โรคตาแห้ง

ความหมาย โรคตาแห้ง

โรคตาแห้ง (Dry Eyes) หรืออาการตาแห้ง เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายผลิตน้ำตาออกมาได้ไม่เพียงพอหรือคุณภาพของน้ำตาไม่เพียงต่อการหล่อลื่นและปกป้องดวงตา ส่งผลให้มีอาการระคายเคืองในดวงตา ตาแดงและไวต่อแสง ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อการมองเห็นและการใช้ชีวิต

อาการตาแห้งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเป็นผลมาจากโรคต่าง ๆ การใช้ดวงตาในการทำกิจกรรมติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของโรค ซึ่งวิธีบรรเทาอาการและรักษาโรคตาแห้งจะแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุของแต่ละคน 

โรคตาแห้ง

อาการของโรคตาแห้ง 

ผู้ป่วยมักมีอาการที่เกิดกับตาทั้งสองข้าง ดังนี้

  • รู้สึกระคายเคือง แสบร้อน หรือคันบริเวณดวงตา
  • มีเมือกอยู่ในดวงตาหรือรอบ ๆ ดวงตา
  • ตาไวต่อแสง
  • ตาแดง โดยเฉพาะเมื่อถูกลมหรืออยู่ใกล้ควัน
  • รู้สึกเหมือนมีบางอย่างอยู่ในตา เช่น ขนตาหรือฝุ่น
  • ใส่คอนแทคเลนส์ได้ยาก หรือรู้สึกเจ็บเมื่อใส่คอนแทคเลนส์
  • มีปัญหาด้านการขับรถในเวลากลางคืน
  • ตามัวหรือตาล้า โดยเฉพาะเวลาอ่านหนังสือหรือใช้สายตา
  • มีน้ำตามากเนื่องจากร่างกายตอบสนองการระคายเคืองของอาการตาแห้ง

หากพบว่าตนเองมีอาการคล้ายกับโรคตาแห้งติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของการระคายเคืองหรืออาการผิดปกติดังกล่าว

สาเหตุของโรคตาแห้ง 

โดยปกติแล้ว ในน้ำตาจะมีส่วนผสมของน้ำ ไขมัน และเมือก เพื่อช่วยให้พื้นผิวของดวงตาเรียบเนียนและป้องกันการติดเชื้อในบริเวณดวงตา แต่หากปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอต่อการหล่อลื่นจะส่งผลให้เกิดอาการตาแห้งตามมา โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

ร่างกายผลิตน้ำตาน้อยลง

อาการตาแห้งมักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตน้ำตาได้เพียงพอต่อความต้องการ โดยสาเหตุของการผลิตได้น้ำตาได้น้อยลงมักเกิดจาก

  • อายุ 
  • อาการของโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน กลุ่มอาการโจเกรน ไทรอยด์ หรือภาวะการขาดวิตามินเอ เป็นต้น
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาสิว ยาคุมกำเนิด หรือยาที่ใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) เป็นต้น
  • การผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติ อย่างการทำเลสิกที่ส่งผลให้เกิดอาการตาแห้งชั่วคราว
  • ต่อมน้ำตาได้รับความเสียหายเนื่องจากการอักเสบหรือการได้รับรังสี

การระเหยของน้ำตามากกว่าปกติ

การระเหยของน้ำตามักมีสาเหตุมาจากลม ควัน หรืออากาศแห้ง การกระพริบตาน้อยโดยเฉพาะเวลาอ่านหนังสือหรือทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ และเปลือกตามีความผิดปกติ อย่างผู้ที่มีภาวะเปลือกตาม้วนออก (Ectropion) หรือเปลือกตาม้วนเข้า (Entropion)

ส่วนประกอบของน้ำตาไม่สมดุล

โดยทั่วไปน้ำตาประกอบไปด้วยไขมัน น้ำ และเมือก เมื่อส่วนประกอบใดมีปัญหาอาจส่งผลให้เกิดภาวะตาแห้ง เช่น การอุดตันของต่อมไขมันเปลือกตาที่มักพบในผู้ที่มีภาวะเปลือกตาอักเสบ ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) หรือผู้ป่วยโรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบางประการอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคตาแห้งได้ง่าย เช่น มีอายุมากกว่า 50 ปี ใส่คอนแทคเลนส์ จ้องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดต่อกันเป็นเวลานาน อยู่ในห้องแอร์หรือในบริเวณอาการแห้ง อยู่ในบริเวณที่มีลม อากาศหนาว แห้ง หรือมีฝุ่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ ใช้ยาบางชนิดอย่างยาต้านเศร้าหรือยารักษาโรคความดันโลหิตสูง รวมไปถึงเป็นโรคบางชนิดที่กระทบต่อการผลิตน้ำตาอย่างเปลือกตาอักเสบ กลุ่มอาการโจเกรน หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคตาแห้ง 

จักษุแพทย์จะวินิจฉัยโรคตาแห้ง โดยเริ่มจากการสอบถามถึงประวัติทางการแพทย์ การใช้ยา และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการรักษาและอาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจดวงตาภายนอกทั่วไป เช่น การตรวจเปลือกตา การทดสอบการกระพริบตา เป็นต้น
  • การวัดปริมาณน้ำตา (Schirmer’s Test) ด้วยการใช้กระดาษทดสอบน้ำตาสอดไว้ในเปลือกตาด้านล่างและทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที จากนั้นแพทย์จะวัดปริมาณน้ำตาจากแผ่นกระดาษทดสอบ
  • การตรวจคุณภาพน้ำตาด้วยการใช้ยาหยอดตาชนิดพิเศษตรวจดูในบริเวณพื้นผิวของดวงตาและจับเวลาการระเหยของน้ำตา

