อาการขาดวิตามินซี และวิธีรับมืออย่างถูกต้อง

ขาดวิตามินซีเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับวิตามินซีในปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ และหากขาดวิตามินซีเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดโรคลักปิดลักเปิดที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก (Hemolysis) หรือเส้นประสาทเกิดความเสียหาย 

วิตามินซีเป็นวิตามินที่สำคัญต่อร่างกายในหลายด้าน โดยเฉพาะกระบวนการสร้างคอลลาเจนที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง และซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง ผนังหลอดเลือด เส้นเอ็น กระดูกอ่อน กระดูก และฟัน

อาการขาดวิตามินซี และวิธีรับมืออย่างถูกต้อง,Vitamin C,วิตามินซี

นอกจากนี้ คนที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ได้มากขึ้น เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้ที่มีภาวะติดสุรา ผู้ที่มีภาวะเหล็กเกิน ผู้ป่วยอะนอเร็กเซีย (Anorexia) ผู้ป่วยโรคทางเดินอาหาร และผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการฟอกไต 

สัญญาณอาการขาดวิตามินซี

ภาวะขาดวิตามินซีมักจะค่อย ๆ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติอย่างช้า ๆ ในระยะเวลาหลายเดือน โดยอาการที่มักพบได้ เช่น 

อ่อนเพลียผิดปกติ

เมื่อร่างกายเริ่มขาดวิตามินซี อาการที่มักพบบ่อยในช่วงแรกจะเป็นอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น และอ่อนล้าผิดปกติ แม้จะไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ 

เลือดออกง่าย

การขาดวิตามินซีจะส่งผลให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง และอาจส่งผลให้เลือดแข็งตัวได้ช้าลงอีกด้วย คนที่ขาดวิตามินซีจึงมักพบอาการเลือดออกง่าย หรือเกิดรอยช้ำตามร่างกายอยู่บ่อยครั้ง

อาการผิดปกติบริเวณเหงือก

วิตามินซีเป็นส่วนสำคัญต่อกระบวนการผลิตคอลลาเจนของร่างกาย การขาดวิตามินซีอาจส่งผลให้กระบวนการผลิตคอลลาเจนมีประสิทธิภาพที่แย่ลง โดยหนึ่งในสัญญาณที่พบได้บ่อยเมื่อกระบวนการผลิตคอลลาเจนผิดปกติไปคือ อาการเหงือกบวมแดง มีเลือดออกบ่อย และเลือดออกตามไรฟัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา ภาวะนี้อาจมีความรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การสูญเสียฟันได้

ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ

คนที่มีภาวะขาดวิตามินซีอาจเริ่มมีอาการปวดตามข้อต่าง ๆ และกล้ามเนื้อ ในกรณีที่ขาดวิตามินซีอย่างรุนแรงอาจทำให้ภายในข้อต่าง ๆ ของร่างกายมีอาการเลือดออกร่วมด้วย ส่งผลให้เกิดอาการข้อบวม และปวดข้อขั้นรุนแรงตามมา

ป่วยง่าย

วิตามินซีเป็นสารที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย คนที่ขาดวิตามินซีจึงมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งยังอาจพบว่าอาการเจ็บป่วยหายช้าผิดปกติอีกด้วย

นอกจากอาการในข้างต้นแล้ว คนที่มีภาวะขาดวิตามินซีอาจพบอาการอื่นร่วมด้วย โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น ผิวแห้ง เส้นผมขาดง่าย แผลหายช้า เลือดกำเดาไหล และน้ำหนักลดผิดปกติ เป็นต้น

ขาดวิตามินซี ทำอย่างไรดี

อาการที่เกิดจากการขาดวิตามินซีจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ร่างกายได้รับวิตามินซีที่เพียงพอ แต่คนที่คิดว่าตนเองอาจขาดวิตามินซีควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดก่อน ก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินซีต่าง ๆ ด้วยตนเอง 

เนื่องจากอาการที่บ่งบอกถึงภาวะขาดวิตามินซีพบได้ในหลายโรค หรืออาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นอีก อีกทั้งการรักษาภาวะขาดวิตามินซี แพทย์จะต้องเป็นผู้กำหนดปริมาณและระยะเวลาในการรับประทานวิตามินซีที่เหมาะสมเป็นกรณีไป

แม้อาการขาดวิตามินซีจะอาจดูไม่รุนแรง แต่การป้องกันตัวเองให้ห่างจากภาวะนี้ไว้ก่อนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยให้รับประทานอาหารหรือผักผลไม้ต่าง ๆ ที่มีวิตามินซีเป็นประจำ เช่น พริกหวานแดง ผักคะน้า บรอกโคลี เงาะ และสตรอว์เบอร์รี เป็นต้น

โดยปริมาณวิตามินซีที่แนะนำในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 80–100 มิลลิกรัมสำหรับผู้ชาย และ 70–85 มิลลิกรัมสำหรับผู้หญิง ส่วนทารกและเด็กอาจจะรับประทานในปริมาณต่อไปนี้

  • 40–50 มิลลิกรัม สำหรับทารกอายุ 0–11 เดือน
  • 20–40 มิลลิกรัม สำหรับเด็กอายุ 1–8 ปี
  • 50–100 มิลลิกรัม สำหรับเด็กผู้ชายอายุ 9–18 ปี
  • 50–80 มิลลิกรัม สำหรับเด็กผู้หญิงอายุ 9–18 ปี

หากเป็นผู้หญิงที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ให้เพิ่มปริมาณไปอีกเล็กน้อย โดยผู้หญิงที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ให้รับประทานในปริมาณตามช่วงอายุด้านบนและเพิ่มอีก 10 มิลลิกรัม ส่วนผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ให้เพิ่มอีกประมาณ 60 มิลลิกรัม