อาการแพ้กุ้งกับสาเหตุที่หลายคนอาจไม่รู้

อาการแพ้กุ้งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นลมพิษ ผื่นคัน หน้าบวม หรือหายใจติดขัด อาการเหล่านี้เป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองรุนแรงกว่าปกติ ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยอาการแพ้มีตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม อาการแพ้กุ้งอาจบรรเทาและป้องกันได้หลายวิธี

อย่างที่กล่าวไปว่า อาการแพ้กุ้งเกิดจากภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองมากกว่าปกติ โดยร่างกายมองว่าสารบางอย่างในตัวกุ้งเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงกระตุ้นการหลั่งสารเคมีเพื่อมากำจัดสารชนิดนั้น ซึ่งการต่อสู้กันระหว่างสารและร่างกายจะทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา

อาการแพ้กุ้ง

อาการแพ้กุ้งเป็นอย่างไร ?

โดยทั่วไป อาการแพ้อาหารนั้นเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ โดยอาจเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารในทันทีหรือเกิดขึ้นหลังรับประทานไปหลายชั่วโมง ซึ่งลักษณะอาการที่เกิดขึ้นอาจแบ่งได้ ดังนี้

  • ผิวหนัง

    อาการแพ้ในรูปแบบนี้มักเห็นได้ชัด อย่างลมพิษ ผื่นแดง คัน พบอาการบวม โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก และคอ

  • ระบบทางเดินหายใจ

    เนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณคอที่บวมมากขึ้นอาจส่งผลให้หายใจไม่สะดวก รวมถึงสารฮิสตามีนที่หลั่งออกมาจะส่งผลให้มีอาการไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก หรือหายใจลำบาก

  • ลำไส้และกระเพาะอาหาร

    อาการแพ้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว และปวดท้อง

  • ระบบประสาท

    อาการแพ้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน หน้ามืด และเป็นลมได้

  • ภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง

    ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่เป็นภาวะที่อันตรายจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยภาวะนี้จะส่งผลให้หายใจไม่ออก หน้ามืด ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดลดต่ำลง ช็อก หมดสติ และเสียชีวิต ดังนั้น หากปรากฏสัญญาณของปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงให้โทรเรียกรถพยาบาลทันที

แม้ความรุนแรงของอาการแพ้กุ้งอาจขึ้นอยู่ปริมาณที่รับประทาน แต่ก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะการได้รับสารก่ออาการแพ้เพียงเล็กน้อยในผู้ที่มีอาการแพ้กุ้งบางรายก็อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงตามมาได้

เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการแพ้กุ้ง

เมื่อเกิดอาการผิดปกติภายหลังจากการรับประทานกุ้ง คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นอาการที่เกิดมาจากการแพ้กุ้ง ซึ่งแท้จริงแล้วอาจเป็นการแพ้สารในกุ้งโดยตรง หรือแพ้สารที่เกิดจากอาหารที่ใช้เลี้ยงกุ้งก็ได้ ส่วนใหญ่แล้ว อาการแพ้กุ้งของคนไทยมักเกิดจากสารฮีโมไซยานิน (Hemocyanin) ที่อยู่ในกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกราม สารโปรตีนลิพิดไบน์ดิง (Lipid-binding Protein) และโปรตีนแอลฟาแอกตินิน (Alpha-actinin Protein) ที่อยู่ในกุ้งกุลาดำหรือกุ้งลายเสือ โดยสารเหล่านี้เป็นสารที่อยู่ภายในตัวกุ้งโดยตรง แต่ในบางกรณี สารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้อาจมาอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงกุ้ง จึงอาจทำให้บางคนแพ้กุ้งเพียงบางครั้ง เนื่องจากรับประทานกุ้งที่มาจากคนละแหล่งกัน

หลายคนอาจสงสัยว่าตอนเด็กไม่เคยมีอาการแพ้กุ้งมาก่อน แต่กลับมามีอาการแพ้กุ้งในตอนโต โดยสาเหตุอาจมาจากการสะสมสารก่ออาการแพ้มาตั้งแต่เด็ก จนเมื่อมีการกระตุ้นมากขึ้นจึงส่งผลให้เกิดอาการแพ้ได้ รวมถึงบางคนที่แพ้กุ้งเพียงบางชนิดก็อาจเกิดจากสารภายในตัวกุ้งที่แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ อย่างกุ้งน้ำจืดและกุ้งน้ำเค็ม ขณะที่บางคนอาจแพ้โปรตีนทีอยู่ในเปลือกของกุ้ง ซึ่งมักจะมีอาการแพ้สัตว์มีกระดองหรือแพ้อาหารทะเลชนิดอื่น อย่างปู หอย หรือปลาหมึกร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ในบางรายก็สามารถรับประทานอาหารทะเลชนิดอื่นได้ปกติ

นอกจากนี้ อาการแพ้ที่หลายคนคิดว่าเกิดจากการรับประทานกุ้งยังอาจมาจากสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกันได้ เช่น อาหารเป็นพิษ โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งลำไส้ หรือความรู้สึกกลัวอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง เป็นต้น

อาการแพ้กุ้งรับมือได้

การรับมือกับอาการแพ้กุ้งหรือการแพ้อาหารที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ เพื่อป้องกันอาการแพ้ จึงควรใส่ใจที่จะอ่านฉลากอาหารก่อนรับประทานทุกครั้ง ถ้าหากรับประทานไปแล้วเกิดอาการแพ้ในระดับที่ไม่รุนแรงอาจใช้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการได้

สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง มีอาการเวียนศีรษะ ความดันต่ำ หรือรู้สึกคล้ายจะหมดสติ ควรเรียกรถพยาบาลทันที สำหรับผู้ที่มีประวัติการแพ้รุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอิพิเนฟริน (Epinephrin) ในรูปเข็มฉีดสำหรับรูปไว้ใช้เมื่อเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง โดยหลังจากฉีดควรไปโรงพยาบาลทันที นอกจากนี้ ผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้กุ้ง อาหารทะเล หรืออาหารอื่น ๆ อย่างรุนแรง ควรอยู่ให้ห่างจากแหล่งที่มีของที่แพ้จำหน่าย อย่างตลาด ร้านอาหารทะเล หรือโรงงาน เนื่องจากการสูดดมสารก่ออาการแพ้ที่ลอยอยู่ในอากาศก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้

อย่างไรก็ตาม หากหาสาเหตุของการแพ้ไม่ได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาสารก่ออาการแพ้ด้วยวิธีทางการแพทย์