารมณ์ หรือแม้แต่ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

ทั้งนี้ การร้องไห้ไม่เพียงเป็นการตอบสนองทางอารมณ์ต่อความเศร้าหรือความเจ็บปวด แต่อาจเป็นการร้องไห้ที่ตอบสนองต่อความสวยงาม ความสุข ความสมหวังก็ได้ หรือบางคนอาจร้องไห้ในบางสถานการณ์ ในขณะที่คนอื่นไม่ร้อง เช่น พิธีจบการศึกษา งานแต่งงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ น้ำตาหรือการร้องไห้ยังอาจเป็นกลไกป้องกันตนเอง โดยใช้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังโกรธ มีความรู้สึกทางอารมณ์ที่รุนแรง หรือแค่เรียกร้องความสนใจจากอีกฝ่าย

การร้องไห้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นจริงหรือไม่ ?

กล่าวกันว่าการปลดปล่อยอารมณ์ด้วยการร้องไห้จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ความเชื่อนี้อาจไม่เป็นจริงเสมอไป งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีอารมณ์ดีขึ้นหลังจากร้องไห้ อีก 60 เปอร์เซ็นต์รู้สึกเหมือนเดิม และมี 9 เปอร์เซ็นต์ที่รู้สึกแย่ลงกว่าเดิม งานวิจัยนี้ยังได้ให้ผู้เข้าร่วมทดสอบอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล ซึ่งพบว่าผู้ที่มีคะแนนดังกล่าวสูงมีแนวโน้วจะรู้สึกแย่ลงหลังจากร้องไห้ จึงอาจเป็นไปได้ว่าผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลมากกว่าปกติอาจตอบสนองต่อการร้องไห้ต่างจากคนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาในปีต่อมาชี้ว่าอิทธิพลรอบข้างอาจส่งผลต่ออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลังร้องไห้ หากได้รับการปลอบโยนจากคนใกล้ชิด เป็นการร้องไห้เนื่องจากความปิติยินดี หรือการร้องไห้นั้น ๆ นำไปสู่การแก้ปัญหาหรือทำให้เข้าใจสาเหตุ แต่ในกรณีที่การร้องไห้ทำให้รู้สึกอาย ไม่ได้รับการปลอบใจจากคนรอบข้าง หรือร้องไห้เพราะเห็นความทุกข์ยากของคนอื่น ผู้ร้องไห้จะรู้สึกแย่ลง นอกจากนี้ ผลสรุปโดยรวมพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองมีแนวโน้มจะรู้สึกดีขึ้นมากกว่าเมื่อได้ร้องไห้คนเดียวหรือร้องไห้กับใครคนหนึ่ง แต่จะรู้สึกแย่หรือรู้สึกเหมือนก่อนร้อง หากอยู่กับคนอื่น ๆ ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป

ผลเสียของการกลั้นน้ำตา

การร้องไห้เป็นการปลดปล่อยหรือผ่อนคลายอารมณ์อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะร้องไห้เพราะความเศร้า ความเครียด หรือความสะเทือนอารมณ์จากการดูภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวเองและส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ส่วนการฝืนกลั้นไม่ให้ร้องไห้หรือไม่เคยร้องไห้เลยนั้นอาจส่งผลต่อทั้งทางสุขภาพกายและใจ โดยเฉพาะในผู้ชายไทยที่มีค่านิยมเกี่ยวกับการร้องไห้ในเชิงลบหรือตีความว่าเป็นการแสดงความอ่อนแอ ทั้งที่จริงแล้วเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกไม่ใช่สิ่งที่ควรหรือไม่ควร แต่เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์เรา

ถึงอย่างนั้นก็ตาม หลายคนอาจเผชิญสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้ร้องไห้ ในกรณีนี้ควรพยายามกลั้นความรู้สึกในขณะนั้นแล้วปลีกตัวออกมาร้องไห้ในที่เหมาะสม หากไม่สามารถออกจากสถานการณ์นั้นได้ อาจลองเบี่ยงความสนใจของตัวเองด้วยการคิดเรื่องอื่น ดูวิดีโอตลก หรืออ่านหนังสือที่ช่วยให้ผ่อนคลายขึ้น เมื่อได้โอกาสแล้วค่อยร้องไห้ปลดปล่อยอารมณ์ในตอนนั้นออกมาภายหลัง แต่อย่าปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยไม่ได้ระบายออกมาตามที่ต้องการ

รับมือกับน้ำตาของคนรอบข้างอย่างไร ?

หลายคนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คนรอบข้างหรือคนใกล้ชิดร้องไห้อาจรู้สึกไม่สบายใจและไม่รู้ว่าควรทำตัวอย่างไร การปลอบประโลมอย่างเหมาะสมและพยายามรับฟังอย่างใส่ใจอาจช่วยให้ผู้ที่กำลังสะเทือนอารมณ์รู้สึกดีขึ้น ทำได้ดังนี้

  • รับฟังและให้กำลังใจอย่างเหมาะสมและตั้งอกตั้งใจ หากอยู่ในระดับที่สนิทกันมากอาจกอดปลอบหรือจับมือ
  • ยิ่งสนิทกันน้อยเท่าไรก็ยิ่งควรระวังไม่ให้ก้าวก่ายเกินขอบเขตมากเท่านั้น เพราะอาจทำให้ผู้ที่กำลังอยู่ในอารมณ์เศร้าเสียใจรู้สึกแย่ลงและต่อต้าน อาจเริ่มจากการสอบถามว่าตนพอจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง
  • พยายามอย่าเพิกเฉย เพราะอาจทำให้ผู้ที่ร้องไห้รู้สึกแย่ลงกว่าเดิมได้
  • การร้องไห้ต่อหน้าคนกลุ่มใหญ่อาจทำให้รู้สึกอึดอัดมากกว่าร้องไห้ต่อหน้าคนสนิทเพียงไม่กี่คน แต่อย่างไรการปลอบใจก็เป็นสิ่งพึงกระทำเพื่อช่วยให้ผู้ร้องรู้สึกดีขึ้น