กระจกตาถลอกเป็นอย่างไร เรียนรู้สาเหตุและวิธีรักษา

กระจกตาถลอก (Corneal Abrasion) เป็นการเกิดรอยขีดข่วนบริเวณกระจกตาที่อยู่ด้านหน้าสุดของดวงตา โดยมักมีสาเหตุมาจากนิ้วและเล็บทิ่มตา ขยี้ตาแรง ๆ หรือมีสิ่งแปลกปลอม เช่น เศษฝุ่นและทรายเข้าตา ส่วนมากอาการมักไม่รุนแรงและหายได้ในเวลาสั้น ๆ เมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม

กระจกตาถลอกถือเป็นการบาดเจ็บบริเวณดวงตาที่เกิดขึ้นบ่อย โดยรอยถลอกที่กระจกตามักทำให้เกิดอาการไม่สบายตา เจ็บตา ตาแดง และอาจทำให้ตาแพ้แสง บางครั้งอาจเกิดอาการอักเสบร่วมด้วย หรือบางคนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น การติดเชื้อที่อาจนำไปสู่การเกิดแผลที่กระจกตา (Corneal Ulcer) ตามมา

กระจกตาถลอกเป็นอย่างไร เรียนรู้สาเหตุและวิธีรักษา

สาเหตุและอาการของกระจกตาถลอก

กระจกตาถลอกอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • การขยี้ตาแรง ๆ 
  • การได้รับบาดเจ็บ โดยอาจเป็นผลมาจากการที่เล็บมือ แปรงแต่งหน้า หรือปากกาทิ่มตา การเล่นกีฬาแล้วไม่ได้ใส่แว่นตาป้องกันบริเวณดวงตา และการผ่าตัดโดยไม่ได้ปิดตาอย่างเหมาะสม
  • สารเคมีและสิ่งแปลกปลอมเข้าตา เช่น ฝุ่น เขม่า และเศษดิน
  • การติดเชื้อที่ดวงตา
  • การใส่คอนแทคเลนส์ที่มีขนาดไม่พอดีกับดวงตา ใส่ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่ได้ทำความสะอาด

สาเหตุเหล่านี้อาจทำให้เกิดรอยขีดข่วนที่กระจกตา และทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกไม่สบายตาจนต้องกะพริบตาถี่ ๆ รู้สึกมีสิ่งแปลกปลอมที่มองไม่เห็นอยู่ในดวงตา เจ็บตาและจะรู้สึกเจ็บมากขึ้นเมื่อมองแสงจ้า ตาแดง ตาพร่า น้ำตาไหล ตาแพ้แสง และปวดศีรษะ

หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะการปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาในระยะยาว

กระจกตาถลอกรักษาอย่างไร ป้องกันได้ไหม

หากมีฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตาไม่ควรขยี้ตา เพราะอาจทำให้เกิดรอยขีดข่วนที่กระจกตาและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ในเบื้องต้นลองกะพริบตาถี่ ๆ เพื่อให้ฝุ่นผงที่เข้าตาหลุดออกมาง่ายขึ้น หรือดึงเปลือกตาบนลงมาทับเปลือกตาล่างเบา ๆ ซึ่งน้ำตาและขนตาล่างอาจช่วยขจัดเศษฝุ่นออกไปได้

นอกจากนี้ สามารถล้างตาด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ หากสิ่งแปลกปลอมติดอยู่บริเวณตาขาว ให้ใช้ไม้พันสำลีสะอาดเขี่ยออก หากติดบริเวณตาดำ ไม่ควรใช้นิ้ว สำลีก้าน แหนบ หรืออุปกรณ์อื่นเขี่ยออกเอง แต่ควรไปพบจักษุแพทย์ หรือหยอดน้ำตาเทียม เพื่อช่วยให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกได้ง่ายขึ้น โดยก่อนสัมผัสบริเวณดวงตาควรล้างมือให้สะอาดเสียก่อน  

หากล้างตาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตา ในรายที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีอาการกระจกตาถลอก แพทย์อาจให้ยารักษาตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้

  • ยาหยอดตาและยาแก้ปวด ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บตาและตาแดง 
  • ยาปฏิชีวนะชนิดหยอดตาหรือยาทาชนิดขี้ผึ้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ดวงตา
  • ที่ปิดตา (Eye Patch) เพื่อป้องกันแสง

ผู้ป่วยไม่ควรขยี้ตา และงดการใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าอาการจะหายดี เพราะอาจทำให้อาการหายช้าลงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ดวงตา รวมถึงสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันการระคายเคืองและแสบตาจากแสงแดด

โดยทั่วไป กระจกตาถลอกมักไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อดวงตาในระยะยาว และอาการต่าง ๆ มักหายดีภายใน 1–3 วัน แต่ผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจใช้ระยะเวลารักษานานกว่า เพราะรอยขีดข่วนที่ลึกและรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Keratitis) การติดเชื้อในดวงตา และแผลที่กระจกตาได้ 

กระจกตาถลอกป้องกันได้โดยระมัดระวังไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนที่ดวงตา เช่น ไม่ขยี้ตา สวมแว่นตาป้องกันขณะเล่นกีฬา ใช้สารเคมีหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีคมอย่างระมัดระวัง ล้างมือให้สะอาดและตัดเล็บให้สั้นเสมอ เลือกใช้คอนแทคเลนส์ที่ได้มาตรฐานและเหมาะกับสภาพดวงตา ถอดคอนแทคเลนส์ก่อนนอน และทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ให้ถูกวิธี เพียงเท่านี้ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของกระจกตาถลอกและปัญหาดวงตาอื่น ๆ ได้แล้ว