การรักษาโรคตาแห้ง 

แพทย์จะรักษาตามสาเหตุของโรคเป็นหลัก ผู้ป่วยที่มีอาการตาแห้งไม่รุนแรงอาจรักษาขั้นแรกด้วยการใช้น้ำตาเทียม โดยให้หยด 24 ครั้งต่อวัน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายในเวลา 23 สัปดาห์ ควรเพิ่มความถี่ในการหยดน้ำตาเทียมเป็นทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือขอคำปรึกษาจากจักษุแพทย์เพื่อเปลี่ยนชนิดหรือยี่ห้อน้ำตาเทียมที่ใช้ให้เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตาแห้งเนื่องมาจากโรคประจำตัวหรือโรคอื่น ๆ การรักษาจะเน้นไปที่การรักษาโรคต้นเหตุเป็นหลัก 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • การอุดรูน้ำตา เพื่อขังน้ำตาที่ร่างกายผลิตให้สามารถหล่อเลี้ยงตาได้นานขึ้น โดยแพทย์จะทำการสอดเจลหรือซิลิโคนขนาดเล็กเข้าไปปิดรูท่อน้ำตา ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถนำออกได้ในภายหลัง และในบางกรณีแพทย์อาจต้องลดความรุนแรงของอาการด้วยการผ่าตัดหรือทำการจี้ไฟฟ้าเพื่ออุดรูน้ำตาถาวร
  • การสลายการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณดวงตา โดยทำการประคบดวงตาด้วยน้ำอุ่นหรือใช้แผ่นประคบตา (Eye Masks) ทุกวันเพื่อช่วยกำจัดการอุดตัน
  • การรักษาด้วยแสงและการนวดเปลือกตา
  • การผ่าตัดผนังเปลือกตาในกรณีที่เปลือกตาของผู้ป่วยมีความผิดปกติ

นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาชนิดต่าง ๆ ในการรักษา เช่น

  • การใช้ยาเพื่อลดอาการอักเสบบริเวณเปลือกตา โดยจะใช้ยาปฏิชีวนะรูปแบบของยารับประทาน ยาหยอดตา หรือยาทา
  • การใช้ยาหยอดตาเพื่อควบคุมอาการอักเสบในบริเวณกระจกตา โดยจะเป็นยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) หรือยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานานเนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงได้
  • การสอดเจลขนาดเล็กที่บริเวณหนังตาล่าง 1 ครั้งต่อวัน โดยเจลจะค่อย ๆ ปล่อยสารช่วยหล่อลื่นที่ใช้ในยาหยอดตาให้ซึมเข้าไป วิธีนี้จะใช้ในผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้น้ำตาเทียมและมีอาการตาแห้งอย่างรุนแรง
  • การใช้ยาเพื่อเพิ่มการผลิตน้ำตา อย่างยาในกลุ่มคอลิเนจิก (Cholinergic) ในรูปแบบของยารับประทาน เจล หรือยาหยอดตา ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงทำให้มีเหงื่อออกมาก
  • ยาหยอดตาที่ทำจากเลือดของตนเอง (Autologous Blood Serum Drops) ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยมีความรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคตาแห้ง 

โรคตาแห้งที่รุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้กระจกตาอาจได้รับความเสียหาย ติดเชื้อ หรืออักเสบ มีบาดแผลที่กระจกตา การมองเห็นผิดปกติ อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

การป้องกันโรคตาแห้ง 

อาการของโรคตาแห้งสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ระวังไม่ให้ดวงตาสัมผัสโดนลมโดยตรง เช่น การใช้ไดร์เป่าผม การเปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมจ่อหน้า เป็นต้น
  • หากอยู่ในห้องแอร์นาน ๆ หรือสถานที่ที่มีสภาพอากาศแห้งมาก ควรเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ โดยอาจใช้เครื่องเพิ่มความชื้นภายในห้อง
  • สวมใส่แว่นหรืออุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันดวงตาจากการสัมผัสลมหรืออากาศแห้ง
  • พักสายตาระหว่างการอ่านหนังสือหรือการทำงานที่ต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยการหลับตา 2-3 นาทีหรือกระพริบตาบ่อย ๆ เพื่อให้น้ำตากระจายตัวในดวงตาอย่างทั่วถึง
  • หากต้องอยู่ในบริเวณที่มีอากาศแห้งอย่างรุนแรง อย่างบนพื้นที่สูง ทะเลทราย หรือบนเครื่องบิน ควรกะพริบตาหรือหลับตาค้างเป็นเวลา 2-3 นาทีอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำตา
  • จัดตำแหน่งของจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาเพื่อลดการเปิดดวงตาเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งจะช่วยลดการระเหยของน้ำตา
  • งดสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีควัน เนื่องจากควันอาจส่งผลให้อาการแย่ลง
  • ผู้ที่มีอาการตาแห้งเรื้อรังควรหยอดตาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเรื่องการหล่อลื่นภายในดวงตา
  • หากมีอาการตาแห้งและอาการคันในดวงตาอาจใช้ยาน้ำตาเทียมชนิดทาหรือยาหยอดตาเข้มข้นก่อนเข้านอน

รับประทานโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นไขมันที่พบได้ในปลาชนิดต่าง ๆ และเมล็ดแฟลกซ์ (Flax Seeds) อย่างเพียงพอ หรืออาจรับประทานในรูปแบบอาการเสริม แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนการรับประทาน